ช่วงที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักได้เสนอบทความวิเคราะห์วิจารณ์การกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีขบวนการ BRN Coordinate อยู่เบื้องหลังว่าเป็นการกระทำที่คุกคามสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกระทำสิ่งผิดกฎหมายบริเวณชายแดนไทย–มาเลเซีย
อยากจะขอยกตัวอย่างบทความซึ่งเขียนโดยนาย Brad Adams บรรณาธิการข่าวภูมิภาคเอเชีย สำนักข่าวรอยเตอร์ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้นำเหตุการณ์ที่คนร้ายมุ่งเป้าหมายไปที่โรงเรียน เด็กและครูมาเปิดเผย อย่างเช่นเหตุการณ์สังหารนายคมสัน โฉมยง ครูโรงเรียนบ้านบองอ อ.ระแงะ เหตุการณ์ระเบิดบริเวณโรงเรียนใน อ.บาเจาะ อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ครูและเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังได้นำเหตุการณ์ที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์อื่นๆ เช่น ใช้ลูกระเบิด M-๗๙ ยิงเข้าไปในบริเวณงานเทศกาลของ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในร้านค้าที่เปิดขายสินค้าในวันศุกร์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ก่อนที่จะจุดระเบิดซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต ๖ รายบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเหตุการณ์การสังหารตัดศีรษะและเผาศพนายต่วนดาออ ต่วนสุหลง ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในห้วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา
นาย Adams ได้กล่าวว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตอบโต้รัฐบาลไทยพุทธ เป้าหมายเหล่านั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ก่อเหตุจะอ้างเช่นนี้ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศห้ามมิให้กระทำการอันเป็นภัยคุกคามต่อการศึกษาอันเป็นรากฐานสำคัญและความปลอดภัยของเด็ก ห้ามกระทำในลักษณะแก้แค้นเพื่อนมนุษย์หรือทารุณกรรมต่อศพ รวมทั้งห้ามการใช้วัตถุระเบิดซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของสนธิสัญญาเหล่านี้
ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่สำนักข่าวต่างประเทศนำพฤติกรรมเช่นนี้มาเปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอันเป็นการลบล้างความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ว่า รัฐบาลไทยได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย กีดกันสิทธิคนต่างเชื้อชาติ เช่นเดียวกับข้อระแวงสงสัยของบรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย
เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ความรุนแรงทั้งหลายล้วนมาจากฝีมือของขบวนการเอง ถ้าหากมองถึงยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และนโยบายการปฏิบัติทุกขั้นตอน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่มียุทธศาสตร์และนโยบายในการปฏิบัติใดๆ ที่จะส่งผลออกมาในลักษณะก่อให้เกิดความสูญเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามหากปฏิบัติตามได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์สุขร่วมกันทั้งสิ้น หากจะมียกเว้นอยู่บ้างก็เฉพาะแต่ผู้คิดร้าย ฝักใฝ่อยู่กับการสร้างความเดือดร้อนโดยไม่ลดละเท่านั้น
เพราะแม้แต่คนกลุ่มนี้ ภาครัฐก็ยังหาช่องทางเพื่อเปิดโอกาสให้กลับเนื้อกลับตัว เลิกการกระทำดังกล่าวเสีย หากเคยปรากฏหลักฐานว่าเคยเป็นผู้กระทำความผิดมาก่อน ก็ยังสามารถต่อสู้ได้ตามกระบวนการของกฎหมาย ภายใต้กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นว่าถ้าใช้ช่องทางนี้ในการต่อสู้ จะไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้นไม่ว่าชีวิตหรือทรัพย์สินก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ควรจะต้องอาศัยอยู่ด้วยความสงบสุขโดยไม่ต้องหวั่นเกรงภัยร้ายที่จะเกิดจากการกระทำของน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง แต่เหตุที่เขาเหล่านั้นยังไม่ยอมรับโอกาสอันดีที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ต่างหาก จึงต้องถูกเพ่งมองจากสายตาชาวโลกที่ติดตามสถาน การณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดต่อเนื่องว่าเป็นการกระทำที่คุกคามสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ (ตัวจริง) และยังคงพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองโดยวิธีการต่าง ๆ แต่ในที่สุดแล้ว ยิ่งสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความไม่ชอบธรรมให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น มิใช่เฉพาะต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกเขาเท่านั้น แม้แต่ในสายตาชาวโลกก็ไม่แตกต่างกัน
นี่เป็นบทสรุปว่า ความพยายามที่จะสร้างภาพความขัดแย้ง และความรุนแรงที่รัฐบาลไทยมีต่อชนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนใต้ออกไปสู่สายตาชาวโลกของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกตัวเองว่า RKK เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและให้องค์กรระหว่างประเทศยื่นมือมาแก้ไขปัญหา ได้อวสานจบสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว
ที่มา http://www.southpeace.go.th/th/Article
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น