วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

“โรฮิงญา” มันตภัยชนเผ่าไร้สัญชาติ กับความเมตตาที่ไร้พรมแดน




ข่าวการหลั่งไหลเข้ามาทางภาคใต้ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งทางภาคตะวันตกของเมียนมาร์  พร้อมกับภาพเรือมนุษย์ลำน้อยที่แออัดยัดทะนานลอยลำอยู่กลางทะเล  ซึ่งมาขึ้นฝั่งในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของไทย  และได้ถูกเจ้าหน้าที่ ตม.ไทยจับกุมในข้อหาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายโดยให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ควบคุมในพื้นที่ทั้ง อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวนกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งบางส่วนได้นำมาดูแลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในขณะนี้นั้น กำลังเป็นจับตามองของหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไรกับโรฮิงญากลุ่มนี้ 

ภายใต้กระแสการวิพากษ์ในมุมมองต่างๆ พร้อมเสนอแนวทางออกรวมทั้งการตั้งข้อเรียกร้องหลายประการจากองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรของพี่น้องมุสลิมว่าต้องให้การดูแลช่วยเหลือ  ไม่เว้นแม้แต่ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมืองมาเองที่ยังร้องขอต่อรัฐบาลไทยว่าอย่าส่งกลับไปเมียนมาร์  ด้วยเหตุผลว่า  ถ้าส่งกลับไปพวกเขาต้องถูกฆ่าตาย

แน่นอนว่าจากแรงกดดันข้างต้นจะส่งผลให้รัฐบาลไทยในวันนี้อยู่ภาวะ “กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก”    เพราะขนาดเมียนมาร์เองยังบอกว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของตน  แต่เป็นพวกที่หลบหนีเข้ามาจากบังคลาเทศ  ขณะที่บังคลาเทศก็ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน  ซึ่งก็คงต้องหาทางออกที่เหมาะสมกันต่อไปเพราะรัฐบาลเองนั้นก็เคยประสบปัญหาใกล้เคียงในลักษณะนี้มาแล้วไม่ว่าจะเป็นม้งอพยพหรือเขมร  แต่ที่แน่ๆ  ถึงตอนนี้ภาระรับเลี้ยงดูคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 แต่ในเรื่องร้ายๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาก็มีแง่มุมดีๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ  น้ำจิตน้ำใจของคนไทยที่ร่วมกันบริจาคอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ได้หลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง  ภาพของเด็กนักเรียนชาวไทยนำอาหารไปมอบให้กับพวกเขาตั้งแต่วันแรกๆ ของการถูกควบคุมตัวซึ่งถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนได้สร้างความประทับต่อผู้ได้พบเห็น        ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกลุ่มบุคคล  หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ยื่นมือเข้ามาร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิมจากชายแดนใต้ ที่ให้ความช่วยเหลือโดยการตั้งจุดรับบริจาคในหลายจุดทั่วพื้นที่

ภาพเหล่านี้ได้บ่งบอกให้สังคมทั่วไปและสังคมโลกได้รับรู้ถึงความเป็นคนไทยที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา 

อีกภาพหนึ่งที่สวยงามคือ  ในยามที่เกิดความขัดแย้งหรือความเดือดร้อนในกรณีใดๆ  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือร่วมใจโดยใช้พื้นฐานของความเป็นคนไทยด้วยกันแล้ว  การร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นเสมอโดยลืมความขัดแย้งนั้นไปจนหมดสิ้น  เฉกเช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยในเวลานี้  ที่ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมต่างร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาด้วยความเมตตาสงสารอย่างน่าชื่นชม

สำหรับชาวโรฮิงญาแล้วนี่อาจเป็น “ฝันดี” ของพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่ง  เพราะเขาเหล่านั้นยังอยู่ในฐานะของ  ผู้หลบหนีเข้าเมือง  ไม่ใช่  ผู้ลี้ภัยสงคราม  เพราะตามกฏหมายแล้วต้องถูกผลักดันออกจากประเทศไทยภายใน 3 เดือนซึ่งเป็นได้สองทางคือ  กลับไปยังประเทศต้นทางหรือส่งไปประเทศที่สาม  ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาให้ถูกทางต่อไป  และไม่ว่าผลออกมาจะดีหรือร้ายก็เป็นเรื่องที่ชาวโรฮิงญาต้องยอมรับมัน

เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจของพวกเราคนไทย  โดยเฉพาะพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ณ เวลานี้แล้ว  ส่วนตัวผู้เขียนเองอยากให้ภาพความรัก  ความเอื้ออาทร  ความร่วมมือกันในลักษณะนี้ของคนในพื้นที่คงอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของเราต่อไปอีกนานเท่านาน  เพราะมันจะช่วยทำให้ “ฝันร้าย” ของคนในพื้นที่นี้จบลงเสียที  เพราะประชาชนเบื่อหน่ายกับการก่อเหตุรุนแรงจนเกินจะทนแล้ว  เห็นด้วยมั้ย

ซอเก๊าะ   นิรนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น