รายงานพิเศษ

เจรจาดับไฟใต้ส่อวุ่น – ขวาง ”กัสตูรี” ร่วมวง อดีตประธานพูโลจ่อพักโทษ-พ้นคุก

อนาคตของการพูดคุยสันติภาพระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ในการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้แล้วก็ตาม
buedo
เมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวว่า ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้หารือร่วมกับพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ถึงกำหนดนัดการพูดคุยครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวๆ ต้นเดือน ธ.ค. เลื่อนจากกำหนดเดิมคือสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค.ออกไปนานพอสมควร
ในการหารือดังกล่าว ดาโต๊ะซัมซามิน ยังแจ้งว่าจะมีตัวแทนจากองค์การพูโลและขบวนการบีไอพีพี เข้าร่วมการพูดคุยครั้งต่อไปด้วย โดย พล.ท.ภราดร ระบุว่าจะมีที่นั่งสำหรับองค์การพูโล 2 ที่นั่ง และบีไอพีพี 1 ที่นั่ง
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า การจัดสรรที่นั่งในส่วนขององค์การพูโลยังไม่ลงตัว เนื่องจากพูโลแตกออกเป็นหลายกลุ่ม โดยกลุ่มที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งแรกๆ คือ ”พูโลเก่า” นำโดยนายลุกมัน บิน ลิมา ขณะที่พูโลใหม่หนึ่งในสองกลุ่มที่แยกตัวออกไปจากกลุ่มเก่า นำโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา อ้างกับคณะผู้สื่อข่าวท้องถิ่นชายแดนใต้ในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เขาได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย และมีแนวโน้มว่าเขาจะเข้าร่วมวงพูดคุยด้วยตนเอง
ท่าทีของนายกัสตูรี ไม่ได้รับการยอมรับจากแกนนำกลุ่มพูโลเก่า โดยมีข่าวว่าทางกลุ่มจะมีการหารือเพื่อประกาศท่าทีในเรื่องนี้เร็วๆ นี้
มีข่าวว่าการดึงนายกัสตูรีเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นความต้องการของทางการไทยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาใน พื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีการส่งคณะเดินทางไปพบปะกับแกนนำกลุ่มพูโลใหม่รายนี้ถึงประเทศสวีเดน ขณะที่พูโล่ใหม่อีกกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ นายซัมซูดิน คาน ยังคงสงวนท่าที
มีรายงานว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ และบางส่วนแสดงตัวเป็น ”กลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทย” หรือที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า ”จูแว” ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ได้เปิดเฟซบุ๊คชื่อ Patani Voice n Opinion เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
ขณะเดียวกันมีข่าวจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า ทาง ศอ.บต.และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันดำเนินการเรื่อง ”พักการลงโทษ” ให้กับนักโทษเด็ดขาดในคดีความมั่นคงจากปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยนักโทษที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษเป็นรายแรกและมีข่าวว่าจะได้รับการ ปล่อยตัวในเร็วๆ นี้ คือ นักโทษชาย บาบอแมบือโด เบตง อายุ 74 ปี อดีตประธานขบวนการพูโล ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร เมื่อปลายปี 2554
สำหรับหลักเกณฑ์การพักการลงโทษ เป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ โดยการพักการลงโทษ หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ ที่กำหนด อย่างไรก็ดี การพักการลงโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ อายุของผู้ต้องขังก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของการพักการลงโทษ โดยหากผู้ต้องขังมีอายุเกินกว่า 70 ปี หรือมีอาการป่วยเรื้อรัง ก็อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพิจารณา
สำหรับคุณสมบัติอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เป็นนักโทษเด็ดขาด (ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว) หากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ถ้าเป็นนักโทษชั้นดีมาก ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 หากเป้นนักโทษชั้นดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5
ช่วงระหว่างการคุมประพฤติ จะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ ได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อที่กำหนดไว้ หากประพฤติผิดเงื่อนไขจะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย
เงื่อนไข 8 ข้อ ได้แก่ 1.จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก 4.ประกอบอาชีพโดยสุจริต 5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา 6.ห้ามพกพาอาวุธ 7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ 8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
สำหรับปี 2556 นี้ มีผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 1,000 คนที่เข้าข่ายได้รับการพักการลงโทษ และบางรายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เช่น นายชลอ เกิดเทศ หรืออดีต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ซึ่งถูกคุมขังในคดีสังหารสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ อันเป็นคดีสืบเนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ
ส่วนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในปีนี้มีเพียงคนเดียวที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ บาบอแมบือโด เบตง โดยก่อนหน้านี้ ศอ.บต.และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมการดำเนินการย้ายนักโทษเด็ดขาดคดีความมั่นคงกลับไปคุมขังยังเรือนจำ ตามภูมิลำเนาเดิมของตน เพื่อให้ครอบครัว ญาติพี่น้องสามารถเดินทางไปเยี่ยมได้อย่างสะดวก ลดค่าใช้จ่าย โดยนักโทษเด็ดขาดชุดแรกเฉพาะคดีความมั่นคงจำนวน 2 รายที่ได้ย้ายกลับเรือนจำตามภูมิลำเนาของตน คือนักโทษชาย สะมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายอิสมาแอล กัดดาฟี อายุ 61 ปี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล กับ นักโทษชาย บาบอแมบือโด เบตง ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางและเรือนจำกลางสงขลาตามลำดับ
/////////////////////////////////////////////////


เลขาฯสมช.เผย ถกรอบ 5 มีหัวข้อ “เขตปกครองพิเศษ” คาดแนวโน้มปี 57 ก่อเหตุรุนแรงลดลง

“เลขาฯ สมช.” ย้ำ ให้บีอาร์เอ็นเปิดทางทุกกลุ่มสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพ เชื่อรอบ 5 เกิดขึ้นได้ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ พร้อมเผยประเด็นร้อน ข้อเสนอที่ 4 ของกลุ่มเคลื่อนไหวสนใจ “เขตปกครองพิเศษ” ระบุข่าวดีปีใหม่ 2557 เชื่อการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลง
ในงานสัมมนาเรื่องการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดโดยสโมสรซูรอ ที่โรงแรมอเล็กซานเดอร์ ย่านรามคำแหง พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสมช.เปิดเผยกับ "พับลิกโพสต์" ถึงแนวทางการเจรจาสันติภาพในรอบ 5 ที่จะเกิดราวสัปดาห์ที่ 3 -4 ของเดือนนี้ (พ.ย.) ว่า "เบื้องต้นจะยังคงยืนยันการเจรจาในเงื่อนไข 5 ข้อที่พูดคุยกันไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยทางสมช.จะยึดหลักนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลเป็นสำคัญโดยยังมีเงื่อนไขเดิมคือต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย และไม่มีการแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาด และจะไม่ปิดกั้นกับการเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะเจรจาโดยจุดเริ่มต้นเปิดโอกาสให้ทางบีอาร์เอ็นเป็นผู้ประสานไป ”
“โดยในการเจรจารอบนี้จะมีการหารือกันในประเด็นข้อที่ 4 ของการเจรจารอบใหม่เกี่ยวกับแนวคิดของเขตปกครองพิเศษที่ทางบีอาร์เอ็นเสนอมา โดยเบื้องต้น ทางสมช.คงไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่คงจะหารือกันถึงและแนวทางร่วมกันว่าจะสามารถนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ไปพิจารณา โดยเรื่องของเขตปกครองพิเศษจะเป็นหัวข้อสำคัญบนโต๊ะเจรจาสันติภาพรอบใหม่ที่คงจะเป็นเพียงการพูดคุยกันถึงกรอบและความเป็นได้เท่านั้น แต่ในรายละเอียดคงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา”
นอกจากนี้พล.ท.ภราดร ยังคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในพื้นที่ในปี 2557 ที่จะมาถึง โดยระบุว่า แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ หลังเปิดให้มีการเจรจา แต่ยอมรับว่ายังคงมีการก่อเหตุในพื้นที่บ้างซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เชื่อว่าเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ในพื้นที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2557 ที่กำลังจะมาถึงนี้
อนึ่ง ข้อเสนอ 5 ข้อของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) คือ
1.การเจรจาสันติภาพครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างตัวแทนนักต่อสู้ปาตานีที่นำโดย BRN กับรัฐบาลไทย
2. BRN เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งมีส่วนรวมโดยตรงในการเจรจา
3. ตลอดช่วงการเจรจาต้องมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรโอไอซี และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เป็นพยาน
4.รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับว่าชาว (เชื้อสาย) มลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานี
5. BRN เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว (นักโทษทางการเมือง/ผู้ต้องสงสัย)

////////////////////////////////////

ตั้ง "สนง.อัยการพิเศษ" สั่งคดีไฟใต้... 9 ปีตากใบรัฐทุ่มงบสร้างสะพาน


อัยการตั้งสำนักงานพิเศษรับผิดชอบคดีไฟใต้ ทั้งก่อการร้าย วินาศกรรม ความมั่นคง หวังแก้ปัญหาฟ้องซ้ำซ้อน สั่งคดีไม่เป็นเอกภาพ หรือฟ้องไปก่อนเพื่อลดแรงกดดัน ขณะที่นราธิวาสทุ่มงบ 30 ล้านสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ที่ตากใบ พร้อมปรับภูมิทัศน์ใหม่เป็นตลาดน้ำ-ถนนคนเดิน ด้านนักศึกษาปาตานีจัดเวที 9 ปีตากใบจี้รัฐหาคนผิด
permas
          วันศุกร์ที่ 25 ต.ค.2556 เป็นวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมกว่า 1 พันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวแม้ยังไม่ผ่านกระบวนการทางศาลจนถึงที่สุดเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ ทว่าก็มีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมมากพอสมควร 
          ในส่วนของอัยการซึ่งถูกตั้งคำถามอย่างมากจากคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการสูงสุดในคดีอาญาที่มีการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมมากถึง 85 รายนั้น ล่าสุดได้มีการปรับโครงสร้างของสำนักงานอัยการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยเปิดสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 เพื่อรับผิดชอบคดีความมั่นคง ก่อการร้าย คดีก่อวินาศกรรม และคดีตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นการเฉพาะ
          สำนักงานใหม่ตั้งอยู่ที่ จ.ปัตตานี เพิ่งเริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยคดีความมั่นคงทุกคดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะถูกส่งมายังสำนักงานอัยการพิเศษฯแห่งนี้ โดยจะมีอำนาจสั่งคดีในฐานความผิดดังกล่าวแทนอัยการจังหวัด
แก้ปัญหาฟ้องซ้ำ-สั่งคดีไม่เป็นเอกภาพ
          นายโสภณ ทิพย์บำรุง อดีตอัยการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดูแลสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 ที่ตั้งขึ้นใหม่ กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญของการตั้งสำนักงานอัยการพิเศษฯ ก็เพื่อป้องกันการฟ้องซ้ำซ้อน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง เช่น คดีอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท) ฟ้องที่ จ.ปัตตานี แล้วพบว่าผู้ต้องหารายเดียวกันกระทำความผิดอีกใน จ.ยะลา ก็ฟ้องคดีอั้งยี่กับผู้ต้องหาคนเดิมที่ จ.ยะลาด้วย ทั้งๆ ที่ความผิดฐานนี้ดำเนินคดีซ้ำกันไม่ได้ จะถือเป็นการฟ้องซ้อนทันที เนื่องจากการเป็นสมาชิกองค์กรปิดลับเพื่อกระทำความผิดที่เรียกว่า "อั้งยี่" เมื่อเข้าเป็นสมาชิกแล้วก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ และเป็นไปตลอดจนกว่าการกระทำจะสิ้นสุด
          "ตำรวจเขาทำงานยึดท้องที่เป็นหลัก ก็จะเกิดปัญหาลักษณะนี้ได้ ฉะนั้นอัยการจึงต้องนำข้อมูลมารวมไว้ที่เดียวกัน เพื่อพิจารณาให้ถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุด" 
          นายโสภณ กล่าวต่อว่า การตั้งสำนักงานอัยการพิเศษฯ จะช่วยให้การสั่งคดีเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้ายเป็นเอกภาพมากขึ้น เนื่องจากการสั่งคดีและมุมมองทางกฎหมายเป็นเรื่องความเห็น อัยการจังหวัดนราธิวาสเห็นอย่างหนึ่ง อัยการจังหวัดปัตตานีอาจจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง อาจทำให้สับสนได้ การดึงคดีมาอยู่ที่สำนักงานเดียว จะช่วยให้มีความเป็นเอกภาพในการสั่งคดีมากขึ้น
          นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่าคดีก่อการร้ายมีแรงกดดันจากหลายหน่วยงาน อัยการจังหวัดที่แบกรับแรงกดดันไม่ไหวก็อาจจะใช้วิธีฟ้องคดีไปก่อน ทั้งที่ตามนโยบายของอัยการสูงสุดต้องพิจารณาที่หลักฐานเป็นสำคัญ หากหลักฐานไม่พอฟ้องต้องสั่งไม่ฟ้อง เพราะคดีมีอัตราโทษสูง ฟ้องไปจำเลยก็ต้องติดคุก เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว ฉะนั้นการส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการพิเศษฯ สั่งคดีแทน น่าจะมีความเหมาะสมกว่า
bridge
ทุ่มงบ 30 ล้านสร้างสะพานใหม่ตากใบ
          นอกจากการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในปีนี้จังหวัดนราธิวาสยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ อ.ตากใบ พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอด้วย
          สะพานดังกล่าวเดิมมีอยู่แล้ว แต่เป็นสะพานไม้ ข้ามจากฝั่งตลาดใกล้ๆ สภ.ตากใบ ไปยังเกาะยาว ชาวบ้านเรียกว่า "สะพานรอคอยร้อยปี" หรือ "สะพานเกาะยาว" ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณปี 2556 เป็นเงิน 16 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสะพานใหม่ เป็นสะพานคอนกรีต แต่ข้ามได้เฉพาะจักรยาน รถจักรยานยนต์ หรือเดินเท้าเหมือนสะพานไม้
          ขณะเดียวกันก็จะมีงบอีก 11 ล้านบาทสำหรับปรับภูมิทัศน์รอบๆ เพื่อทำเป็นถนนคนเดิน โดยจะพัฒนาพื้นที่ไปจนถึงหน้าวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ตั้่งอยู่หมู่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอด้วย เนื่องจากเป็นวัดไทยที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันกับอังกฤษว่าจุดนี้เป็นผืนแผ่นดินไทย จนทำให้นราธิวาสได้อยู่ในเขตไทยในยุคล่าอาณานิคม
          นอกจากนั้นในปีงบประมาณ 2557 ได้ตั้งงบเพิ่มอีก 3.8 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อเรือ และสร้างห้องน้ำ เพราะตามแผนของทางจังหวัดจะสร้างตลาดน้ำขึ้นในบริเวณดังกล่าวด้วย โดยพิธีเปิดสะพานใหม่จะมีขึ้นช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ อาจเป็นคืนเคาท์ดาวน์ (นับถอยหลังสู่ปีใหม่) และจัดงานรื่นเริงจนถึงเช้าเพื่อร่วมกันดูพระอาทิตย์ขึ้นในวันใหม่ของปี 2557
นศ.ชายแดนใต้จัดเวที 9 ปีตากใบจี้รัฐหาคนผิด
          วันครบรอบ 9 ปีตากใบปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา มีการจัดกิจกรรมค่อนข้างน้อย มีเพียงสหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือ PERMAS เท่านั้นที่จัดเสวนาในประเด็น "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" โดยมีนิสิต นักศึกษา และเยาวชนจากหลายสถาบันรวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจนเต็มห้องโถงชั้นล่างของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 
          นายตูแวตานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพ (LEMPAR) กล่าวว่า ประชาชนในสามจังหวัดเจ็บปวดมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ตากใบ เรื่องร้ายๆ เกิดมาตั้งแต่ก่อนปี 2547 เรื่องของประชาธิปไตยและนโยบายทางการเมืองของรัฐเป็นความปวดร้าวของพี่น้องมาจนทุกวันนี้ เยาวชนในพื้นที่ได้มีบทเรียนและได้เรียนรู้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อร่วมมือกันในหนทางที่ถูกต้อง รัฐยังไม่ทำให้เกิดความจริงและความยุติธรรม ปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย เราต้องการความยุติธรรมและความจริงใจจากรัฐบาล
          ขณะที่ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ที่ปรึกษา PERMAS บอกว่า สาเหตุที่ไม่มีต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้เพราะต่างประเทศคิดว่ารัฐบาลได้ตกลงและพูดคุยกับประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่รู้ความจริงว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังคงค้างคาใจ
          "ในด้านคดีแพ่งได้จบลงไปแล้ว เหลือแต่คดีอาญาที่ศาลมีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ที่เสียชีวิตในวันนั้นมาจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งต้องมีคนรับผิด จนถึงวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่อยากรื้อฟื้นแล้ว แต่การจัดกิจกรรมในวันครบรอบก็เพื่อให้คนที่อัดอั้นตันใจ อยากระบาย ได้พูดคุยเปิดใจกันเพื่อร่วมกันรับรู้ถึงความรู้สึกของพี่น้องร่วมชะตากรรม"
เยียวยาด้วย "เงิน" ไม่เพียงพอ
          น.ส.วรพรรณ กูนา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่ไปร่วมรับฟังการเสวนา กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ตากใบเธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) ยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก ได้แต่ดูตามข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เกือบร้อยคน กระทั่งโตขึ้นเรื่องนี้ก็ยังติดอยู่ในความคิด
          "จนเข้ามาเรียนใน ม.อ.ปัตตานี ได้รับทราบเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งจากผู้ประสบเหตุในวันนั้นและผู้ได้รับผลกระทบ จึงยิ่งมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านในพื้นที่ และเมื่อมีการเยียวยาด้วยเงิน คิดว่ายังไม่พอกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือชีวิตปกติสุขเหมือนเดิม"
permas1 
ออกแถลงการณ์ขอ ตปท.ร่วมพิสูจน์ความจริง
          โอกาสนี้ สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี ออกแถลงการณ์เรื่อง รำลึก 9 ปีตากใบ บทเรียนเพื่อยุติสงคราม โดยเรียกร้องให้ "คู่สงคราม" ซึ่งทางสหพันธ์ฯหมายถึงรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น กระทำการสงครามภายใต้กฎระเบียบกติกาที่เป็นสากล (Geneva Conventions) 
          นอกจากนั้น ยังขอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม โดยให้องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพและสิทธิมนุษยชนสากล และรัฐมาเลเซียซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในทางนิตินัยและมีฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในทางพฤตินัยต่อกระบวนการพุดคุยสันติภาพปาตานี ได้แสดงบทบาทในการพิสูจน์ความจริงและผลักดันนำไปสู่การดำเนินการลงโทษต่อผู้กระทำผิดตามกระบวนการที่เป็นสากลต่อไป โดยเริ่มที่เหตุการณ์ตากใบเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อยุติวงจรวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งเรียกร้องให้คู่สงครามและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพให้ความสำคัญกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของชะตากรรมในครั้งนี้ มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยสากล (right to self-determination)
////////////////////////////////////////////////////////


จับคนไทยฯสงสัยโยง"พูโลใหม่" สมช.นัดถก BRN

        เลขาฯสมช.แย้มจับ 3 คนไทยพร้อมอาวุธสงครามล็อตใหญ่ในรัฐเคดาห์ มาเลเซีย โยงกลุ่มพูโลใหม่ เผยเคยปฏิบัติการรุนแรงช่วงหยุดยิงรอมฎอน ระบุบีอาร์เอ็นส่งเอกสารคำอธิบาย 5 ข้อเรียกร้องมาแล้ว เป็นภาษาอังกฤษยาว 30 หน้า อ้างอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไทย พร้อมนัดคุยรอบใหม่เร็วๆ นี้ ดึง "บีไอพีพี-พูโลอีก 2 กลุ่ม" ร่วมวง ฝ่ายทหาร ชี้ พูโลบางปีกตั้งกองกำลัง PLA สร้างสถานการณ์ต่อรองร่วมโต๊ะเจรจา


paradorn 01
          พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียสามารถจับกุมบุคคลสัญชาติไทยพร้อมอาวุธสงครามล็อตใหญ่ได้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในรัฐเคดาห์ หนึ่งใน 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียที่มีอาณาเขตติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจริง พร้อมระบุว่าบุคคลดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "กลุ่มพูโลใหม่" ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงที่มีการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ
          "เจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 3 คน ขณะนี้ตำรวจสันติบาลของไทยกับสันติบาลมาเลเซียกำลังร่วมกันสืบสวนสอบสวนอยู่ รายงานในชั้นต้นระบุว่าคนไทยกลุ่มนี้อาจเป็นบุคคลสองสัญชาติ ช่วงที่ผ่านมาทางการมาเลเซียร่วมมือกับเราดีมาก เข้มงวดกับคนที่ครอบครองอาวุธหรือกระทำผิดในพื้นที่ของมาเลเซีย หรือข้ามแดนไปยังพื้นที่ของเขา ก็มีการจับกุมทั้งหมด" เลขาธิการ สมช.ระบุ 
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไทยบางหน่วยมีการพูดถึง "กลุ่มพูโลใหม่" มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่ถูกจับกุมในครั้งนี้หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า จากข้อมูลข่าวสารในชั้นต้นก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะในห้วงเวลาที่มีข้อตกลงหยุดยิง หรือลดเหตุรุนแรงร่วมกัน 40 วันช่วงเดือนรอมฎอนของทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นนั้น ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็แจ้งข้อมูลมาว่า ปฏิบัติการความรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ใช่ฝีมือของพวกเขา แต่เป็นฝีมือของกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งหลังจากที่มีการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งต่อไปคงจะได้สอบถามกัน
คาดนัดคุยบีอาร์เอ็นรอบใหม่เร็วๆ นี้
          ทั้งนี้ พล.ท.ภราดร ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ว่า ล่าสุดเพิ่งมีการประสานงานผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือทางการมาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ก.ย.) ว่าจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งคำอธิบายข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อมาแล้ว เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ความยาวกว่า 30 หน้า ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการแปลถ่ายมาเป็นภาษาไทย เบื้องต้นทราบว่ามีการระบุในคำอธิบายว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่าจริงตามที่อ้างหรือไม่ หรือเป็นการเข้าใจผิดของบีอาร์เอ็น
          นอกจากนั้น ทางบีอาร์เอ็นยังประสานผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาว่า ในการพูดคุยกันครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวๆ ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า จะดึงกลุ่มพูโลใหม่ 2 กลุ่ม และกลุ่มบีไอพีพีมาร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
          ส่วนข่าวที่ว่ามีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กประสานพูดคุยในทางลับนั้น เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า เป็นการเสริมทีมพูดคุย ซึ่งในลำดับต่อไปจะลงลึกในแง่ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และประเด็นทางวิชาการมากขึ้น จึงต้องดึงบุคลากรมาเสริม แต่คณะพูดคุยชุดใหญ่ยังอยู่ในกรอบเดิม คือไม่เกิน 15 คน และฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังมีนายฮัสซันเป็นหัวหน้าคณะเช่นเดิม
พูโลตั้งกองกำลัง PLA กดดันร่วมโต๊ะเจรจา
          แหล่งข่าวจากฝ่ายทหาร เปิดเผยว่า กลุ่มพูโลใหม่เป็นกลุ่มที่แตกตัวออกไปจาก "องค์การพูโล" หรือพูโลเก่า โดยมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของ นายกัสตูรี มาห์โกตา อดีตโฆษกองค์การพูโล สัญลักษณ์ของกลุ่มนี้จะเป็นรูปนก อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ นายซำซูดิง คาน สัญลักษณ์เป็นรูปกริช สองกลุ่มนี้ถือว่าเป็น "พูโลใหม่" ที่ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับทางการไทยพร้อมกับฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่โต๊ะพูดคุยดังกล่าวทางบีอาร์เอ็นดึงตัวแทนกลุ่มพูโลเก่าเข้าร่วม คือ นายลุกมาน บิน ลิมา
          แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่กลุ่มพูโลใหม่พยายามก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่รัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบนั้น เป็นเพราะกลุ่มพูโลใหม่ตกขบวนการพูดคุย ไม่ได้ร่วมอยู่ในโต๊ะพูดคุยด้วย ทั้งๆ ที่แสดงท่าทีพร้อมพูดคุยมาตลอด และยังพูดคุยทางลับกับหน่วยงานความมั่นคงไทย ตลอดจนองค์กรอื่นๆ มาอย่างยาวนานหลายปี ทำให้มีสมาชิกบางส่วนที่รู้สึกไม่พอใจ รวมตัวกันฝึก "กองกำลังรุ่นใหม่" ตระเวนก่อเหตุรุนแรงเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
          กองกำลังรุ่นใหม่เหล่านี้บางรายถูกจับกุมได้และยอมรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพูโลใหม่ แต่ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงบางแหล่งระบุว่า กลุ่มใหม่เรียกตัวเองว่า "พีแอลเอ" (PLA) ย่อมาจาก Patani Liberation Army
pracha
"ประชา"ล่องใต้ส่งผู้แสวงบุญฮัจญ์ที่สนามบินบ้านทอน
          พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.2556 และได้ไปส่งผู้แสวงบุญที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ท่าอากาศยานนราธิวาส (สนามบินบ้านทอน) จ.นราธิวาส ซึ่งนับเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นครั้งแรกที่ผู้แสวงบุญสามารถขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานนราธิวาส โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา
          จากนั้นเวลา 13.30 น. รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลุ่มเกษตรกร ภาคประชาชน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.ต.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เข้าร่วมหารือด้วย โอกาสนี้ได้มีการเชิญ นายทรงวุฒิ  ดำรงกุล ประธานเครือข่ายยางพาราเขต6 (ยะลา นราธิวาส เบตง) และเครือข่ายเกษตรกร เข้าชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดย พล.ต.อ.ประชา เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา
///////////////////////////////

เลขาฯโอไอซีหนุนข้อตกลงหยุดยิงชายแดนใต้ หวังไทยขยายวงพูดคุยกลุ่มอื่น

เลขาธิการโอไอซี แถลงผ่านเว็บไซต์หนุนข้อตกลงหยุดยิงชายแดนใต้ช่วงรอมฎอน หลังได้รับข้อมูลจากการพบปะหารือกับนายกฯยิ่งลักษณ์ เมื่อ 6 ก.ค. ลั่นพร้อมเป็นหุ้นส่วนในกระบวนการสู่สันติภาพ หวังขยายวงพูดคุยกับกลุ่มอื่นด้วย ด้านผู้นำไทยรับปากเดินหน้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 พื้นที่



เว็บไซต์ขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี รายงานว่า นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี ได้แสดงการตอบรับและยินดีกับการริเริ่มข้อตกลงหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างชาวมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศ หลังได้รับข้อมูลจากการพบปะกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา

เลขาธิการโอไอซี กล่าวว่า เดือนรอมฎอนเป็นห้วงเวลาของการอุทิศจิตวิญญาณโดยให้คุณค่ากับความอดทน การยับยั้งกิเลส การสวดภาวนา ความสงบ และสันติ ทั้งนี้ จึงสนับสนุนต่อการปฏิบัติตามหลักการสำคัญของข้อตกลงหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอน และตั้งความหวังว่าการหยุดยิงจะนำไปสู่ความสงบสุข การพัฒนา และเพิ่มความเชื่อมั่นในการสร้างมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยได้ในที่สุด

เลขาธิการโอไอซี ซึ่งเป็นชาวตุรกี ยังบอกด้วยว่า โอไอซีพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนในกระบวนการสู่สันติภาพ ความปลอดภัย การพัฒนา และความสำเร็จใดๆ ที่จะทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีความสุข

อนึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการโอไอซีที่ประเทศตุรกี ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะทำงานพูดคุยสันติภาพกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ

ในเอกสารข่าวอีกฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของโอไอซีเช่นกัน ได้ระบุถึงรายละเอียดการหารือร่วมกันระหว่างเลขาธิการโอไอซี กับนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยระบุว่า เลขาธิการโอไอซีสนับสนุนการสร้างกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และคาดหวังว่าการพูดคุยลักษณะนี้จะขยายวงกว้างออกไปครอบคลุมกับกลุ่มหรือองค์กรอื่นที่เป็นตัวแทนมุสลิมในภาคใต้ของไทยให้ได้มีส่วนร่วมด้วย

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าตามแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างเลขาธิการโอไอซีกับรัฐบาลไทย เมื่อครั้งเดินทางเยือนไทยเมื่อปี 2550 และแถลงการณ์ร่วมระหว่างที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการโอไอซีกับรัฐบาลไทย เมื่อครั้งเดินทางเยือนไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่ารัฐบาลไทยกำลังดำเนินการยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ใน 5 พื้นที่ภายใต้กระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่น

////////////////////////////////////////////////


หลากความเห็น"บีอาร์เอ็น"ยื่นเงื่อนไขใหม่ 
"ปณิธาน" ชี้เป็นไปได้ "ฮัสซัน" หารันเวย์

เงื่อนไขใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ประกาศผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ล่าสุด โดยเฉพาะที่ให้ทางการไทยถอนทหาร-ตำรวจพ้นพื้นที่ชายแดนใต้แลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน และให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไปก่อนหน้านี้เข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มิฉะนั้นจะไม่มีการพูดคุยเจรจาครั้งต่อไปนั้น แทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ยาก



"อังคณา"บอกถ้าถอนทหาร บีอาร์เอ็นต้องวางปืน

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายนานกว่า 9 ปี มองว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะที่ให้รัฐบาลถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกไปแล้ว กลุ่มผู้ก่อการจะหยุดก่อเหตุจริงๆ

กรณีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่อาเจะห์ (ปัจจุบันเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย) ซึ่งเคยมีการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐใหม่แยกจากอินโดนีเซีย กรณีของอาเจะห์ รัฐบาลอินโดนีเซียถอนทหารในวันเดียวกับที่กลุ่มขบวนการต่อสู้ (กลุ่ม GAM) วางปืนให้เห็นต่อหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปเป็นสักขีพยาน ทั้งสหภาพยุโรป หรือองค์การสหประชาชาติ แต่ในสามจังหวัดของไทยยังไม่เห็นมีการวางอาวุธ

"หากจะให้ถอนกำลังทหารตำรวจ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถขับรถกระบะถือปืนเอ็ม 16 ยิงคนได้อย่างเสรี อย่างนี้ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ" นางอังคณา ระบุ


ยังไม่ใช่ขั้นตอนส่งข้อเรียกร้องเข้าสภา

ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขที่ให้นำข้อเรียกร้องที่เสนอก่อนหน้านี้ 5 ข้อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเรื่องที่จะข้าสภาต้องเป็นข้อสรุปที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และนำเสนอให้สภาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ขณะนี้ยังเป็นแค่ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียว หากนำเข้าสภาแล้วมี ส.ส. หรือ ส.ว.ถามว่าการยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นจะทำให้พื้นที่สงบอย่างไร หรือถามว่าคนที่รัฐไปคุยมาเป็นตัวของคนสามจังหวัดจริงหรือไม่ ใครจะตอบได้

เช่นเดียวกับเงื่อนไขที่ให้นายกรัฐมนตรีลงนามด้วยตนเอง ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะระดับนายกฯต้องลงนามกับผู้นำตัวจริงของบีอาร์เอ็นเท่านั้น แต่ นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแค่ผู้ประสานงาน และถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นคือใคร


"อนุศาสน์"ลั่นไม่มีรัฐบาลไหนในโลกรับได้

นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า การยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมของกลุ่มบีอาร์เอ็นแสดงให้ว่าทางกลุ่มไม่ได้ความจริงใจมากพอที่จะร่วมมือลดเหตุรุนแรงอย่างแท้จริง มีแต่ข้อเสนอให้รัฐบาลไทย หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 จะพบว่ารัฐบาลมีข้อเสนออย่างเดียวคือให้ลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นก็ยังทำไม่ได้ เป้าหมายอ่อนแอยังตกเป็นเหยื่อตลอด กรณี 6 ศพ (สังหารหมู่ 6 ศพที่ร้านชำในตัวเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.56) ก็ยังกล่าวหาว่ารัฐอยู่เบื้องหลังด้วย


"เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเหตุการณ์ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความหวังว่าช่วงรอมฎอนความรุนแรงจะลดน้อยลง แต่เงื่อนไขใหม่ที่เสนอมานี้ ต้องบอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนในโลกยอมรับได้ คิดว่าส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและหาพวก หรือไม่หาเสียงกับคนในพื้นที่ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดที่เราไปให้เวทีกับเขา ไปผูกมัดตัวเราเองจนเข้าทางเขา และเขาก็ใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่มีกรอบการพูดคุยเจรจาที่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นปฏิบัติอยู่นอกเหนือข้อตกลงตลอดเวลา"

จี้รัฐสังคายนา – ทีมเจรจาพิจารณาตัวเอง

นายอนุศาสน์ เรียกร้องให้รัฐบาลสังคายนาการพูดคุยเจรจาเสียใหม่ เพราะที่ผ่านมาถือว่าผิดพลาด ปล่อยให้บีอาร์เอ็นชิงความได้เปรียบและหาความชอบธรรมฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าการเจรจาจะคืบหน้าหรือไม่ ฉะนั้นคณะพูดคุยสันติภาพต้องพิจารณาตัวเอง

"ในฐานะคนในพื้นที่ ผมอยากเห็นความรุนแรงลดลงอย่างแน่นอน อยากเห็นการเจรจานำไปสู่ข้อตกลงและความสงบ ไม่ใช่แค่ช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่เป็นทุกเดือน และตลอดไป ผมพร้อมให้โอกาสสันติภาพ แต่ดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด" ส.ว.จากปัตตานี กล่าว


"ปณิธาน" เชื่อเป็นไปได้ "ฮัสซัน" หาทางลง

ประเด็นที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณานอกเหนือจากการ "รับ-ไม่รับ" เงื่อนไขใหม่และข้อเรียกร้องเดิมของบีอาร์เอ็นก็คือ เบื้องหลังของท่าทีทั้งหมดนี้ กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ต้องการอะไร เพราะย่อมรู้กันดีว่าเงื่อนไขที่เสนอมา เกือบทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะยินยอม

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้มองได้ 3 ประเด็น คือ

1.การยื่นเงื่อนไขใหม่ เป็นความต่อเนื่องจาก 5 ข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งหลังจากยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อแล้ว บีอาร์เอ็นค่อนข้างได้เปรียบ เสมือนหนึ่งเป็นผู้วางกรอบการพูดคุย แม้รัฐบาลไทยจะประกาศว่าไม่รับข้อเรียกร้อง แต่ก็เกือบรับในช่วงแรก และจากท่าทีก็ถูกตีความเหมือนกับรับไปแล้ว ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เปรียบ และการพูดคุยกันครั้งล่าสุด (13 มิ.ย.) ก็มีการพูดคุยกันตามกรอบของข้อเรียกร้อง 5 ข้อนี้ ล่าสุดบีอาร์เอ็นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ตามมาอีก

2.ยังคงมีคำถามว่ากลุ่มของนายฮัสซันได้รับการยอมรับจากกองกำลังในพื้นที่จริงหรือไม่ สะท้อนว่าในองค์กรบีอาร์เอ็นก็มีปัญหาเช่นกัน การยื่นเงื่อนไขใหม่ด้วยบริบทที่หนักแน่น แข็งกร้าวกว่าเดิมของกลุ่มนายฮัสซัน ก็ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากกองกำลังในพื้นที่ให้หันมาสนับสนุนกลุ่มของตน พร้อมทั้งแสวงหาความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่

3.ต่อเนื่องจากข้อ 2 คือเมื่อสถานะของนายฮัสซันอาจจะไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ การยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ยากแต่ได้ใจกลุ่มต่อต้านรัฐไทยแบบนี้ ก็อาจจะเป็น exit strategy หรือการหาทางออกให้กับตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าหาทางลงจากหลังเสือของนายฮัสซันก็ได้

"สถานะของนายฮัสซันที่ไม่สามารถคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริง เป็นเรื่องเก่าที่รู้กันอยู่แล้ว และทุกฝ่ายก็น่าจะเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับการล้มโต๊ะเจรจาที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาในกระบวนการพูดคุยหนนี้ ฉะนั้นเมื่อพูดคุยกันมา 3-4 รอบแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และนายฮัสซันเองก็เปิดเผยหน้าตาผ่านสื่อไปหมดแล้ว เขาเองก็อาจจะต้องมานั่งคิดว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร การเสนอข้อเรียกร้องแบบแรงๆ และอีกฝ่ายปฏิบัติไม่ได้แน่ๆ ก็อาจจะเป็นทางออกที่สวยงามจากกระบวนการนี้"


แนะเปิดแนวรุก "คุยตรง" กับกลุ่มในพื้นที่

ดร.ปณิธาน ซึ่งรับรู้การเจรจาสันติภาพดับไฟใต้ในรัฐบาลชุดที่แล้ว และยังติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด เสนอว่า ทางออกของรัฐบาลนอกจากการตั้งคณะทำงานชุดเล็กไปพูดคุยแทน และทอดเวลาการพูดคุยเจรจาออกไปก่อน ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานะที่ไม่ค่อยมั่นคงของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยแล้ว รัฐบาลน่าจะปรับวิธีการด้วยการเปิดวงพูดคุยตรงกับบรรดาแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ด้วย


"ผมคิดว่าคณะทำงานชุดเล็กเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องถึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์กับการพูดคุยลักษณะนี้อยู่แล้วไปร่วมทีมด้วย และไม่ใช่คุยแต่กับกลุ่มของนายฮัสซันเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เราอาจให้ฝ่ายปฏิบัติเปิดชื่อของแกนนำเหล่านี้ แล้วรุกเข้าไปพูดคุยกับเขาเลย ที่ผ่านมาเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วจากหมายจับและ หมาย พ.ร.ก.(ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่วิธีการคือเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุม หรือยิงเขาตาย ฉะนั้นถ้ายกคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เปิดชื่อเปิดตัวแล้วไปหาเขา พูดคุยกับเขา แทนการปิดล้อมจับกุม น่าจะเป็นการเปิดแนวรุกทางการเมืองใหม่โดยไม่ต้องรอการเจรจากับกลุ่มนายฮัสซันอย่างเดียว"

ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทีมเจรจาก็พยายามรุกกลับทางการเมือง เช่น กรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และนำข้อสังเกตต่างๆ กลับไปยันทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งถือว่าทำได้ดี แต่ยังไม่ส่งผลสะเทือนมากพอ การพูดคุยตรงกับกลุ่มในพื้นที่น่าจะช่วยได้ และสามารถใช้พลังมวลชนกดดันคนเหล่านั้นหากพูดคุยแล้วสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ดีขึ้น


ฝ่ายมั่นคงชี้เงื่อนไขใหม่ตอกย้ำ 5 ข้อเรียกร้อง

ด้านความเห็นของฝ่ายความมั่นคง แหล่งข่าวจากหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เผยว่า หน่วยได้มีการหารือกันถึงเงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็นเช่นกัน แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เพราะมองว่าเงื่อนไขที่ยื่นมาใหม่ยังไม่มีเนื้อหาอะไรใหม่หรือหลุดไปจากกรอบข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อ

เช่น การให้ถอนกำลังทหาร ตำรวจจากนอกพื้นที่ ออกจากดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นการตอกย้ำเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ที่บีอาร์เอ็นพยายามสื่อผ่านข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หรือการให้อาสารักษาดินแดน หรือ อส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ต้องประจำการช่วงเดือนรอมฎอน ก็เป็นการส่งสัญญาณเรื่องการเคารพอัตลักษณ์และวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนา

"เรามองว่าเงื่อนไขดูแปลกๆ อย่างเรื่องให้ อส.มุสลิมไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ จริงๆ แล้วเราก็ให้สิทธิ อส.มุสลิม และกำลังพลที่เป็นมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ช่วงเทศกาลฮารีรายอก็ให้ลาหยุด หนำซ้ำปัจจุบันเฉพาะพื้นที่นี้้ยังกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย"

แหล่งข่าวบอกด้วยว่า เงื่อนไขที่ให้ยุติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม รวมทั้งตั้งด่านสกัดบนถนนนั้น เป็นสิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำหนดเป็นแผนปฏิบัติอยู่แล้วทุกปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ และปีนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้แถลงแผนดังกล่าวไปแล้ว เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนมาก ทำให้บีอาร์เอ็นเสียมวลชน จึงต้องเสนอเงื่อนไขข้อนี้ขึ้นมาเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกดดันจากบีอาร์เอ็น

"เราอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนอยู่แล้ว และได้ลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี โดยเน้นภารกิจเชิงรับในแง่ของการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ไม่ใช่การถอนทหาร หรือลดกำลังทหาร หรือไม่มีการปิดล้อมตรวจค้นโดยสิ้นเชิง เพราะหากมีสถานการณ์ร้ายเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้" แหล่งข่าว ระบุ

นักสิทธิฯหนุนสภาถก 5 ข้อบีอาร์เอ็น

ขณะที่ความเห็นของนักสิทธิมนุษยชน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของนายฮัสซันเป็นการกดดันทางการเมือง ซึ่งความเป็นจริงก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อมีลักษณะเป็นนามธรรม มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่รัฐบาลไทยจะรับไปพิจารณา รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการยอมรับสถานะของกลุ่มตนเอง รายละเอียดของกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ และข้อเรียกร้องต่างๆ จริงๆ แล้วต้องให้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน 

"สำหรับเงื่อนไขใหม่ที่จะให้ถอนทหารออกจากพื้นที่นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทหารยังคงทำหน้าที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่ ทางที่ดีควรจะเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่าการเรียกร้องให้ถอนทหาร เพราะการยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานตามกรอบของกฎหมายปกติเนื่องจากกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ใช้ในสภาวะสงคราม ไม่เอื้อต่อการเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ"

ส่วนการยื่นเงื่อนไขให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาของไทยนั้น น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ด้านหนึ่งก็เห็นด้วย เพราะการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพไม่ใช่งานของหน่วยงานรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งไปทำ หากนำเข้าหารือในสภาก็จะได้รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนประชาชนอย่างหลากหลาย และควรยกระดับการพูดคุยเจรจาให้เป็นวาระแห่งชาติ การนำเข้าที่ประชุมสภาจะทำให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลตัดสินใจยุติการพูดคุยสันติภาพก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย และทางภาคประชาสังคมก็ต้องหาทางผลักดันให้มีการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ เพราะประชาชนทั่วไปให้ความคาดหวังกับการเจรจาครั้งนี้มาก แม้จะเริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง หรือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียก็ตาม นอกจากนี้ อยากให้คู่เจรจามีความอดทนอดกลั้นมากกว่านี้

"การที่บางฝ่ายออกมาพูดให้ยุติการเจรจา เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่เสียงของประชาชน และไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน เนื่องจากคนในพื้นที่ต้องการให้ยุติความรุนแรง" น.ส.พรเพ็ญ ระบุ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเข้าไปหารือในที่ประชุมรัฐสภา เพราะเป็นข้อเรียกร้องระดับประเทศ ควรนำไปพูดคุยกันในหมู่ผู้แทนประชาชนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย ส่วนจะประชุมลับหรือเปิดเผยเป็นการตัดสินใจของสภา

//////////////////////////////////////

บีอาร์เอ็นอาจไม่ได้เรียกไทย "นักล่าอาณานิคมสยาม"

ไม่เฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเท่านั้นหรอกที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ยอมรับไม่ได้" ตั้งแต่ได้ยินและถอดความคำแถลงกันมาเมื่อปลายเดือน เม.ย.2556



       ทว่ายังมีคำเรียกขาน "รัฐไทย" ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" อีกที่ไม่เฉพาะฝ่ายความมั่นคงไทยเท่านั้น แต่คนไทยทั่วๆ ไปก็คงยอมรับยาก

ก็ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่เรื่องที่ไทยเสียเปรียบ เสียดินแดนจากยุคล่าอาณานิคม แต่บีอาร์เอ็นกลับมาต่อว่าไทยว่าเป็น "นักล่าอาณานิคม" เสียนี่ ทำเอาบรรยากาศการ "พูดคุยสันติภาพ" ชักจะไม่ค่อยสันติภาพสักเท่าไหร่

ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ พร้อมคำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" นี้ ทางบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือน เม.ย.ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 2 เพียงไม่กี่วัน และมาแถลงย้ำอีก 2 ครั้งช่วงปลายเดือน พ.ค. ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 3

แน่นอนว่านายฮัสซันและพวกแถลงเป็นภาษามลายู จากนั้นก็มีผู้แปลถอดความออกมาเป็นภาษาไทย ทั้งที่แปลโดยระบุชื่อผู้แปล และการแปลแบบไม่ระบุชื่อ แต่ส่งต่อๆ กันทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงที่แปลสรุปๆ เสนอผ่านสื่อสารมวลชนกระแสหลักด้วย

คำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เริ่มมาจากจุดนั้น

แม้จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้พูดและแชร์วลีนี้ต่อๆ กันไปจนเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า "เชื่อกันไปแล้ว" ว่าบีอาร์เอ็นใช้คำที่มีความหมายนี้ ทว่า ศ.ดร.รัตติยา สาและ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษาชื่อดัง ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กลับเสนอมุมมองที่แตกต่าง และให้ข้อคิดในเรื่อง "การแปล" เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการแปลในเรื่องที่ละเอียดอ่อนในบริบทของการพูดคุยเพื่อสันติภาพของสองชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน...

ศ.ดร.รัตติยา อธิบายว่า การแปลเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซึ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะนักแปลหรือล่ามสามารถทำให้คนทะเลาะกันและทำให้คนดีกันได้ด้วย นักแปลจึงต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาและรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรม ตลอดจนวิธีคิดของเจ้าของภาษาต้นทาง การแปลงานบางอย่างผู้แปลต้องเก็บคำให้ละเอียดและต้องแปลด้วยคำในภาษาปลายทางที่ให้ความหมายระดับเดียวกันให้มากที่สุด เพราะคำบางคำหากแปลด้วยคำที่ต่างระดับ ก็ให้ความรู้สึกที่ไม่ดีได้

เช่น คำว่า 'penjajah Siam' (เปินฌาฌัฮ เสียม ; คำที่บีอาร์เอ็นใช้ในการแถลง) คือ "เจ้าปกครองสยาม" หรือ "ผู้ยึดครองสยาม" คงไม่ใช่ระดับคำ "นักล่าอาณานิคมสยาม"

คิดว่าการแปลไม่ควรกระทำแค่ดูตัวอักษรอย่างผิวเผิน นอกจากนั้นถ้าเป็นงานที่ถอดเสียงมาจากการพูดคุย ก็จำเป็นต้องฟังเสียงด้วย เพราะน้ำเสียงคนพูดสามารถสื่อความหมายเชิงลึกได้ ลักษณะน้ำเสียงที่ต่างกันบางเสียงมีความหมายแฝง การแปลอาจสร้างความรุนแรงได้ คือรุนแรงเพราะการใช้คำผิดระดับ หรือไม่ก็แปลด้วยน้ำเสียงที่ผิดระดับ บางคนใช้น้ำเสียงเรียบๆ ไม่ได้รุนแรง แต่ใช้คำแรง บางครั้งการใช้น้ำเสียงก็ช่วยลดความรุนแรงได้ หรือเวลาพูด เสียงอาจฟังว่าแรง แต่จริงๆ เขาใช้คำที่ธรรมดามาก

ดังนั้นต้องฟังเสียงและฟังคำควบคู่กันอย่างตั้งใจ ถึงจะได้ความหมายที่ตรงและสื่อด้วยภาษาปลายทางที่ถูกต้องได้ เพราะเสียงบอกอารมณ์ของผู้พูด

"คน 2 คนพูด คนหนึ่งเราฟังได้ แต่อีกคนพูดเรื่องเดียวกันเราฟังไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของการใช้ภาษาปลายทาง ฉะนั้นผู้แปลบางคนฟังภาษาต้นทางรู้ แต่อ่อนภาษาปลายทาง หรือเข้าถึงภาษาต้นทาง แต่เวลาถ่ายทอดคำศัพท์ของภาษาปลายทางกลับจำกัด ฉะนั้นต้องคิดเยอะๆ"

ศ.ดร.รัตติยา บอกอีกว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีประชาชนเป็นผู้ติดตามผล การแปลงานระดับนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แปลถ่ายทอดบนโต๊ะพูดคุย ผู้แปลต้องเข้าถึงทั้งสองภาษาอย่างมีจิตวิญญาณที่สมดุลทั้งไทยและมลายู

"การเปิดโต๊ะคุยกันเป็นโอกาสดีมากแล้วที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หากมีคำพูดใด เป็นคำ หรือวลี หรือประโยคที่ฟังแล้วกำกวม หรืออาจกลิ้งได้ในภายหลัง ก็สมควรที่จะสร้างความชัดเจนที่โต๊ะนั้นเลย ไม่อย่างนั้นอาจถอดรหัสคำพูดไม่ได้ตรงความหมาย"

"สำหรับการคัดล่ามไปใช้ในงานระดับนี้ สำคัญที่สุดต้องเป็นผู้ที่รักษาความลับได้ดี สุขุม รอบคอบ และอ่อนไหว ล่ามไม่มีหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หน้าที่การให้ข้อมูลเป็นเรื่องของประธานคณะเจรจาหรือไม่ก็ผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ล่ามต้องเข้าถึงความหมายของภาษาต้นทางและภาษาปลายทางอย่างผู้รู้ และไม่ใช่คนเดียว ต้องไม่ใช่เป็นคนที่พูดภาษามลายูเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างแตกฉานด้วย จึงจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ที่สำคัญคือจะได้สร้างความไว้วางใจแก่ทุกคน ทุกฝ่าย" ศ.ดร.รัตติยา กล่าว

เป็น "สาร" และ "น้ำเสียง" ที่เต็มไปด้วยความห่วงใย อยากให้เกิดความเข้าใจ และอยากให้สันติภาพได้ก้าวเดิน...

////////////////////////////////////////////

สันติวิธี หนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง

โดย ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะล




          สืบเนื่องจากรัฐบาลและกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ แสดงเจตจำนงพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นอำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะพูดคุยครั้งแรก เพื่อกำหนดกรอบการพูดคุย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจะพบปะพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกครั้ง ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิด สันติภาพ ในพื้นที่ต่อไป
                ในระหว่างที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกำลังดำเนินไปท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคุกรุ่น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติในครั้งนี้อย่างหลากหลาย ในการนี้ เพื่อให้กระบวนการการพูดคุย หรือ การเจรจา เพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศปรารถนา สามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพ ข้าพเจ้า ในฐานะที่เป็นประชาชน นักวิชาการและนักการศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอมีส่วนร่วมเสนอแนะแนวคิดที่เป็นหนทางในการส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพให้มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ ดังนี้

1.  การพูดคุย เจรจา : เส้นทางสู่ความสันพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกัน
                การที่ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งรัฐบาลมาเลเซีย ได้ริเริ่มกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการหันมาพูดคุย หรือ เจรจา ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
กล้าหาญและน่าชมเชย สร้างความหวังแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทุกศาสนาและชาติพันธ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิม จำเป็นต้องรีบตอบรับหรือขานรับ ร่วมมือและสนับสนุนทันที เมื่อการพูดคุย หรือ การเจรจาเพื่อสันติภาพถูกเรียกร้องหรือริเริ่ม แม้นการริเริ่มหรือการเรียกร้องจะมาจากฝ่ายที่เห็นต่างจากเราก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อขานรับคำเชิญชวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า


           “และหากพวกเขาโอนอ่อน เพื่อสันติภาพ(เพื่อสงบศึก)แล้ว ก็จงอ่อนโอนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายภารกิจเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า)เถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า)เป็นผู้ทรงได้ยิน และผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง
และถ้าพวกเขาปรารถนาจะลวงเจ้า(โดยสัญญาสันติภาพนั้น) ดังนั้น อัลลอฮฺ(พระเจ้า)ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยกำลังของผู้ศรัทธา
(ความหมายของกุรอาน 8 : 61 – 62 )

ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องส่งสัญญาณ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการและบุคลากรของรัฐทุกหน่วยงาน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ หรือ นโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ สามารถนำยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ
                สำหรับภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำและนักการศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและสตรี ควรเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธี ตลอดจนการจัดเวทีพูดคุยสานเสวนาประชาชนในภาคส่วนต่างๆในเรื่องสันติภาพและการกระจายอำนาจ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากพลังของภาคส่วนต่างๆเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ ที่ค้ำชูและผลักดันให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จ

2. ความยุติธรรม คือ รากฐานของสันติภาพ
                คัมภีร์อัลกุรอานหลายโองการได้ค้ำชูและปูทางสำหรับแบบแผนของสันติภาพ และยังได้สนับสนุนให้ใช้กระบวนการสันติวิธี ในการเรียกร้องคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าของสิทธิ ห้ามละเมิดหรือรุกรานผู้อื่น พร้อมกันนั้น ต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำดีกับมวลมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
                แม้กระทั่งกับข้าศึกในสงคราม เมื่อใดที่พวกเขาตอบรับการเจรจา ประนีประนอม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมิตรสหายหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่า

ดังพระดำรัสของพระเจ้า ความว่า
บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ธำรงความเที่ยงธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) แม้จะเป็นอันตรายต่อตัวสูเจ้าเอง หรือ พ่อแม่ ญาติสนิทของสูเจ้าก็ตาม แม้เขาจะมั่งมีหรือยากจนก็ตาม...

(ความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน 4 : 135)

ศาสนาอิสลามสอนให้อำนวยความยุติธรรม กับข้าศึกหรือศัตรู ความว่า

บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” (ความหมายของคัมภีรกุรอาน 5: 8)

สรุปแล้ว การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เป็นรากฐานสำคัญที่ค้ำชูและปูทางสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพ
ฉะนั้น ในกระบวนการพูดคุยหรือเจรจา เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องถือว่า การอำนวยความยุติธรรมในทุกมิติและทุกด้าน ต้องเป็นวาระที่สำคัญของการพูดคุยหรือเจรจา พร้อมกับมีมาตรการในการอำนวยการความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงจะทำให้กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ

                แน่นอน สำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ย่อมมีมุมมอง ความคิด ความเข้าใจในเรื่องสันติวิธี สันติภาพและความยุติธรรมที่หลากหลายและแตกต่างกัน

                ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาได้รับการตอบรับ สนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน ทุกศาสนาและชาติพันธุ์ ข้าพเจ้าจึงเสนอ ให้รัฐจัดให้มีคณะกรรมการยุติธรรมและสมานฉันท์ภาคประชาชนชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชนจากศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้แทนสตรี โดยคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการสนับสนุน ตรวจสอบและติดตามกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพและการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานเสวนาในเรื่องสันติวิธีและการอำนวยความยุติธรรมในมิติและด้านต่างๆแก่ประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เข้าถึง มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจยุทธศาสตร์และแนวนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและสนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง

3. ความยุติธรรมทางสังคม เพื่อการสร้างสันติภาพ
                หนึ่งในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการอำนวยการความยุติธรรมแก่ประชาชน เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้การเจรจา หรือ พูดคุยเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ และสอดคล้องกับหลักการอิสลาม ก็คือ การให้ความยุติธรรมในทางสังคม ภาครัฐไม่ควรละเลยการให้หลักประกันทางสังคม ด้วยการช่วยเหลือและเยียวยาแก่บรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาในด้านจิตใจ การศึกษา คุณภาพชีวิตและรายได้ของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. สันติภาพ คือวัตถุประสงค์หลักของศาสนบัญญัติ
                บทบัญญัติต่างๆในศาสนาอิสลาม มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปกป้องศาสนา เกียรติ ศักดิ์ศรี สติปัญญา ชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน นั่นเอง
ดังนั้น ในทัศนะของอิสลามแล้ว ถือว่า การพูดคุย เจรจาหาทางออกด้วยความจริงใจและมีวิทยปัญญา ปราศจากผลประโยชน์ เพื่อหาทางยุติการใช้ความรุนแรง และการละเมิดในทุกรูปแบบ หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สินของบุคคลและส่วนรวม ถือเป็นสิ่งที่อิสลามเรียกร้อง และเป็นการปูทางไปสู่สันติภาพ อันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ในทางตรงกันข้าม ความเสียหายไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาประเทศ
5. การพูดคุย หรือ เจรจา คือ วิธีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่ทุกฝ่ายต้องเชื่อมั่น มิใช่การทดลอง
                สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่ มีความศรัทธาและยึดมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆโดยสันติวิธี หรือ โดยการพูดคุย เจรจากัน ด้วยสติปัญญาและเหตุผล บริสุทธิ์ใจเพื่อที่จะให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะ สันติภาพ เป็นทั้งหลักการศรัทธาและหลักการปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ดังนั้น การอดทน
อดกลั้น ต่อปัญหาอุปสรรคและนสิ่งท้าทายต่างๆในกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ แม้ต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบปีกว่าจะบรรลุข้อตกลง ย่อมดีกว่า การทนปล่อยให้สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบเกิดขึ้นเพียงปีเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าความรุนแรงหรือความไม่สงบทีเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม มันได้ทำลายความปกติสุขในชีวิตและสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศและประชาชนเป็นอย่างมาก ตลอดจนมันมีผลกระทบต่อเจริญเติบโตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษาของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
                สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีผู้มีส่วนได้เสียบางส่วน ที่ยังเป็นห่วง วิตกและกังวลว่า เมื่อการเจรจาเพื่อสันติภาพบรรลุผลแล้ว พวกเขาจะดำเนินชีวิตในพื้นที่อย่างไร?
                การตอบโจทย์ในข้อห่วงใยเหล่านี้ มันเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐและสื่อต่างๆ รัฐและสื่อต้องมีบทบาทในการสื่อสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ทั้งต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐในการสร้างสันติภาพและนำยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจในรูปแบบที่เหมาะสม ตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีวัฒนธรรมและนิยมแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี อันเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพทั้งในพื้นที่ ในประเทศและประชาคมโลก
6. การมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพของประชาชน : หนทางสู่สันติภาพที่ยั่งยืน
                ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของของกระบวนการสันติวิธีสู่สันภาพที่ยั่งยืน ก็คือ ภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดภาคประชาชนที่เป็นศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ค้ำชูและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพ ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และความยุติธรรมไม่ตรงกัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ รัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งด่วน เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียน การสอน การฝึกอบรม ด้านสันติศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตลอดจนจัดให้มีหลักสูตร สื่อและกิจกรรมการฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับสันติศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี แทนที่ค่านิยมการแก้ปัญหาโดยใช้กำลังและความรุนแรง



         สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนและขอพรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า) ทรงโปรดประทานให้การพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ทรงประทานสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า(อาคีเราะฮฺ) 


////////////////////////////////////////////////////////// 


“อาราฟัต” กับชีวิตที่ไม่เคยท้อแท้



      เปิดโลกการศึกษามุสลิม เป็นเรื่องราวโรงเรียนดารุสสาลาม จังหวัดนราธิวาส แหล่งผลิตนักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในจังหวัดอื่นของประเทศไทย ที่นับถือศาสนาอิสลามออกสู่สังคม หนึ่งในจำนวนนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 5,000 คน คือ น้อง "อาราฟัต สามะยะซา" ปัจจุบันเป็นนักศึกษา ม.4 ผู้มากับความอดทน คิดดี ทำดี กตัญญูรู้คุณต่อบุพการี สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนในด้านต่างๆ เพียงเพราะฐานชีวิตครอบครัวที่ดี แม้ชีวิตการเป็นอยู่จะไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม น้องอาราฟัตเล่าว่าครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวเล็กๆ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน พ่อชื่อนายอาหะมะ สามะยะซา อายุ 46 ปี อาชีพ ลูกจ้างชั่วคราวไปรษณีย์ ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แม่ชื่อ นางซูวิตา หะยีดอเลาะ ทำงานบ้านค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยมีพี่สาวชื่อ น.ส.ตัสนิม เรียนอยู่ มศว. ประสานมิตร ปี 3 ได้ทุนเพชรในตม น.ส.อับตีซัม เรียนอยู่สงขลานครินทร์ (ปัตตานี) ได้ทุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร น้องสาวชื่อ นูรไฮฟา เรียนอยู่ ม.1 ร.ร.ดารุสสาลาม และมีน้องผู้หญิงอีก 2 คน อายุ 3 ขวบ กับ 11 เดือน อาราฟัต ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 06.30 น. ระยะทางจากบ้าน 10 กว่ากิโลเมตร เพื่อให้ถึงสถานีรถไฟแล้วนั่งรถไฟไปลงที่สถานีตันหยงมัสเพื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน เป็นอย่างนี้มา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่จบประถมจากโรงเรียนศรีทักษิณ ใน อ.รือเสาะ แต่เขาไม่เคยท้อกับชีวิตที่เติบโตในวัยเรียนด้วยการเดินทางไปกลับด้วยรถไฟ ซึ่งต้องแย่งกันขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาเพราะเป้าหมายคือ การได้ศึกษาทั้งศาสนา และสามัญในโรงเรียนที่ตัวเองเลือกแล้ว

       โรงเรียนดารุสสาลามเปิดโอกาสให้น้องอาราฟัตเรียนในสิ่งที่เขาชอบเขาถนัดเป็นที่มาของความสุขในการเรียน ที่เสริมเพิ่มพลังให้เกิดความเข้มแข็ง การใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนต้องเรียนหนัก ทั้งศาสนาและสามัญ ผ่านกิจกรรมของโรงเรียนที่หลากหลายกอปรกับการได้ออกไปเยือนโรงเรียนต่างๆ ทำให้ น้องอาราฟัต เก็บประสบการณ์และการเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและนอกสถานที่ การคบหาเข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาในโรงเรียนอื่นไม่ว่าจะศาสนาใด ยิ่งทำให้มุมมองของการเรียนเสริมสร้างสติปัญญาและแนวคิดใหม่ๆ ให้แก่ตัว น้องอาราฟัต มาโดยตลอด เขาไม่เคยท้อที่จะเรียนรู้และจะก้าวต่อไป เพราะชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่จำความได้ แม่และพ่อไม่เคยท้อกับชีวิตให้เห็น คำพูดของแม่คือบทเรียนชีวิต ที่ทำให้ต้องเก็บมาคิดเสมอ เพราะทุกคำพูดคือความรักที่แท้จริง น้องอาราฟัต ไม่อยู่หอพักเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เพียงเหตุผลสั้นๆ ที่น้องบอกมา คือยังมีน้องสาวอีกคนที่เพิ่งเข้าเรียน ม.1 และไม่อยากให้น้องต้องลำบาก โดยตัวเองขอเรียนไปกลับเพราะจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระเลี้ยงดูน้องๆ อีกสองคน ช่วยขายของและช่วยทุกอย่าง ที่สำคัญไม่อยากจากแม่ไปไหน เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่เหนื่อยมากับลูกๆ ตลอด น้องอาราฟัต ได้รางวัล Science Show จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รางวัลประกวด "ภาษาไทย ภาษาถิ่น" จากกระทรวงวัฒนธรรม, เกียรติบัตรตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมการแสดง งานวันเด็ก ที่ทำเนียบรัฐบาล, เกียรติบัตรผ่านการอบรมนักจัดรายการเยาวชนสืบสานศาสนา จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส, เกียรติบัตรทูต "แนะแนว" โครงการทูตแนะแนวสัญจร, เกียรติบัตรการแข่งขันเล่าเรื่องจากภาพเป็นภาษาไทย, เกียรติบัตรนักเรียนดีเด่นของเทศบาลตำบลรือเสาะ, รางวัลการแข่งขันโต้วาที, รางวัลการแข่งขันอ่านทำนองเสนาะ ปีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสภานักเรียนปี 2556 ของโรงเรียนดารุสสาลาม ฯลฯ

         คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทางเดินให้แก่ตัวเองได้ เพราะ น้องอาราฟัต มีข้อคิดดีๆ ในการดำเนินชีวิตว่า "สลัดความจน ค้นความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้โอกาสตัวเองสักครั้ง สักวันเราคงได้ดี ฐานชีวิตที่ดี มีค่า ย่อมมาจากฐานศีลธรรมในหัวใจ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอเป็นกำลังใจกับน้องๆ ที่ครอบครัวหรือแม้แต่ตัวเองที่ประสบกับปัญหาเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำเอาแบบอย่างชีวิตของ “น้องอาราฟัต” ไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับชีวิตของตนเองใช้สติ ปัญญามีความอดทนอดกลั้นมีความมานะ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันหนึ่งเราจะยิ้มได้ด้วยหัวใจว่า "ชาติของเรา" เป็นชาติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะทุกคนรักชาติอย่างแท้จริง พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "...เราไม่อาจทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ หน้าที่ของเราคือ ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และยับยั้งคนไม่ดีไม่ให้สร้างความเสียหาย…….ความรักสามารถเปลี่ยนได้ทุกสิ่ง" เพราะฉะนั้น เรามาช่วยกันภาวนาให้ทุกคนรู้จัก "รักชาติ" กันเถอะ เพื่อทำให้ประเทศชาติของเราพบกับแสงสว่างแห่ง “รู้รักสามัคคี” ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เพราะทุกคนคือคนไทยใต้ร่มธงไตรรงค์.. 

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 24-02-2556
                             
                                                                  /////////////////////////////////////////////////////


ผ่าปฏิบัติการเดือด หน่วยนาวิกโยธิน ดับโจรใต้-16ศพ หัวใจจากการข่าว
Share




ถือเป็นความรุนแรงและดุเดือดที่สุดในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ กับปฏิบัติการของคนร้ายที่บุกจู่โจมฐานทหารนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดฉากยิงปะทะกันอย่างหนัก
แต่เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเตรียมพร้อมและรู้จากการข่าวล่วงหน้าว่าอาจตกเป็นเป้าโจมตี จึงวางกำลังป้องกันไว้อย่างดี

ผลที่ตามมาทำให้คนร้ายถูกยิงเสียชีวิต 16 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่เกิดความสูญเสียแม้แต่นายเดียว!??




เปิดเบื้องหลังพิชิตโจรใต้



เหตุการณ์การปะทะอย่างหนักและรุนแรงคราวนี้เหลือเชื่อว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว



ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ หรือมีพระดีคุ้มครอง หากแต่ก่อนถูกจู่โจม เจ้าหน้าที่ได้รับการข่าวที่เชื่อถือได้ว่ากำลังตกเป็นเป้าโจมตีนั่นเอง



น.ท.ธรรมนูญ วรรณา ผบ.ฉก.นราธิวาส 32 หัวหน้าหน่วยนาวิกโยธิน ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทราบข่าวล่วงหน้าว่าอาจเป็นเป้าหมายของคนร้าย จึงเตรียมป้องกันไว้ล่วงหน้า!??



ข่าวสายหนึ่งมาจากมวลชนที่เริ่มเข้าใจการทำงานและเป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแนวทางของรัฐบาลผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งใช้ไม้นวมแทนไม้แข็ง

ในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา ศอ.บต.เน้นทำกิจกรรม ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และมีสัมพันธ์อันดีกับทั้งผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ หรือไทยมุสลิม

เมื่อมวลชนทราบเบาะแสสำคัญ จึงพร้อมให้ข้อมูลและความร่วมมืออย่างเต็มที่

อีกการข่าวหนึ่งมาจากนายสุไฮดี ตาเห อายุ 31 ปี ครูฝึกกองกำลังติดอาวุธหนึ่งในคนร้ายที่บุกสังหารครูชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านตันหยง ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา

จัดทีม"ซีล"เสริมทัพรับมือ

นายสุไฮดีไม่ได้เจตนาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ เพียงแต่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ครูฝึกกลุ่มโจรใต้ถูกเจ้าหน้าที่จับตายในพื้นที่จ.ปัตตานี

เจ้าหน้าที่พบหลักฐานสำคัญเป็นแผนผังและเอกสารต่างๆ ที่เตรียมโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารในพื้นที่นราธิวาส!!!

ทีมงานคัดกรองและหาข้อมูลความน่าจะเป็น ก่อนให้น้ำหนักไปที่หน่วยนาวิกโยธิน กองร้อยปืนเล็กที่ 2 ฉก.นราธิวาส 32 ว่าจะเป็นเป้าหมายของคนร้าย

เนื่องจากในช่วงระยะหลังๆ หน่วยนาวิกโยธิน ปะทะกับคนร้ายอยู่เนืองๆ ทั้งจับเป็น จับตายแนวร่วมได้หลายราย

ด้วยการข่าวที่น่าเชื่อถือทำให้หน่วยนาวิกโยธิน เตรียมรับมือได้ทันท่วงที

ที่สำคัญนอกจากทหารนาวิกโยธิน ที่ตามปกติถือว่าเป็นหน่วยรบที่เหนือกว่าทหารทั่วไปแล้ว ยังเสริมทัพทีม "ซีล" หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษของนาวิกโยธินเข้ามาอีกด้วย

โดยในทีมซีลมีหน่วยแม่นปืนหรือ "สไนเปอร์" ติดกล้องมองเวลากลางคืน จัดมาเพื่อการนี้

ด้วยความพร้อมขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อคนร้ายบุกเข้ามา จะพบการต้อนรับอย่างหนักหน่วงและรุนแรงยิ่ง!!!

ปะทะเดือดจับตาย 16 ศพ

สำหรับเหตุการณ์จู่โจมหน่วยนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส คนร้ายราว 50-60 คนแบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด ใช้พาหนะรถกระบะ 2 คัน แล้วเคลื่อนตัวเข้าทั้งด้านหน้าและหลังค่ายทหาร

ขณะเดียวกันคนร้ายอีกชุดก็วางกับดักทั้งตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางถนน และซุกระเบิดแสวงเครื่อง เพื่อถล่มเจ้าหน้าที่ซึ่งจะยกกำลังมาช่วย

จนราวตี 1 เศษๆ คนร้ายเริ่มคืบคลานเข้าใกล้เป้าหมาย โดยหารู้ไม่ว่านาวิกโยธินที่มีกำลังมากกว่านั้นเตรียมพร้อมอยู่ก่อนแล้ว

เจ้าหน้าที่ทหารกว่า 100 นาย แบ่งออกเป็น 2 ทีมหลักๆ ชุดหนึ่งเฝ้าเตรียมพร้อมอยู่ภายในค่าย ส่วนอีกชุดแฝงตัวอยู่รอบนอก

เมื่อคนร้ายล่วงลึกเข้าสู่โซนอันตราย และเริ่มเปิดฉากกระหน่ำยิง เจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่แต่แรก จึงตอบโต้กลับไปอย่างหนักหน่วง!!!

ราวครึ่งชั่วโมงของการปะทะคนร้ายตายคาที่บริเวณรอบๆ ฐานถึง 14 ศพ ที่เหลือล่าถอยหลบหนี โดยทหารนาวิกโยธิน ออกไล่ล่าและตามเช็กบิลอีก 2 ศพ ก่อนเข้าเคลียร์พื้นที่โดยใช้เวลาทั้งหมดราว 1 ชั่วโมง

ห่างจากถนนเข้าฐาน ประมาณ 50 ม. พบรถยนต์กระบะยี่ห้อ โตโยต้า สีบรอนซ์ ทะเบียน บค-7968 ยะลา ของคนร้ายจอดอยู่ สภาพรถพรุนจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ ในกระบะหลังพบเป้สนาม 8 ใบ ภายในบรรจุอาวุธปืนพกสั้น ระเบิดแสวงเครื่องชนิดขว้าง โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า และเครื่องยังชีพในป่าของคนร้าย

หลังเคลียร์สิ่งกีดขวางได้แล้วก็เข้าสำรวจจุดปะทะพบคนร้ายแต่งกายเลียนแบบทหารสวมเสื้อเกราะ สวมหมวกไหมพรม มีอาวุธปืนอาก้า และเอ็ม 16 นอนตายกระจัดกระจาย!!!

เช็กบิลแกนนำอาร์เคเค

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 16 รายประกอบด้วย 1.นายมะไพดี ปูเต๊ะ 2.นายมะรอโซ จันทรวดี 3.นายซอบือรี โดตาเยะ 4.นายกาสมัน มะเด็ง 5.นายปรือกิ นิมิง 6.นายสะอุดี อาลี 7.นายรอมือลี ซาเระ

8.นายมะสักกรี สะสะ 9.นายฮาเซ็ม บือราเฮง 10.นายมะนัง บือราเฮง 11.นายอาหะมะ โซะกุนิง 12.นายมะตอเฮ แฉะ 13.นายอับดุลเลาะ โต๊ะม๊ะ 14.นายมะยุดดิน รีรา 15.นาย มัสลัน มะลี และ 16.นายอัสรี รอเป็ง

ทั้งหมดเป็นกลุ่มอาร์เคเค เคลื่อนไหวก่อเหตุร้ายในพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี

ในจำนวนนี้มีระดับแกนนำถึง 5 คน แต่ตัวใหญ่สุดคือนายมะรอโซ จันทรวดี มีค่าหัวสูงถึง 2 ล้านบาท เพราะก่อคดีความมั่นคงหลายคดี อาทิ ลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.นราธิวาส 32 เสียชีวิต 3 นาย ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 48

คดีลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านบือเจาะ หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ เมื่อเดือน พ.ค. 50 คดียิงชาวไทยพุทธเสียชีวิต 4 ศพ ในพื้นที่หมู่บ้านฮูแตยือลอ อ.บาเจาะ

ล่าสุดเป็นผู้ร่วมก่อเหตุและสั่งการบุกสังหารโหดนายชลธี ครูโรงเรียนบ้านตันหยง ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ ต่อหน้านักเรียนขณะพักทานอาหารกลางวัน

ส่วนแนวร่วมที่เสียชีวิตครั้งนี้ เช็กประวัติแล้วพบว่าไม่ธรรมดาเลย หลายคนเรียบจบระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ สถาบันยอดฮิตของคนในพื้นที่ภาคใต้ ที่นิยมมาเรียนกัน

จึงนับเป็นปัญญาชนที่มีแนวคิดอุดมการณ์อย่างชัดแจ้ง

เยียวยาช่วยครอบครัว

พร้อมกับการเสียชีวิตของคนร้าย เจ้าหน้าที่เร่งเตรียมพร้อม 3 แนวทางด้วยกัน

ทางหนึ่งเจ้าหน้าที่ออกตามล่าตัวพรรคพวกที่เหลือ

ทางหนึ่งเสริมกำลังป้องกันจุดเสี่ยงต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา เพราะเกรงว่าคนร้ายจะล้างแค้น

และสุดท้ายคือมาตรการ "เยียวยา"

แต่พลันที่คำว่าเยียวยาพูดขึ้นมา ทั้งพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มที่ยังไม่ทันฟังความก็เรียงหน้าออกมาถล่ม โวยวายใส่รัฐบาลทำนองว่าจะจ่ายเงินให้กับคนร้าย ถึงกับเปรียบเทียบว่าดูแลโจรใต้ ที่ถูกยิงตาย มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐด้วยซ้ำ!??

ทำให้รัฐบาลและศอ.บต.ต้องชี้แจงว่า การเยียวยาหมายถึงการดูแลครอบครัวของแนวร่วมที่หลงผิดในระดับหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงได้สิทธิประโยชน์เทียบเท่าผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และเป็นแนวทางเดิมของศอ.บต.ในการดึงมวลชนเข้ามาอยู่กับรัฐ

แม้พวก "สายเหยี่ยว" รวมถึงพวกที่อยากให้ใช้มาตรการรุนแรงจะไม่เห็นด้วย แต่ตัวอย่างจากเหตุการณ์ล่าสุด แสดงให้เห็นถึงแนวทาง "สายพิราบ" ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน และศอ.บต.เดินอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงได้การข่าวที่แม่นยำช่วยลดการสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐไปได้

ที่สำคัญในอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า การใช้ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย!??



////////////////////////////////////////////////////////////////



 ปัตตานีมหานคร ต่อสู้ในแนวทางสันติหรือกอบกู้เอกราช

            ประเด็นแนวความคิดในการจัดตั้ง “นครรัฐปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร”  เคยเป็นประเด็นร้อนในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา  โดยได้มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งยกขี้นมาเป็นนโยบายเพื่อหาเสียงกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งติดตามมาด้วยการวิพากษ์มากมายหลายกระแสทั้งจากนักวิชาการต่างๆ จนถึงชาวบ้านในร้านน้ำชาถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมรวมถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการที่จะปกครองตนเองในรูปแบบเขตปกครองพิเศษหรือไม่  แต่แล้วเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ  ซึ่งผลการเลือกตั้งดังกล่าวอาจสามารถบ่งชี้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ว่าไม่ได้ต้องการปกครองตนเอง  เรื่อง “ปัตตานีมหานคร” จึงมีอันพับเก็บไป  แม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม 
            อย่างไรก็ดีถึงวันนี้แม้ว่าเรื่องปัตตานีมหานครยังคงคลุมเครืออยู่  แต่ในความคลุมเครือนั้นยังมีความเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนในหลายรูปแบบทั้งการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ   การจัดเวทีสัมนารวมทั้งการร่าง พรบ.ปัตตานีมหานครไว้แล้วเรียบร้อย  โดยกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานสอดคล้องกันเป็นเครือข่ายภายใต้การนำของ พต.ต.ต.จำรูญ  เด่นอุดม หรือชาวบ้านเรียกกันว่า“โต๊ะกู” อดีตนายตำรวจมือปราบซึ่งรับราชการอยู่ในพื้นที่มาทั้งชีวิตและรู้ปัญหาดี  กับ นายมันโซ  สาและ  รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้   พร้อมด้วยนายวันมูหัมหมัด  นอร์  มะทา   อดีตนักการเมืองใหญ่ที่ยังคงมีบทบาทกำหนดความเป็นไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใครๆ ต่างทราบดีว่าเขาอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพื้นที่นี้ให้เป็น”ปัตตานีมหานคร” นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ทั้งหมด 

             ความจริงเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคงหรือ ศอ.บต. ทราบดีคือ  ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่ากลุ่มใดซึ่งเป็นตัวการของปัญหาความรุนแรงไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด สิ่งเดียวที่ต้องการคือ การแบ่งแยกดินแดนเพื่อกอบกู้เอกราช 

        และแน่นอนว่าเมื่อขบวนการไม่ต้องการในพื้นที่นี้เป็นเขตปกครองพิเศษ  ยุทธการปัดแข้งปัดขาโดยการดิสเครดิตผู้ที่พยายามขับเคลื่อนปัตตานีมหานครก็เกิดขึ้น  โดยการออกมากล่าวอ้างผ่านสื่อในความควบคุมของตนทำนองว่า  เคยกวาดล้างนักสู้เพื่อเอกราชมามากมายบ้าง  ไม่รู้ปัญหาในพื้นที่จริงบ้าง  ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่บ้าง  พร้อมกับยกประเด็นเรื่องเก่าๆ  ของบุคคลนั้นๆ มาใส่ความในลักษณะให้ข่าวสารด้านเดียว  (http://patanimerdeka.wordpress.com/ ปัตตานีมหานครเหมือนเตะมุมเข้าปากหมา)  ซึ่งขบวนการนั้นมีทีมงานที่มีความถนัดในเรื่องการสาดโคลนใส่ผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งหากพิจารณาถึงสาเหตุความไม่ต้องการเป็นเขตปกครองพิเศษของขบวนการก็พอจะมีอยู่สองประเด็น

            ประเด็นแรกเป็นเรื่องของความกลัว   กลัวว่าหากปัตตานีมหานครถูกจัดตั้งขึ้นได้จริง  ขบวนการจะต้องถูกลดความสำคัญลงไป  เพราะการจัดตั้งในขั้นตอนหนึ่งจะต้องมีการคัดสรรบุคคลโดยวิธีการใดๆ ขึ้นมาเป็นส่วนงานต่างๆ ในรูปแบบของเขตปกครองพิเศษ  ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลนั้นๆ จะต้องเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่  ที่สำคัญต้องเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายมลายูเข้ามาขับเคลื่อนบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษที่มีปัญหาเฉพาะนี้ในทุกด้าน  ภายใต้ความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายมลายูที่เห็นดีเห็นงามด้วย  ผลที่ตามมาคือ ความสงบสันติจะเกิดขึ้นได้อย่างมีทิศทาง  และหากเป็นเช่นนั้นจริงขบวนการก็จะหมดทางหากิน และไม่มีข้ออ้างไปแบมือขอเงินจากกลุ่มประเทศมุสลิมต่างๆ   เพราะประเทศเหล่านั้นเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะหันไปให้ การสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ  ที่ยังมีปัญหาความรุนแรง 

แน่นอนว่าด้วยเงินจำนวนมหาศาลที่เคยได้นำมาแบ่งสรรค์กันระหว่างแกนนำ  เพื่อใช้เสพสุขกันอย่างสะดวกสบายก็จะหายไป  นี่เป็นประเด็นหลักที่ขบวนการต้องออกมาขัดขวางและพยายามสร้างสถานการณ์ความรุนแรงฆ่าคนบริสุทธิ์โยนความผิดให้เจ้าหน้าที่  แล้วอ้างว่าพี่น้องมุสลิมถูกรังแกเพื่อขอเงินสนับสนุนต่อไป
ประเด็นที่สองยังเป็นเรื่องความกลัวเหมือนเดิม  แต่คราวนี้กลัวว่าหากปัตตานีมหานครถูกจัดตั้งขึ้นได้จริง  ผู้ที่จะเข้ามาบริหารต้องไม่ใช่คนในขบวน การอย่างแน่นอน หากแต่จะเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลสูง  หรือผู้นำที่เคยมีบทบาทนำในการบริหารพื้นที่ตามแนวทางการบริหาร  หรือบุคคลใดๆ ที่มาจากการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิไตย ต้องไม่ใช่คนที่มือเปื้อนเลือดฆ่าพี่น้องมลายูมุสลิมเหมือนผักปลาอย่างขบวนการ  แล้วพวกเขาจะนั่งอยู่ตรงส่วนใดในตำแหน่งใดของมหานครนี้   และเมื่อคาดการณ์เป็นอย่างนี้แล้วจะยอมให้เกิดเขตปกครองพิเศษทำไม  การแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาเข้ามานั่งชูคอในฝ่ายบริหาร  มีตำแหน่งใหญ่โตได้  เพราะหากแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จจริงขบวนการยังมีกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมกุดหัวใครก็ได้ที่เข้ามาขวางเส้นทางการเป็นใหญ่เป็นโตของพวกตน

            ดังนั้นการปล่อยให้เกิดปัตตานีมหานครจึงไม่เป็นผลดีต่อขบวนการด้วยประการทั้งปวง

            แม้ว่าการจัดตั้งเขตปกครองยังมองเห็นอยู่ลิบๆ ข้างหน้า แต่กลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ยังคงพยายามกันต่อไป  ด้วยหวังว่าแนวทางนี้จะช่วยให้เกิดสมดุลย์ทางการกระจายอำนาจ และเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกดินแดน  แต่ที่สำคัญที่สุดหากมองว่าบุคคลสองกลุ่มนี้คือ กลุ่มนักต่อสู้เพื่อปัตตานีมหานคร  กับกลุ่มนักต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชปัตตานี  กำลังต่อสู้เพื่อบ้านเมืองอันเป็นที่รัก  เพื่ออนาคตลูกหลานแล้ว  การต่อสู้ของกลุ่มต่อสู้เพื่อปัตตานีมหานครถือเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติ  เสนอแนวทางที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยให้ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานลดลงหรือหมดไป โดยถือเอาเสียงใหญ่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก  ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยอมรับได้

แต่การต่อสู้ของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชปัตตานี  ที่ดีแต่ฆ่าผู้บริสุทธ์ถือปืนไปขู่ให้ชาวบ้านกลัวไปวันๆ  ใครไม่ยอมทำตามก็ยิงทิ้ง   แล้วมาอ้างว่าทำเพื่อผืนแผ่นดินอันเป็นที่รัก  ทำเพื่ออนาคตของประชาชนและลูกหลาน  แล้วไอ้ที่ตายๆ ไปน่ะเกือบครึ่งหนึ่งไม่ใช่ลูกหลานมลายูหรือ...ทุเรศ

ซอเก๊าะ  นิรนาม


////////////////////////////////////////////////////////////


                              สงครามปฏิวัติกับองค์กรอาชญากรรมค้ายาเสพติด


           สงครามปฏิวัติ คำนี้ดูเหมือนจะเป็นที่กล่าวถึงในยุคของสภาวะโลกปัจจุบัน นับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด จนถึงการหมดยุดสมัยของสงครามเย็น ซึ่งนักวิชาการด้านการทหาร และความมั่นคงที่ได้ศึกษาความหมายของสงครามปฏิวัตินั้น ได้กล่าว่าทฤษฎีนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และสภาวะการณ์ที่ต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของใครก็ตามเช่น  คาร์ล มาร์กช, เลนิน หรือประธาน เหมาเจ๋อตุง  แต่หากมองดูอย่างลึกซึ่งแล้วสงครามปฏิวัติคือสงครามประชาชน ซึ่งมีแต่การระดมมวลชนเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ของสงครามปฏิวัติขึ้นมาได้ โดยมีปัจจัยทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านโดยใช้กองกำลังติดอาวุธเข้าทำการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย หรืออำนาจของกลุ่มที่เริ่มก่อการสงครามปฏิวัติ แต่สุดท้ายแล้ว การถูกทำลาย และความเสียหายกับเกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นโดยตรง ไม่ว่าทางใดก็ตามโดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ นับว่าน่าสงสารที่สุดกับสถานการณ์เหตุการณ์บริเวณนั้นโดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ช่วงชิง หรือต่อสู้ที่กลายเป็นเด็กด้อยโอกาส กำพร้า  อนาถา  หรือแม้ถูกใช้เป็นเครื่องมือถึงขั้นบ่มเพาะ ปลุกระดมให้จับอาวุธ เข้าร่วมสงครามด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อให้กลุ่มของตนบรรลุเป้าหมายการเมืองตามที่ต้องการ
          ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทำให้เกิดรูปแบบของสงครามที่มีขบวนการปฏิวัติต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ทุกพื้นที่ของโลกจะต้องมีขบวนการที่เกิดขึ้น ๓ กระบวนการเป็นแนวร่วมอยู่ในพื้นที่ต่อสู้ หรือพื้นที่แย่งชิงเสมอคือ ขบวนการการค้ายาเสพติด  ขบวนการค้าอาวุธสงคราม และขบวนการค้าของเถื่อน โดยมีปัจจัยร่วมคือการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ และอิทธิพลมืด (มาเฟีย) ร่วมด้วยเสมอ
          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยก็น่าจะอยู่ในองค์ประกอบของสงครามปฏิวัติโดยมีกลุ่มขบวนการ BRN – COORDINATE เป็นองค์กรนำในการใช้มวลชน (ประชาชน) เข้าสู่การต่อสู้โดยใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนต่อสู้กับรัฐไทย เป้าหมายเพื่อแยกตัวปกครองตนเอง และสิ่งที่มีความจำเป็นขององค์กรต่อสู้ในสงครามมวลชนที่สำคัญคือทุนทรัพย์ที่ต้องใช้อย่างมหาศาล ในการขับเคลื่อนกำลังทหาร (RKK) และดูแลองค์กรนำ (DPP) ในต่างประเทศ    การเคลื่อนย้ายเดินทางเข้า – ออก แต่ละครั้งต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน แล้วมาจากไหนละ
          แรงขับเคลื่อนสำคัญที่เป็นตัวปลุกระดมของขบวนการก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทยคือ เรื่องศาสนาอิสลามซึ่งหลักสำคัญในอิสลาม นั้นจะปฏิเสธเรื่องของยาเสพติดอย่างสินเชิงเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดหรือ (ฮารอม) แต่ด้วยความจำเป็น หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในขบวนการก่อเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงตรวจพบทั้งพยาน หลักฐาน ตั้งแต่ระดับกำลังปฏิบัติการทหาร (RKK) ถึงระดับองค์กรนำ (DPP) ผู้ควบคุมสั่งการล้วนเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน  การค้าของเถื่อน ค้าอาวุธ และการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติที่ได้กล่าวไว้แต่ต้น ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในสงครามปฏิวัติแบ่งแยกรัฐปาตานี
          ย้อนอดีตเหตุระเบิดครั้งใหญ่ อำเภอสุไหงโก – ลก ๑๓ กันยายน ๕๔ เกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานความมั่นคงจับกุม นายอัสรี   ยูโส๊ะ  พร้อมยาบ้า ๑.๕ หมื่นเม็ด และกวาดล้างอย่างหนักถึงปัจจุบัน จนเจ้ามือหวยเถื่อน หวยมาเลเซีย บ่อนการพนัน เจ้าพ่อเงินกู้ แทบหากินไม่ได้จนเกิดเหตุระเบิดล่าสุด เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๕๕ ต้อนรับรอมฎอนที่ผ่านมา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดย DSI, ปปส. ยังตรวจพบหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้กฎหมายของ ปปช. เข้าตรวจสอบพิเศษคือพบมีเงินหมุนเวียนจากการฟอกเงินธุรกิจผิดกฎหมาย ยาเสพติด น้ำมันเถื่อนที่มีการส่งให้กับกลุ่มแกนนำสั่งการก่อเหตุรุนแรงในมาเลเซีย โดยฟอกเงินผ่านร้านทอง ร้านขายสินค้าเสื้อผ้า ส่งเข้าทางมาเลเซีย ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๓๐ ล้านบาท จนนำไปสู่การจับกุมร้านทอง บ้านเกาะตา อ.สุไหงปาดี และร้านประเสริฐอาภรณ์ เทศบาลอำเภอสุไหง โก – ลก ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 
            ขบวนการก็ใช่จะน้อยหน้า อิทธิพลมีตั้งระดับผู้ใหญ่บ้านถึงนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๕๕ หลังการจับกุม กำนันดัง ตำบลลุโบ๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายมะรอนิง  จาโก ก็เกิดเหตุระเบิด ระเบิดบริเวณสี่แยกหน้าสาธารณสุข จังหวัดปัตตานี วันที่  ๙  กุมภาพันธ์ ๕๕  ทันที ส่งผลมีผู้บาดเจ็บ  ๑๕  คน เสียชีวิต ๑ คน ที่สำคัญกลิ่นยาบ้ามิทันจางหาย จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร โกตาบารู เข้าจับกุมนายซอบรี   หะยีสามะแอ และ นายอาลียะ  แยการีสง  พร้อมยาบ้าเกือบ ๔  หมื่นเม็ด ปืนเอ็ม ๑๖ จำนวน ๑ กระบอก และปืนลูกซองยาว ๕ นัด จำนวน ๑ กระบอก ซึ่งนายซอรี   หะยีสามะแอ มีพี่ชายที่เป็นกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงระดับมือประกอบระเบิดระดับพระกาฬที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการตัวคือนายไฟซอล   หะยีสามะแอ หลังจากนั้น  ๒๕  กรกฎาคม ๕๕ ตำรวจภูธรโกตาบารู ชุดจับกุมยาเสพติดโดนระเบิดคาร์บอมระหว่างเดินทางกลับจากคุ้มครองรักษาความปลอดภัย ครู เสียชีวิต  ๕  นาย บาดเจ็บ ๑ นาย
           ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่น คดีที่ถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนแกล้งลืมคือ ผู้ก่อเหตุรุนแรงลอบสังหาร นายมุกตาร์   กีละ   หัวหน้าพรรคประชาธรรม ผู้ซึ่งประชาชนรู้ดีว่าคนผู้นี้รณรงค์ต่อต้านเรื่องยาเสพติดในพื้นที่อย่างหัวชนฝาไม่ยอมใครและเป็นที่ชื่นชอบจนนำมาซึ่งฐานเสียงที่มากขึ้นจนมีแนวโน้มจะชนะถึงระดับประเทศ และต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งถูกชาวบ้านยิงตายในเวลาใกล้เคียงพร้อมอาวุธปืนโดยผู้สังหารนายมุกตาร์ฯ นั้นเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มบ้านกูจิงรือปะนั่นเอง
           และหลักฐานสำคัญที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงให้ความมั่นใจว่า ขบวนการกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด คือการเข้าจับกุม และยึดทรัพย์เครือข่ายของตระกูล เปาะดาเอาะ ซึ่งมีทรัพย์สินทั้งบ้าน ที่ดิน รถยนต์ และทองคำ มากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท   และพบหลักฐานสำคัญคือการโอนเงินจากขบวนการยาเสพติดให้กับผู้นำขบวนการก่อเหตุรุนแรงในประเทศมาเลเซียปีละไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท โดยใช้นามว่า “อาเยาะซู” และมีการเดินทางไปมอบเงินด้วยตัวเองถึงมือ มะแซ  อูเซ็ง  ทุกปี
             ทั้งนี้หน่วยงานความมั่นคงยังพบหลักฐานการซื้ออาวุธให้กลุ่มกองกำลัง RKK และการจ่ายค่าตอบแทนเป็นยาเสพติดโดยปืน ๑ กระบอกที่ได้จากเจ้าหน้าที่แลกยาบ้าได้ ๑ ถุง หรือเงินสดในราคา ๒๐,๐๐๐  บาท และการที่หน่วยงานความมั่นคงต้องนำ ปปช. และ DSI มาร่วมด้วยเพราะพบหลักฐานในเรื่องการออกเงินกู้  การกว้านซื้อที่ดิน หวยเถื่อนทั้งมาเลเซีย และไทย น้ำมันเถื่อน บ่อนการพนัน และอาวุธ ซึ่งทั้งหมดฟอกเงินผ่านธนาคาร, ร้านค้าทองคำ, ร้านรับแลกเงิน, ร้านขายผ้า และในมาเลเซียคือธุรกิจร้านกาแฟหรือเครือข่ายขายตรง ทั้งหมดคือผลประโยชน์ที่กลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงได้รับปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า  ๑,๐๐๐  ล้านบาท
            เมื่อกองกำลังปฏิวัติมีอาวุธในมือ มีกำลังทหารที่สั่งการเคลื่อนไหวอย่างเสรี มีระเบิด เป็นอาวุธทุกครั้งที่มีการก่อเหตุ ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจทหาร บ้านเมือง จะโฟกัส ไปที่กลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรง ทั้งไล่ติดตาม แม้ตั้งด่านตรวจก็เพ่งเล็งที่ตัวบุคคลเป้าหมาย จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มค้ายาเสพติดเคลื่อนไหว โยกย้ายจำหน่ายได้เสรีจนธุรกิจยาบ้าเฟื่องฟูที่สุดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ใครเอาของไปไม่จ่ายก็ตาย ใครแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับเครือข่ายคนนั้นตาย เมื่อการสังหารเจ้าหน้าที่เอาอาวุธมาแลกยาได้ ประชาชนไม่กล้าปิดปากเงียบ เมื่อมีจำนวนเงินมากมหาศาลจากการค้ายาบ้าก็ปล่อยเงินกู้ร้อยละ ๒๐ ใครเปี้ยวตาย เปิดบ่อนการพนัน ค้าหวยเถื่อน  น้ำมันเถื่อน รวมถึงเงินทุนซื้อเสียงเมื่อมีการเลือกตั้งทุกระดับโดยมี RKK เป็นกองกำลังสนับสนุนเหมือนกับพรรคฝ่ายค้านพรรคหนึ่งในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะการบังคับ ข่มขู่  กว้านซื้อที่ดินสวนยางพาราโดยมีนอมินีบังหน้า    ซึ่งมีข้อมูลค่ามหาศาลแบบไม่มีใครกล้าขวาง
      สุดท้ายการกระทำของกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่อ้างว่าปฏิวัติเพื่อประชาชนนั้น หาใช่อุดมการณ์หรือนักรบของประชาชนวีระบุรุษฟาตอนีแต่ประการใด หากนั่นคือองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ (Organnized Crime) หรือ มาเฟีย (Mafia) หรือกลุ่มคนหรือสมาชิกกลุ่มคน ที่อยู่อาศัยเงื่อนไขบางประการรวมตัวกันขึ้นประกอบมิจฉาชีพ ในการทำมาหากินเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง และสุดท้ายก็คือคนมาลายู ลูกหลานมาลายูมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้แหละที่จะทุกข์ร้อน     เจ็บซ้ำอย่างแสนสาหัส ประชาชนต้องลำบากทุกข์เข็ญหาได้ประโยชน์ใดเลยจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มเผด็จการมุสลิมที่อ้างว่าทำเพื่อคนมาลายู แต่ที่สาหัสคือลูกหลานมลายูต้องตกเป็นทาสยาเสพติด ขาดการศึกษาหมดอนาคต สุดท้ายก็ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการที่อ้างว่าทำเพื่อมาลายูปัตตานี
               จากปัญหาที่ซับซ้อนในมิติขององค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกองกำลังทหารติดอาวุธ RKK ขับเคลื่อนควบคุมประชาชน หน่วยงานความมั่นคงจึงกำหนดยุทธศาสตร์     การแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนเป็น ๑ ในยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และจากความพยายามของฝ่ายความมั่นคงร่วมกัน      ทุกภาคส่วนที่ลงความเห็นจากทุกเวทีเสวนา ทุกกลุ่มชุมชนที่ว่าขณะนี้ปัญหายาเสพติดเป็นภัยคุกคามระดับต้นฯ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกภาคอื่นก็ด้วยปัจจัยของกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนที่กล่าวมาข้างต้น ล่าสุดจากการขับเคลื่อนร่วมกันของรัฐบาล และผู้นำศาสนาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สงขลา และ สตูล ที่มองเห็นปัญหาว่าลูกหลานกำลังออกห่างจากศาสนา และมัวเมาในยาเสพติดจนตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้หวังดี จึงได้รวมตัวกันกำหนดปฏิญญาปัตตานี ๒๕๕๕ ณ โรงแรม ปาร์ควิว รีสอร์ท อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี โดยใช้ศาสนาอิสลาม เป็นข้อปฏิบัติ และข้อห้าม
                จากภัยคุกคามของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภัยของยาเสพติด จนเป็นองค์กรอาชญากรรมสร้างความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับประชาชน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO), องค์กรท้องถิ่น, ประชาชนทั่วประเทศ และพี่น้องมุสลิมมาลายู ต้องตื่นจากหลุมพราง และกับดักของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเสียที หันหน้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาพิษภัยของ ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความจริงใจ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดแต่เพียงลำพัง เพราะผลลัพธ์สุดท้ายผู้ที่ได้เสียจากการแก้ไขปัญหาหรือปล่อยปะละเลยไม่สนใจ เอาแต่โยนความผิดให้ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเดียว ผู้ที่ต้องรับกรรมประสบแต่ความทุกข์ยากลำบาก คือประชาชนพี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนมลายูมุสลิม ลูกหลานมลายูทั้งหลายที่ถูกหลอกใช้ครอบงำ โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่จะเข้ามาปกครอง มาลายูปัตตานีด้วยระบบเผด็จการมุสลิม
บินหลาดง  ยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น