คำกล่าวที่ว่าในเมฆหมอกแห่งความชั่วร้ายยังมีประกายแห่งความหวังเสมอนั้น ถึงชั่วโมงนี้คงสามารถนำมาใช้เปรียบเปรยกับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ด้วยความเดือดร้อนสูญเสียทั้งคนใกล้ชิดและพี่น้องร่วมชาติ ตลอดจนการสูญเสียโอกาสในทุกๆ ด้านของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมาไม่อาจประมาณออกมาเป็นจำนวนนับได้ แต่วันนี้ดูเหมือนว่าเมฆหมอกนั้นกำลังจะจางหายไปพร้อมกับน้ำตาแห่งความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่กำลังจะเหือดแห้งลงเช่นกัน
ด้วยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมาได้ปรากฏความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนที่จะยุติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ลง ทั้งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และองค์กรภาคประขาสังคมต่างๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นฝ่ายความมั่นคงโดย พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนโดยการชูนโยบายพาคนกลับบ้าน เพื่อโน้มน้าวให้ผู้เห็นต่างจากรัฐวางอาวุธและหันมาร่วมมือกันตามแนวทางสันติ ซึ่งดูจะได้รับการตอบรับมาด้วยดีตามลำดับ สังเกตได้จากการออกมารายงานตัวของผู้เห็นต่างเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงแกนนำ
ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ม.ค.55 ที่ผ่านมา ภาพของเส้นทางแห่งสันติยิ่งถูกย้ำชัดด้วยการจัดกิจกรรมเสวนา “สานใจสู่สันติ” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมซีเอสปัตตานี มีผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งล้วนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและรับทราบปัญหาที่เป็นรากเหง้าของเหตุการณ์รุนแรงจากหลายฝ่ายเข้าร่วมกันถกแถลง ได้แก่ อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จาก มอ.คณะรัฐศาสาตร์ มอ.ปัตตานี ในฐานะ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาและเป็นที่ยอมรับในบทบาทการสร้างสันติภาพในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ รวมทั้งที่เป็นไฮไลท์ของการเสวนาซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้เห็นต่างซึ่งปัจจุบันยอมวางอาวุธแล้วหันมาต่อสู้ตามแนวทางสันติคือ นายยะยา การูมอ อดีตอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิผู้ซึ่งเคยหลบหนีไปพร้อมๆ กับนายสแปอิง บาซอ แกนนำคนสำคัญ
ตัวแทนสื่อแจงผู้เห็นต่างต้องคำนึงถึงประชาชน
โดยในมุมมองของสื่อมวลชน นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ แสดงทัศนะว่าจากการติดตามทำข่าวมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความพยายามของหลายฝ่ายในอันที่จะแก้ปัญหานี้ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนทางนโยบายของรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมาหรือแม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงไม่มีความชัดเจนอยู่เช่นเดิม ส่วนปฏิบัติในพื้นที่ต่างหากที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและมีแนวโน้มว่าจะรังสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นได้จริงคือ ความพยายามของทั้งส่วนที่มีบทบาทในการพัฒนาคือ ศอ.บต. ที่ลงพื้นที่เข้าถึงและเข้าใจประชาชนมาเป็นอย่างดี ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้หันมาใช้การเจรจาเพื่อสันติภาพมากขึ้น การแสดงออกอย่างชัดเจนของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ไม่ต้องการใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธแต่ต้องการให้มาพูดคุยกันเป็นทางออกที่ดี และจะส่งผลให้ผู้ที่ยังเห็นต่างออกมาพูดคุยกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างกลุ่มอาเจะห์ในอินโดนีเซียที่สามารถพูดคุยกับรัฐบาลอินโดนีเซียได้จนเหตุการณ์คลี่คลายลง เพราะกลุ่มอาเจะห์ยังคิดถึงประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้วย
“ผู้นำของกลุ่มอาเจะห์ถามผมว่าเหตุการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นอย่างไร ผมก็เล่าให้เค้าฟัง เค้าก็แสดงความแปลกใจว่าทำไมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยต้องทำร้ายประชาชนแบบไม่แยกแยะ ทำร้ายครูทำร้ายเด็ก แล้วจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างไร” นายเสริมสุขฯ กล่าวในที่สุด
อดีตอุสตาสวอนเลิกสู้รบ หันมาใช้แนวทางสันติ
นายยะยา การูมอ ซึ่งได้เปิดใจบอกเล่าถึงเส้นทางการต่อสู้อย่างยาวนานซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะชนะจนต้องออกมารายงานตัวร่วมสร้างสันติว่า ตนได้เข้าสู่กระบวนการของภาครัฐด้วยสาเหตุหลักคือ มีความไว้วางใจต่อนโยบายของทางกองทัพ เพราะมีรูปธรรมและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องครอบครัวที่ต้องดูแล โดยคนในเครือข่ายได้มาชี้แนะให้เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 และเริ่มเห็นกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นสิ่งที่พึงได้ สามารถนำกลับบ้านได้จริง “ผู้ผิดอย่างผมคิดว่า การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ควรจะทำต่อไป ยกตัวอย่างสมมุติว่า เรามีเชือก ๒ เส้น และมีปมอยู่ตรงกลาง เชือด ๒ เส้นนี้มี ๔ มุม ให้ท่านประธานแวดือราแมถือ ๑ มุม ส่วนผมถืออีก ๑ มุม ท่านอาจารย์ศรีสมภพถือ ๑ มุม คุณเสริมสุขถืออีก ๑ มุม ทุกคนต่างถือกันคนละมุม แล้วต่างคนต่างดึงเชือกเส้นนั้น สังเกตว่าจะมีโอกาสที่จะแก้ปมที่มัดได้หรือไม่ แล้วถ้าต่างคนต่างดึงเชือก มันไม่มีวันที่จะแก้มัดหรือปมนั้นได้เลย แต่ถ้าหากทั้ง ๔ ท่านมีท่านใดท่านหนึ่งยอมที่จะหย่อนเชือกให้ลดลงบ้าง ผมว่าการที่จะแก้มัดแก้ปมนั้นจะง่ายมากขึ้น” นอกจากนี้นายยะยาฯ ยังได้เสนอแนวความคิดในทัศนะของผู้ที่เคยร่วมในขบวนการฯ ถึงกระบวนการสร้างสันติภาพว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมหันมาพูดคุยกัน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต้องปฏิบัติงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตนเชื่อว่าไม่นานเหตุการณ์จะดีขึ้น และพร้อมที่จะชักชวนกลุ่มคนที่หลงผิดที่ยังคงใช้ความรุนแรง ขอให้ช่วยกันบอกช่วยกันคุยให้คนที่ยังสู้อยู่กลับมาต่อสู้ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง
ผู้นำศาสนาชี้ต้องพูดคุย เคารพสิทธิ
มุมมองของผู้นำศาสนา นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าวันนี้ทุกคนอยากให้เกิดสันติภาพ แต่การสร้างสันติภาพจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ส่วนของตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในหลายกรณี ตลอดจนเป็นตัวกลางระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับฝ่ายความมั่นคงในการประสาน ซึ่งก็ได้นำปัญหาต่างๆ เสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 มาโดยตลอด และได้รับความโอกาสพร้อมกับความเมตตาจากท่านเสมอมา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มั่นใจเพิ่มมากขึ้น “ต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่ควรกดดันเขา ในส่วนของท่านแม่ทัพภาคที่ ๔ ก็จะช่วยในเรื่องของการพูดคุยทางด้านกฎหมาย โดยมีหน่วยงานหลายฝ่าย ทั้งทนายความ และส่วนต่าง ๆ มาช่วย ถ้าเขาพร้อมก็จะเปิดโอกาสให้ แล้วพาเขาไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องรอจังหวะที่แน่นอนจากเสียงกระแสต่าง ๆ ซึ่งเป็นความหวังของเจ้าหน้าที่ในการสร้างเอกภาพ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้ความเคารพเกี่ยวกับเรื่องสิทธิอะไรต่าง ๆ ทั้งทางด้านความคิด อย่าใช้ความรุนแรงในการประสานกัน”
ทำลายกำแพงความเกลียดชัง ทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ขึ้นอยู่กับประชาชน
พลโทอุดมชัยฯ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวเรือใหญ่ฝ่ายความมั่นคงที่ช่วงหลังๆ มานี่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นโดยใช้แนวทางสันติ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์อย่างฟันธงว่ามุ่งมั่นมากกว่าอดีตแม่ทัพคนใดๆ ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับกิจกรรมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์ของแม่ทัพท่านนี้ว่างานนี้เอาจริง ได้ให้ความเห็นในช่วงท้ายของการจัดกิจกรรมว่า พื้นฐานของเหตุรุนแรงส่วนหนึ่งเกิดจากความเกลียดชังซึ่งเกิดมากจากภาพลักษณ์ในอดีต หรือส่วนหนึ่ง ขบวนการ BRN ได้สร้างขึ้นจากการถ่ายทอดประวัติศาสตร์และความเชื่อเพื่อให้เยาวชนเกลียดชังกับพี่น้องอีกส่วนหนึ่ง เมื่อถึงจุดที่รั้งไว้ไม่อยู่ก็เปลี่ยนเป็นความรุนแรงและคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชน ส่วนของฝ่ายความมั่นคงนั้นได้พยายามแก้ไขร่วมกับกลุ่ม BRN ส่วนที่ใม่ต้องการความรุนแรงเพื่อลดระดับลงให้มากที่สุด และนโยบายของรัฐบาลก็มีความชัดเจนที่จะขับเคลื่อนและส่งเสริมคนที่ยุติความรุนแรงมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตย “ผมได้นัดหลายภาคส่วนมาพบเจอ มาฟังพร้อมกันว่าบ้านเราต้องการสานใจสู่สันติ ต้องการลดความเกลียดชังกลับไปแล้วต้องไปพากลับมากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราจะอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ ในเรื่องระบอบประชาธิปไตยให้การสนับสนุนกลับมาสู่อ้อมอก มาช่วยกันลดความเกลียดชังมาสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในปีนี้ และทุกอย่างขึ้นอยู่ที่พวกเราว่าจะปฏิบัติหรือไม่ ทางผมพร้อม ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมคณะทุกภาคส่วนก็พร้อม พี่น้องพร้อมหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะตัดสินใจว่าจะให้ปีนี้เป็นปีแห่งความสันติสุขหรือไม่” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในท้ายที่สุดซึ่งดูจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรม
อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเสียงสะท้อนจากวงนอกว่าการเสวนา “สานใจสู่สันติ” ครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมที่มองดูอย่างผิวเผินก็เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหาของคนเพียงไม่กี่คน และในช่วงหลายขวบปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ทำขึ้นหลายครั้งหลายหน และสุดท้ายก็ไม่เกิดผลในทางที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ในมุมมองของผู้เขียนเองในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในสามจังหวัดแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มเหตุรุนแรง กลับเห็นว่าการเสวนา “สานใจสู่สันติ” ครั้งนี้มีความพิเศษแตกต่างจากที่ผ่านมา ด้วยเพราะมีองค์ประกอบที่จะเป็นปัจจัยส่งเสริมหลายประการ
ประการแรกด้วยบทบาทของผู้นำศาสนาที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังตามวิถีของพี่น้องมุสลิม ได้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำและประสานกันกับทุกฝ่ายด้วยความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้พี่น้องในพื้นที่เห็นถึงข้อดีร่วมกันในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ประการที่สองคือ ด้วยเค้าลางของความร่วมมือจากฝ่ายขบวนการเองที่เริ่มมองเห็นผลกระทบโดยตรงจากการปฏิบัติโดยใช้ความรุนแรงที่ผลนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หากยังส่งผลระยะยาวไปถึงประชาชนในพื้นที่ทุกคนและผู้แทนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ “ตัวจริง” ประการสุดท้ายคือความตั้งใจจริงของฝ่ายความมั่นคงที่จะแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางสันติแทนการต่อสู้ด้วยอาวุธ แม้ว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านนี้อาจต้องพ้นหน้าที่ไปในไม่ช้า แต่หากผู้ที่มาสานต่อจะได้ยืนยันแนวทางนี้ต่อไปความสงบสุขที่ทุกคนคาดหวังก็คงอยู่ไม่ไกล
ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำกล่าวที่ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ ดูจะไม่เกินจริงและเป็นที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้นี้หากประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกัน
ซอเก๊าะ นิรนาม