ตนไทยปลายด้ามขวาน
สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ผู้ที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอด จากการนำเสนอของสื่อมวลชนในแต่ละวันจะเห็นได้ว่ามีความรุนแรงขึ้นทั้งที่ก่อนหน้านี้เหตุการณ์ได้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้ไฟใต้ไม่มีทีท่าจะดับลงสักที ความสงบ สันติสุข ที่ประชาชนในพื้นที่คาดหวังจากการพูดคุยสันติภาพต้องการ จะเป็นจริงได้หรือไม่ หากเหตุการณ์ยังคงคุกกรุ่นเช่นนี้อยู่ และจะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดวันต่อวัน นอกเหนือไปจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างความแตกแยกทางความคิด บ่อนทำลายความรู้สึกของคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดินเกิดทุกคน
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ และรู้สึกเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์ฆ่ากันตายรายวันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีวี่แววจะสงบสักที ผู้คนต่างกล่าวถึงการก่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องปกติประจำวัน หากวันไหนเงียบไม่เกิดเหตุ รู้สึกผิดปกติ เพราะต่างคนต่างรู้สึกชินชากับเหตุร้าย และสามารถใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด และกลิ่นคาวเลือด แต่จากการสังเกตในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าการก่อเหตุรุนแรงมีการมุ่งเป้าไปที่ประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก หลังจากนั้นมีการกล่าวอ้างเอาคืนด้วยการฆ่าแล้วเผาชาวไทยพุทธเพื่อสร้างเงื่อนไขความเกลียดชัง ความขัดแย้งขึ้นระหว่างเชื้อชาติ และศาสนา ในส่วนของการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่มีบ้างประปราย หากสังเกตจะพบว่าการก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเน้นการใช้ระเบิดเป็นหลัก ต่างกับประชาชนทั่วไปจะเป็นไปในลักษณะของการลอบยิง วางเพลิง และโปรยใบปลิวอ้างความชอบธรรมในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยการกล่าวอ้างทำเพื่อประชาชนปาตอนี
ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งที่ได้สะสมมานานแล้ว มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนกับธุรกิจการค้าความขัดแย้งระหว่างคนในตระกูล ปัญหาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาภัยแทรกซ้อน กลุ่มอิทธิพลมืด ธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด กลายเป็นเชื้อในกองเพลิงชั้นดีในการสุมให้ไฟใต้ไม่มีวันดับ การสร้างสถานการณ์ต่างๆ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเพื่อดึงดูดความสนใจ เหตุจูงใจให้กลุ่มผู้ที่กระทำผิดกฎหมายในเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน หันมาใช้บริการกลุ่ม RKK ติดอาวุธในพื้นที่เข่นฆ่าคู่ขัดแย้งธุรกิจเถื่อนเหตุนองเลือดจึงเริ่มต้นขึ้น เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่โดยการอาศัยสถานการณ์บังหน้า ในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการBRN ผสมโรงโดยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการในมหาวิทยาลัยดัง โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS ที่อาศัยสถานการณ์ความขัดแย้ง ปลุกปั่น ปลูกฝัง สืบทอดอุดมการณ์ด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และมาตุภูมิ ให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความแปลกแยกด้านจิตใจ นำไปสู่ความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ
ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ในการก่อเหตุฆ่ากันเองของประชาชนกลายเป็นปัญหาที่มีการนำมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ไฟใต้ได้อย่างแนบเนียน ลงตัวประจวบเหมาะกับห้วงเวลา มีการบิดเบือนกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จากกรณีนายอาแซ (ซัน) สมาชิกครอบครัว “ผดุง” บ้านบันนังกูแว ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับอับดุลฮากิม ดาราเซะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันมาจากความแค้นส่วนตัว ความหวาดระแวง และความกังวลว่าจะถูกลอบทำร้ายจึงตัดสินใจชิงลงมือทำการก่อเหตุกราดยิงจน นายดอเลาะ นางมารีแย ผดุง ต้องมาจบชีวิตแทนลูกชายคาบ้านพัก กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วไป ซึ่งหลังเกิดเหตุนายอับดุลฮากิม กลายเป็นผู้ต้องสงสัยทันที่พร้อมกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่การดำเนินเกมส์ของขบวนการBRN และกลุ่ม PerMSAS ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อ กล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หากพลิกปูมหลังของคนในตระกูล “ผดุง” นำมาส่องทีละคนพบว่าไม่ธรรมดาอย่างที่คิด ไม่ติดใจเลยว่าทำไมกลุ่มขบวนการ BRNและกลุ่ม PerMAS จึงจัดฉากสร้างละครให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ โดยนายดอเลาะ ผดุงผู้พ่อ พฤติกรรมเป็นแนวร่วม เมื่อปี 2553 แต่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร แต่ต่อมาภายหลังจากนายมะยาหะรี อาลี ซึ่งเป็นแกนนำในพื้นที่บ้านบันนังกูแว ได้ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต นายดอเลาะ ผดุง ได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนอย่างเต็มตัว
นางมารีแย ผดุง ภรรยา นายดอเลาะ มิใช่ย่อยแต่เริ่มเดิมทีเป็นแกนนำฝ่ายสตรีเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชน ชักชวนให้ราษฎรออกมาชุมนุมต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่บ้านบันนังกูแว ส่วนตัวลูกชาย คือนายอาแซ (ซัน) ผดุง เดิมเป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ จบการศึกษาชั้น 10 จากโรงเรียนธรรมวิทยา ขณะกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิด 7 จุด ภายในเขตเทศบาลเมืองยะลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 หน่วยงานภาครัฐจึงได้ออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 นายอาแซ ได้ไปรายงานตัวแสดงตนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อเข้าร่วมศูนย์ยะลาสันติสุข ได้ยอมรับว่าเคยถูกชักชวนเข้าร่วมขบวนการจริงสมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนธรรมวิทยา แต่ไม่เคยก่อเหตุรุนแรงจึงได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ที่น่าสนใจคือในปัจจุบันนายอาแซ ผดุง เป็นสมาชิกกลุ่มชมรมบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนใต้ (Insouth) และสมาชิกกลุ่ม PerMAS ที่มีนายสุไฮมี ดูละสะ เป็นประธานกลุ่มในการขับเคลื่อนแย่งชิงมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ย้อนกลับไปดูต้นตอความขัดแย้งของตระกูล “ผดุง” กับนายอับดุลฮากิม ดาราเซะ มาจากสาเหตุนายอาแซ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดอีกถึง 2 ครั้ง ด้วยกันหลังได้รับการปล่อยตัว และปมที่สำคัญนำไปสู่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดนายอับดุลฮากิม ดาราเซะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กับพวกในพื้นที่บ้านบันนังกูแว โดยนายอับดุลฮากิมฯ ให้การยืนยันชัดเจนว่า นายอาแซ ผดุง มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่ความบาดหมาง ความหวาดระแวง และในที่สุดนำมาซึ่งความตายของคนในครอบครัว “ผดุง” ถึง 2 ศพ ด้วยกัน
นี่คือความเลวร้ายของกลุ่มขบวนการ BRN ที่ยังคงใช้ยุทธวิธีรูปแบบเดิมๆ ในการก่อเหตุ จากปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว การฆ่ากันเองของกลุ่มสูญเสียผลประโยชน์ นำมาซึ่งความตายของการฆ่ากัน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขบวนการ BRN กลับนำมาอ้างว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ผลสุดท้ายสร้างความหวาดกลัวด้วยการลงมือเข่นฆ่าชาวไทยพุทธผู้บริสุทธิ์ พร้อมกับสร้างความชอบธรรมด้วยการโปรยใบปลิว อย่างหน้าด้านๆ แค่ต้องการเอาคืนที่คนของขบวนการโดนฆ่าตาย ทั้งๆ ที่ประชาชนผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับใครทั้งสิ้น ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อความจริงปรากฏออกมาโจรใต้ไร้ศาสนากลุ่มนี้ไม่เคยออกมารับผิดชอบ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปตราบใดไฟใต้ยังไม่มอดดับ ตราบใดที่ยังมีเชื้อเพลิงคอยหล่อเลี้ยงอยู่ อีกกี่ศพที่จะต้องสังเวยกับคราบน้ำตาที่ไม่เคยแห้งเหือดของคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวไปศพแล้วศพเล่า อนิจจา..ความสงบ สันติสุข ที่ทุกคนโหยหา…
*****************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น