วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

“RKK ในสายตาชาวโลก”



ช่วงที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักได้เสนอบทความวิเคราะห์วิจารณ์การกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีขบวนการ BRN Coordinate อยู่เบื้องหลังว่าเป็นการกระทำที่คุกคามสิทธิมนุษยชน  ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกระทำสิ่งผิดกฎหมายบริเวณชายแดนไทยมาเลเซีย

       อยากจะขอยกตัวอย่างบทความซึ่งเขียนโดยนาย Brad  Adams บรรณาธิการข่าวภูมิภาคเอเชีย สำนักข่าวรอยเตอร์ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้นำเหตุการณ์ที่คนร้ายมุ่งเป้าหมายไปที่โรงเรียน เด็กและครูมาเปิดเผย อย่างเช่นเหตุการณ์สังหารนายคมสัน โฉมยง ครูโรงเรียนบ้านบองอ อ.ระแงะ เหตุการณ์ระเบิดบริเวณโรงเรียนใน อ.บาเจาะ อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ และ อ.ระแงะ  จ.นราธิวาส ทำให้ครูและเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังได้นำเหตุการณ์ที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์อื่นๆ เช่น  ใช้ลูกระเบิด M-๗๙ ยิงเข้าไปในบริเวณงานเทศกาลของ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในร้านค้าที่เปิดขายสินค้าในวันศุกร์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ก่อนที่จะจุดระเบิดซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต ๖ รายบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเหตุการณ์การสังหารตัดศีรษะและเผาศพนายต่วนดาออ ต่วนสุหลง ที่ อ.บันนังสตา  จ.ยะลา ในห้วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา

        นาย Adams ได้กล่าวว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตอบโต้รัฐบาลไทยพุทธ เป้าหมายเหล่านั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ก่อเหตุจะอ้างเช่นนี้ไม่ได้  เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศห้ามมิให้กระทำการอันเป็นภัยคุกคามต่อการศึกษาอันเป็นรากฐานสำคัญและความปลอดภัยของเด็ก ห้ามกระทำในลักษณะแก้แค้นเพื่อนมนุษย์หรือทารุณกรรมต่อศพ รวมทั้งห้ามการใช้วัตถุระเบิดซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของสนธิสัญญาเหล่านี้
          ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่สำนักข่าวต่างประเทศนำพฤติกรรมเช่นนี้มาเปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอันเป็นการลบล้างความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ว่า รัฐบาลไทยได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย กีดกันสิทธิคนต่างเชื้อชาติ เช่นเดียวกับข้อระแวงสงสัยของบรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

     เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ความรุนแรงทั้งหลายล้วนมาจากฝีมือของขบวนการเอง ถ้าหากมองถึงยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และนโยบายการปฏิบัติทุกขั้นตอน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่มียุทธศาสตร์และนโยบายในการปฏิบัติใดๆ  ที่จะส่งผลออกมาในลักษณะก่อให้เกิดความสูญเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามหากปฏิบัติตามได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์สุขร่วมกันทั้งสิ้น  หากจะมียกเว้นอยู่บ้างก็เฉพาะแต่ผู้คิดร้าย ฝักใฝ่อยู่กับการสร้างความเดือดร้อนโดยไม่ลดละเท่านั้น
     เพราะแม้แต่คนกลุ่มนี้    ภาครัฐก็ยังหาช่องทางเพื่อเปิดโอกาสให้กลับเนื้อกลับตัว เลิกการกระทำดังกล่าวเสีย  หากเคยปรากฏหลักฐานว่าเคยเป็นผู้กระทำความผิดมาก่อน ก็ยังสามารถต่อสู้ได้ตามกระบวนการของกฎหมาย  ภายใต้กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  จะเห็นว่าถ้าใช้ช่องทางนี้ในการต่อสู้ จะไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้นไม่ว่าชีวิตหรือทรัพย์สินก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้  ควรจะต้องอาศัยอยู่ด้วยความสงบสุขโดยไม่ต้องหวั่นเกรงภัยร้ายที่จะเกิดจากการกระทำของน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง แต่เหตุที่เขาเหล่านั้นยังไม่ยอมรับโอกาสอันดีที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ต่างหาก จึงต้องถูกเพ่งมองจากสายตาชาวโลกที่ติดตามสถาน การณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดต่อเนื่องว่าเป็นการกระทำที่คุกคามสิทธิมนุษยชน  ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ (ตัวจริง) และยังคงพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองโดยวิธีการต่าง ๆ แต่ในที่สุดแล้ว  ยิ่งสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความไม่ชอบธรรมให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น   มิใช่เฉพาะต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกเขาเท่านั้น  แม้แต่ในสายตาชาวโลกก็ไม่แตกต่างกัน

     นี่เป็นบทสรุปว่า ความพยายามที่จะสร้างภาพความขัดแย้ง และความรุนแรงที่รัฐบาลไทยมีต่อชนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนใต้ออกไปสู่สายตาชาวโลกของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกตัวเองว่า RKK เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและให้องค์กรระหว่างประเทศยื่นมือมาแก้ไขปัญหา ได้อวสานจบสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว
ที่มา  http://www.southpeace.go.th/th/Article

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

จากสงครามฝิ่นแผ่นดินจีนถึงน้ำกระท่อมมอมเมาเยาวชน กับเหลือบนกพิราบที่ต้องจับตา



    การรับรู้ความเป็นไปของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนทั่วไปทั้งในพื้นที่สามจังหวัดและพื้นที่อื่นของประเทศรวมถึงประชาคมโลกนั้น หากไม่ใช่ผู้ที่ประสบเหตุด้วยตนเองเฉกเช่นคนในพื้นที่แล้ว ล้วนได้รับข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาในประเด็นของการนำเสนอทั้งทิศทางของความรุนแรง ความน่าสะพรึงกลัวหวาดหวั่น ขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ของประชาชน หรือในแง่ความร่วมมือร่วมใจในการสร้างสันติสุข ความเบื่อหน่ายของประชาชนจากการก่อเหตุของขบวนการ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตามความคิดของตนเองโดยเหล่านักเขียนคอลัมนิสต์ต่างๆ ที่สื่อออกไป ล้วนสร้างการรับรู้ในมุมมองที่หลากหลายทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องให้แพร่กระจายผ่านสื่อของตนไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ซึ่งเป็นผู้รับสารได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสื่อที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน๊ตที่มีเป็นจำนวนมากไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของผู้นำเสนอได้

และเมื่อตรวจสอบไม่ได้ “ท่านที่อ้างตัวว่าเป็นสื่อเหล่านั้นจึงมีเสรีที่จะนำเสนอในทุกเรื่องทุกประเด็นโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ”

         จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้แรงขับเคลื่อนของสื่อนั้นหากนำเสนออย่างถูกต้องตรงไปตรงมาก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสารในการได้รับข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อนำเสนออย่างถูกต้อง และถ้าเป็นข่าวสารที่มุ่งสร้างความร่วมมือสร้างความรักความสามัคคีของคนในพื้นที่ ข่าวนั้นจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยระดมสรรพสิ่งที่เป็นตัวแปรให้เกิดความสงบสันติได้ แต่หากเป็นการนำเสนอโดยมุ่งหวังให้เกิดภาพลบ แอบแฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในกลุ่มคนหรือบุคคลโดยใช้สถานการณ์ภาคใต้ที่หาทางออกได้ยากยิ่งนี้ล่ะ เรื่องแบบนี้ย่อมส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด

และแน่นอนว่าสื่อใดๆ ที่ประพฤติเยี่ยงนั้นย่อมมีความเลวร้ายยิ่งกว่า

          เมื่อวานนี้ได้เห็นสื่อที่นำเสนอทางเว็บไซต์ชื่อภาษาอังกฤษที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แปลตรงๆ ตัวได้ว่า “จับตาดูภาคใต้” นำเสนอบทความชื่อตอน “จากสงครามฝิ่นแผ่นดินจีน ถึง(สงคราม)น้ำกระท่อมแผ่นดินปาตานี” ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อหาโดยรวมแล้วในฐานะที่อยู่กับงานเขียนมาพอสมควรต้องขอชมเชยว่าผู้เขียนมีการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ใช้สำนวนภาษาและข้อมูลประกอบได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งนั้นเป็นคุณสมบัติของนักเขียนที่ดี แต่เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาที่นำเสนอออกมาแล้วต้องตกใจ ที่ว่าตกใจในที่นี่มิได้ตกใจว่าสถานการณ์ยาเสพติดประเภทน้ำกระท่อมในบ้านเราบานปลายไปจนยากจะแก้ไข แต่ตกใจที่ผู้เขียนท่านนั้นได้ใช้ภาวะภัยแทรกซ้อนของยาเสพติดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่มาใช้ในการกล่าวหาหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ซึ่งในความหมายที่พยายามสื่อออกมานั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหมายถึงหน่วยงานใด

แต่ที่แน่ๆ การกล่าวอ้างนำเสนอเพียงด้านเดียวแบบนี้ย่อมมิใช่วิสัยของสื่อที่มีจรรยาบรรณ

         ยิ่งกว่านั้นยังอ้างอิงในลักษณะ “จับแพะชนแกะ” ถึงเหตุการณ์สงครามฝิ่นในประเทศจีนว่ามีความคล้ายคลึงกัน ตบท้ายด้วยการเรียกร้องให้เยาวชน (ซึ่งกำลังเมาน้ำกระท่อม) ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าเรื่องของปัญหายาเสพติดกับการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปาตานีจะถูกดึงมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

แต่ถ้าจะกล่าวว่ามีบางกลุ่มใช้ยาเสพติดมอมเมาเยาวชนให้ฮึกเหิมแล้วลุกขึ้นมาต่อสู้น่าจะฟังแล้วเข้าใจง่ายกว่า

ว่าไปแล้วปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะน้ำกระท่อมหรือที่เอาส่วนผสมอื่นๆ มาใส่เพิ่มเติมจนเรียกว่า “สี่คูณร้อย”นั้นเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขมาโดยตลอด บทบาทหลักเท่าที่เห็นก็หนีไม่พ้นหน่วยงานภาครัฐกับผู้นำศาสนาที่ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น แต่ด้วยผู้ที่เสพติดส่วนใหญ่เป็นเยาวชนซึ่งเมื่อเห็นเพื่อนเสพก็เกิดความอยากลอง และเมื่อเกิดการเสพติดแล้วการแก้ไขปัญหาด้วยการบำบัดเพียงอย่างเดียวจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ดังนั้นการให้ความรู้ถึงโทษภัยโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัว ครูอุสตาช ผู้นำศาสนาหรือแม้แต่เพื่อนๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของหน่วยงานเพียงลำพัง 

             หรือแม้แต่องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สามารถชี้นำโดยการให้ความรู้ การรณรงค์หรือการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อเยาวชนรุ่นต่อไปให้เติบโตอย่างมีคุณค่าเช่น องค์กรนักศึกษาในพื้นที่ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้ด้วยเช่นกัน แต่เท่าที่เห็นปัญหานี่ยังถูกละเลยจากปัญญาชนคนหนุ่มสาวที่นี่ คงเห็นเพียงกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ที่เขาและเธอเหล่านั้นมักร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรที่ใช้พลังนักศึกษาเรียกร้องในสิ่งที่องค์กรนั้นๆ ต้องการโดยเยาวชนเหล่านั้นมิได้เฉลียวซักนิดด้วยคิดว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง น่าเสียดายที่หากได้ใช้พลังนี้ตามบทบาทที่เหมาะสมและควรจะเป็นแล้วน่าจะเกิดผลดีต่อพื้นที่ในหลายด้านไม่มากก็น้อย และปัญหาน้ำกระท่อมอาจกลายเป็นปัญหาที่แก้ได้อย่างไม่ยากนัก

        จากบทความที่กล่าวข้างต้นซึ่งผู้เขียนอ้างว่าเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนซึ่งหากเป็นจริงผู้เขียนท่านนั้นคงเป็นนักศึกษาและคงทราบดีถึงรากเหง้าของปัญหาน้ำกระท่อมในพื้นที่ดีว่ามีมาอย่างยาวนานก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงจะปะทุขึ้น การนำข้อมูลจากที่นั้นนิดที่นี่หน่อยมาประติดประต่อกันแล้วสรุปเอาข้างเดียวว่าเพราะส่วนนั้นหน่วยนี้เป็นต้นเหตุและมีวัตถุประสงค์ทำลายเยาวชนโดยมิได้ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจึงไม่น่าจะยุติธรรม นอกเสียจากว่าท่านผู้เขียนจะมีเจตนาสื่อถึงอย่างนั้นจริงๆ

          ความพยายามใดๆ ที่จะชี้นำประชาชนโดยใช้วาทะกรรม “การติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชน” นั้นสามารถทำได้ในทางสร้างสรรค์ เช่น การให้ความรู้ในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน หรือการยอมรับในวิถีและความเชื่อที่แตกต่างจะช่วยให้บรรยากาศความรักความสามัคคีมีมากยิ่งขึ้นมิใช่หรือ การเรียกร้องให้ประชาชนรักแผ่นดินถิ่นเกิด ลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติดเพื่อแผ่นดินของตนมิใช่สิ่งผิด แต่การเรียกร้องให้เยาวชนซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่รุ่นต่อไปลุกขึ้นมาต่อสู้ในความหมายของผู้เขียนท่านนี้มิใช่เท่ากับเป็นการเร่งให้แผ่นดินนี้ลุกเป็นไฟหรือ ทุกวันนี้ประชาชนยังเดือดร้อนไม่พอกันหรืออย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ได้อย่างไร ผู้เขียนขอฝากคำถามนี้ไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านเพราะพลังของประชาชนเท่านั้นที่จะดับไฟที่รุมเร้าแผดเผาพื้นที่จังหวัดชายแดนแห่งนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          ฝากถึงกองบรรณาธิการสำนักข่าว “จับตาดูภาคใต้” ด้วยว่าควรได้พิจารณาซักนิด เรื่องนี้มิใช่เพียงเป็นการเปิดโปงตัวตนที่แท้จริงของใครบางคนเท่านั้น แต่เป็นการเปิดโปงทิศทางและคุณภาพการทำหน้าที่ในฐานะสื่อของสำนักข่าวของท่านด้วย 

พิราบแดนใต้

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร หนทางสู่สันติ? ฝันที่ (ไม่) มีวันเป็นจริง



      ในช่วงที่ผ่านมากระแสการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาของบ้านเราซึ่งคงหนีไม่พ้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อทั้งระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และได้มีกลุ่มบุคคลได้ใช้ความแตกต่างนี้มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความแตกแยกโดยการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับความขัดแย้งไปสู่สากล และสร้างความชอบธรรมในการจัดการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่ในการปกครองตนเองโดยการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยต่อเนื่องทุกวิถีทางโดยใช้แนวทางสันติวิธีเป็นหลักแต่ดูเหมือนว่าความพยายามสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อหยุดปัญหาเหล่านั้นจะยังคงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ขณะที่ความพยายามของกลุ่มบุคคลข้างต้นก็ยังใช้ทุกวิถีทางทั้งการปฏิบัติการทางทหารและทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติแล้วสร้างกระแสให้ขยายตัวไปถึงระดับสากลเพื่อขอการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศต่างๆ ในการแยกตัวเพื่อปกครองตนเอง


 ด้วยปัญหาที่ถูกมองว่าอาจไร้ทางออก เขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานครจึงถูกจุดประกายและหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย ภายใต้การขับเคลื่อนเพื่อหาเสียงสนับสนุนโดยองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมมือกับองค์กรทางวิชาการ จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ ร่วมถึงมีการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานครมาเป็นที่เรียบร้อย โดยชูธงให้เห็นข้อดีของการเป็นเขตปกครองพิเศษคือ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ในฐานะ “พลเมืองไทย” ทุกคนสามารถร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบยั่งยืน ด้วยกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชนโดยใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญไทย เพื่อกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พึ่งพาตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางชาติพันธ์ ศาสนา ภูมินิเวศน์และวัฒนธรรม ใช้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และร่วมกันออกแบบวัฒนธรรมอันดีทางการเมืองไทยในอนาคตเพื่อคนไทยรุ่นต่อไป ซึ่งนั้นนับว่าเป็นเหตุผลที่ดีตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


 ต่อประเด็นข้างต้น หากมองในด้านของการยุติปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่แล้ว นักวิชาการหลายท่านต่างออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานครเป็นการหาจุดสมดุลระหว่างรัฐไทยที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่ฝ่ายขบวนการก่อการร้ายต้องการแบ่งแยกดินแดนแล้วก่อตั้งเป็นประเทศเอกราช หากประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการกำหนดอนาคตการเมืองการปกครองของตนเองในรูปแบบปัตตานีมหานครได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ไปด้วย เนื่องจากฝ่ายขบวนการไม่สามารถหามวลชนไปสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนได้ ซึ่งประเด็นสำคัญคือเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกดินแดน ประกอบกับการแก้ไขปัญหาความต้องการในการปกครองตนเองในลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศที่ประสบปัญหานี้ก็ได้ใช้แนว ทางนี้ในการแก้ปัญหาก็สามารถทำให้คลี่คลายลงได้ด้วยความพอใจของทุกฝ่าย นี่เป็นอีกมุมมองหนึ่ง


    ในอีกมุมมองเห็นว่าการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น โดยใช้หลักการจังหวัดจัดการตนเองโดยประชาชนมีส่วนร่วมนั้นเป็นแนวทางที่ดีและสามารถแก้ปัญหาพิเศษเฉพาะพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมามีข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่มีพรรคการเมืองหนึ่งชูนโยบายการกระจายอำนาจโดยใช้โมเดล “นครรัฐปัตตานี” เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ซึ่งนี่อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ได้ส่วนหนึ่งว่าต้องการการปกครองตนเองในลักษณะเขตปกครองพิเศษหรือไม่


  ขณะที่ความชัดเจนเรื่องความต้องการหรือไม่ต้องการปกครองตนเองของประชาชนในพื้นที่ยังไม่เด่นชัด ความพยายามขององค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวสร้างกระแสสนับสนุนยังคงดำเนินต่อไป ประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับว่ากระแส “กลัวการกระจายอำนาจ” ที่เกิดขึ้นในใจทั้งฝ่ายรัฐไทยและประชาชนในพื้นที่นั้นยังคงมีอยู่แน่นอน ด้วยเพราะพื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ หากเดินหน้าจัดตั้ง “ปัตตานีมหานคร” หรือโมเดลการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษอื่นในชื่อใดๆ ก็ตาม จะกลายเป็นการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งบรรดาผู้ที่จะเข้ามาบริหารนั้นแน่นอนว่าด้วยการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่ที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วงชิงอำนาจในการเข้ามาบริหาร ผู้ที่จะสามารถเข้ามามีอำนาจได้ก็คือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองสูงในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงของนักการเมืองในพื้นที่กับขบวนการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเกื้อกูลกันอยู่ หากมีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้นในอนาคตอาจส่งผลบานปลายให้เกิดการ “แบ่งแยกดินแดน” ได้ในท้ายที่สุด


    อย่างไรก็ดีการเดินหน้าเรื่องปัตตานีมหานครโดยการขับเคลื่อนของรัฐบาลปัจจุบันในช่วงแรกของการเข้ามาบริหารประเทศนั้นยังไม่มีความความคืบหน้าเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะปัญหาต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าให้ต้องตามแก้เกิดมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเพราะการไม่ขานรับนโยบายเขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานครของพรรคการเมืองนั้นในช่วงการเลือกตั้งก็ตาม แต่ที่แน่ๆ กระแสการกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังกลับมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่ฝ่ายการเมืองทั้งในท้องถิ่น ระดับชาติหรือแม้แต่แกนนำฝ่ายกองกำลังที่เคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ กำลังชิงไหวชิงพริบในการเข้ามามีบทบาทเพื่อสถาปนาฐานอำนาจทางการเมืองของกลุ่มของพรรคตนเองเพื่อปูทางไปสู่ชัยชนะทั้งทางการเมืองหรือการเข้าคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จด้วยกองกำลังที่ตนมีอยู่


   ไม่ว่าการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะใช้โมเดลการปกครองพิเศษแบบใด จะสามารถดำเนินการให้เป็นรูปร่างตามแนวทางภายใต้รัฐธรรมนูญได้ในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ หรือเมื่อจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร การคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและนำมาวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เพราะเหตุผลหลักที่ทุกฝ่ายบอกเป็นเสียงเดียวกันคือต้องการสร้างความสงบสุขให้เกิดมีขึ้นในพื้นที่แห่งนี้มิใช่หรือที่เป็นสาระสำคัญที่แต่ละฝ่ายนำมากล่าวอ้างสร้างความชอบธรรมและต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่หากจัดตั้งแล้วไม่ส่งผลให้เกิดความสงบสุข ตรงกันข้ามกลับเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทั้งกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายและขบวนการก่อเหตุรุนแรง ความใฝ่ฝันถึงความสงบสันติที่ประชาชนในพื้นที่ไขว่คว้าโหยหามายาวนานคงเป็นไปได้ยากนัก
ซอเก๊าะนิรนาม