วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

BRN นักสู้ อาชญากรหรือผู้ก่อการร้าย

            สถานภาพใดที่ BRN ควรมี ? ยังคงเป็นคำถามที่ได้แย้งกันอยู่ องค์กรอิสระ (NGO) บางองค์กรสื่อภาพของคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่และวีรบุรุษในสายตาสมาชิกBRN แต่ในสายตาของประชาชนและชาวโลกแล้ว เป็นได้เพียงแค่อาชญากรและผู้ก่อการร้ายภายในประเทศเท่านั้น สมาชิกระดับปฏิบัติการของ BRN ที่เรียกตนเองว่า RKK ซึ่งอ้างตนว่าเป็นนักสู้ แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมความรุนแรงมากมายที่คนกลุ่มนี้เกี่ยวข้อง อาทิ การโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ได้แก่ พลเรือน พระสงฆ์ ครู รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำให้สถานภาพของคนเหล่านี้ห่างไกลจากคำว่านักรบ  

ลอบวางระเบิดพระภิกษุขณะกำลังบิณฑบาต
         การฆ่าพระสงฆ์เป็นสิ่งที่แม้แต่อดีตแกนนำพลูโลยังต่อต้าน และกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าอายและคาดไม่ถึงว่า ผกร.รุ่นใหม่จะคิดและทำ การฆ่านาวิกโยธินเมื่อปี 48 ที่ ต.ตันหยงลิมอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเข้าข่าย การก่อการร้ายแบบลูกผสม กล่าวคือ สังหารพวกเดียวกันแล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อผู้ก่อเหตุรุนแรงกราดยิงร้านน้ำชาแล้วร้องตะโกนป่าวประกาศจนทั่วหมู่บ้านว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ก่อเหตุ นาวิกโยธินผู้เคราะห์ร้ายเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ จึงถูกป้ายสีว่าเป็นมือปืน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกหยามเกียรติ โดยให้สตรีมุสลิมปัสสาวะรดใบหน้า ทรมานต่างๆ นานา เช่น นำรังมดแดงมาใส่บนร่ายกายและสังหารอย่างทารุณ สภาพศพทูกแทงด้วยเหล็กแหลมหลายที่ บริเวณข้อมือมีรอยฉีกขาดจนเห็นกระดูก หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าเกิดจากการดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด ทำให้ข้อมือครูดกับพื้นอย่างแรงติดต่อกันหลายครั้ง

           มีการฆ่าครูซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอ ทั้งที่ครูทำหน้าที่ให้การศึกษาลูกหลานพี่น้องไทย จีน และมลายู โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา เหตุการ์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ การฆ่าครูจูหลิง ปงกันมูล ครูฉัตรสุดา นิลสุวรรณ และครูชลธี เจริญชล ครูจูหลิงฯ ถูกกลุ่มสตรีมุสลิมจับเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ปล่อยสมาชิก RKK ที่ถูกจับ เนื่องจากภรรยาของ RKK รายนั้นได้ออกเสียงตามสายในหมู่บ้านว่าสามีซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ต่อมากลุ่มวัยรุ่นได้เข้าไปในที่กักขังครูจูหลิงและทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนกรณีครูฉัตรสุดาฯ เสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ เหตุการณ์เกิดปี 56 ที่ อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส จากคำสารภาพของผู้ต้องหาได้ใช้ปืนสั้นขนาด .22 มม. ยิงเข้าที่กลางหน้าอกผู้ตายจนรถเสียหลัก แต่ยังไม่เสียชีวิตทันที ครูฉัตรสุดาฯ พยายามเอาชีวิตรอดโดยคลานหนี ผู้ก่อเหตุรุนแรงจึงหยุดรถจักรยานยนต์แล้วเข้ายิงซ้ำจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ มิใช่การกระทำของนักรบอย่างที่ประกาศตัว 

ยิงครูเสียชีวิตขณะรับประทานอาหารในโรงเรียน
 ส่วนการเสียชีวิตของครูชลธีฯ เสียชีวิตเนื่องจากพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกศิษย์ที่เข้าร่วมขบวน การยุติการต่อสู้โดยใช้อาวุธและเข้ามอบตัว สร้างความไม่พอใจให้กับขบวนการจนถูกขู่เตือนหลายครั้งก่อนถูกสังหารและโจรกรรมรถยนต์ โดยค้นหากุญแจจากศพอย่างใจเย็น การฆ่ากรณีนี้หวังผลให้เกิดความเกลียดชังระหว่างพี่น้องไทย – พุทธและมลายู – มุสลิม รวมทั้งสร้างอคติระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ 

       นอกจากเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติยังมีการสังหาร จนท.ระดับสูง เช่น การสังหารผู้พิพากษารพินทร์ เรือนแก้ว เมื่อปี 47 กลางใจเมืองปัตตานี ขณะรถติดไฟแดงในเวลากลางวันต่อหน้าแม่ของผู้ตาย และกรณีล่าสุดคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งเสียชีวิตขณะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลไก่เบตงเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเบตง

          การฆ่ายกครัวพี่น้องไทย – พุทธ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อปี 53 ราษฎรชาวไทยอีสานได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาซื้อสวนยางที่ บ.ฮแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ นราธิวาส และประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็ง ครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ตา ยายและลูกชายหญิง 2 คน จำนวน 6 คน ทั้งหมดถูกบังคับให้นั่งคุกเข่าแล้วจ่อยิงที่ศรีษะทีละคน ยายก้มลงกราบเพื่อขอขีวิตและตายในท่ากราบ เด็ก 2 คนใช้ช่วงเวลาจ่อยิงวิ่งหนีจากที่เกิดเหตุมาขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านซึ่งได้นำเด็กไปซ่อนในตู้เสื้อผ้าทำให้รอดชีวิต หลังจากผู้ก่อเหตุตามมาตรวจค้นในบ้านเพื่อนบ้าน เมื่อสังหารครอบครัวดังกล่าวแล้วคนร้ายได้จุดไฟเผาบ้าน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวคือ นายมะรอโซ จันทรวดี ขณะนี้เด็กทั้งคู่ได้เดินทางออกนอก 3 จังหวัดชายแดน ไปพักพิงกับญาติและไม่กล้ากลับเข้าพื้นที่อีก การฆ่าล้างครัวเช่นนี้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวในหมู่พี่น้องไทย-พุทธ เป็นการบังคับให้ต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่ แม้ว่าประชาชนเหล่านี้จะมีสิทธิและความชอบธรรมในการยึดครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตาม ขบวนการจึงอยู่ในสถานภาพอาชญากรและผู้ก่อการร้ายในประเทศ มิใช่นักรบหรือผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง 

      จากประจักษ์พยานหลักฐานและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อหวังทำลายชีวิตและบรรยากาศความสงบสุขสามารถสรุปได้ว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดน มีสถานภาพเป็นได้แค่เพียงอาชญากรและผู้ก่อการร้ายภายในประเทศเท่านั้น แม้จะมีความพยายามนำเสนอภาพบุคคลเหล่านี้ในฐานะนักสู้หรือวีรบุรุษก็ตาม 

ซอเก๊าะ นิรนาม

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โต๊ะสันติภาพไทย-BRN เห็นร่วมลดเหตุรุนแรงเดือนรอมฏอน

เลขา สมช.เผยผลการพูดคุยสันติภาพไทย-BRN ราบรื่น ทั้ง 2ฝ่ายเห็นร่วมลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฏอน ให้แต่ละฝ่ายเสนอมาตรการที่ชัดเจน ยัน ‘ปกครองพิเศษ’ เป็นเรื่องปลายทาง ยังไม่ถึงเวลาคุย


เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 เวลา 21.30 น. (ตามเวลาในประเทศมาเลเซีย) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (INTERCONTINENTAL) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นว่า บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปอย่างดีมาก ราบรื่น ได้รับความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหา

พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ประเด็นหลักๆ ที่มีการพูดคุยคือ เรื่องที่ทางบีอาร์เอ็นมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ จึงได้ชี้แจงไปถึงการดำเนินการสืบสภาพข้อเท็จจริง แสวงหาคำตอบของ 5 ข้อนั้น และปัญหาที่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะความชัดเจนของข้อเรียกร้องที่เป็นภาษาต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งทางขบวนการรับข้อนี้ไป เพื่อที่จะส่งรายละเอียดชี้แจงแถลงไขของเนื้อหา 5 ข้อ ให้มีความชัดเจนก่อนเดือนรอมฎอน มาให้คณะฝ่ายไทยเพื่อที่จะทำความเข้าใจ และแสวงหาคำตอบร่วมกันต่อไป

พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ประเด็นที่สอง คือเรื่องลดเหตุความรุนแรง ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดนของชาวมุสลิมจะลดเหตุความรุนแรง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะกลับไปเตรียมมาตรการเพื่อมาเสนอร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรในช่วงเดือนรอมฎอน

“ขั้นตอนคือ จะให้ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ดำเนินการไปให้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เพื่อให้ได้คำตอบมาในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง แต่จะรีบดำเนินการ เพราะอย่างน้อยควรจะมีคำตอบในชั้นต้นซึ่งกันและกัน” พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า สำหรับเดือนรอมฎอนเป็นเดือนสำคัญ เป็นเดือนแห่งความประเสริฐ จึงเป็นคำตอบร่วมกันว่าในเดือนนี้ จะเป็นรูปธรรมในการลดเหตุความรุนแรง และได้มีการนัดพูดคุยอีกครั้งหลังเดือนรอมฎอน แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน โดยฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน

“การพูดคุยในครั้งนี้เมื่อเทียบกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าสูง มีตัวชี้วัดว่าจะลดความรุนแรงก็คือเดือนรอมฎอน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเสนอมาตรการมาว่า ฝ่ายเราจะลดการปฏิบัติการอย่างไร ฝ่ายขบวนการจะลดการปฏิบัติการอย่างไร แต่แน่นอนว่ามาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนก็คงต้องมีอยู่ ซึ่งมาตรการฝ่ายเราท่านแม่ทัพภาค 4 มีแผนเตรียมเอาไว้แล้ว” พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของเดือนรอมฎอนก็คือจะต้องไม่มีเหตุ แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้น ก็จะต้องไปลงลึกว่า มูลเหตุจากเรื่องใด เพราะมีการสื่อสารร่วมกันแล้วว่าจะลดเหตุรุนแรง ส่วนมาตรการฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้น ในช่วงเดือนรอมฎอนก็คงจะต้องเพลาลงหรือหยุดลงไป แต่มาตรการในการรักษาความปลอดภัยพี่น้องประชาชน สถานที่ต่างๆก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หยุดไปทุกอย่าง

หลังจากการแถลงข่าว พล.ท.ภราดร ได้นำแถลงการณ์ร่วมหลังการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น มาเปิดให้บรรดาสื่อมวลชนดู โดยมีเนื้อหาดังนี้

การประชุมหารือเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คณะผู้เข้าร่วมฝ่ายไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น นำโดยอุสตาซฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าสำนักงานประสานงานต่างประเทศของกลุ่มบีอาร์เอ็นในมาเลเซีย โดยมีดาโต๊ะ ซรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการหารือ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย

ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในหลักการเพื่อลดเหตุการณ์ความรุนแรงตลอดเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้ สอดคล้องกับคุณค่าอันประเสริฐของเดือนรอมฏอน และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ ความตั้งใจ และความเชื่อถือของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ให้ปลอดจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตลอดเดือนรอมฏอน ทั้งสองฝ่ายจะได้นำเสนอรูปแบบและวิธีการในเวลาอันใกล้นี้

ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะส่งคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อ ตามที่ได้มอบให้ฝ่ายไทยแล้ว หลังจากที่ได้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากฝ่ายบีอาร์เอ็นแล้ว ฝ่ายไทยรับที่จะตัดเตรียมข้อมูลป้อนกลับเสนอไปยังฝ่ายบีอาร์เอ็น ผ่านผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสแรกต่อไป

การประชุมหารือเพื่อสันติภาพครั้งที่ 4 นี้ ได้ดำเนินการท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตร และได้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ทั้งสองฝ่ายได้แสดงถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ที่มีต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการพูดคุยครั้งต่อไปหลังจากเดือนรอมฎอน



ยันยังไม่ถึงเวลาคุย ‘ปกครองพิเศษ’

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าวันเดียวกัน (13 มิ.ย.56) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทยนำโดย พล.ท.ภราดร ได้ร่วมประชุมคณะฝ่ายไทยที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเน็นต้อล เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับคณะผู้แทนฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 15 คน

โดยประชุมเสร็จในเวลาประมาณ 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 09.30 น.ตามเวลาไทย จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียนำคณะผู้แทนฝ่ายไทยออกเดินทางไปร่วมพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นทันที ซึ่งเป็นสถานที่ลับห้ามผู้สื่อข่าวติดตามไปด้วย

พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีสัญญาณบวกหลายอย่างระหว่างการเตรียมตัว คาดว่าจะได้ผลคืบหน้าบางอย่างที่เป็นรูปธรรมจากทั้งสองฝ่ายหลังการพูดคุยเพื่อสันติภาพในวันนี้

พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น ฝ่ายไทยต้องการที่จะให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในเรื่องของการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ โดยจะนำผลการสำรวจความเห็นและการจัดเวทีต่างๆในพื้นที่มายืนยัน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่

ส่วนข้อเสนอที่ให้ลดการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เป็นข้อเสนอแนะจากพื้นที่ ซึ่งจะนำเสนอในการพูดคุยครั้งนี้ด้วย

ส่วนข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า คาดว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยด้วย ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องถามให้ชัดเจนว่า แต่ละข้อมีความหมายว่าอย่างไร

ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การปกครองพิเศษเป็นเรื่องปลายทาง ยังไม่น่าจะถึงเวลาที่จะคุยเรื่องนี้ ประเด็นหลักๆ วันนี้ จะเป็นเรื่องของการลดเหตุรุนแรง

พล.ท.ภราดร ยังได้ตอบคำถามในประเด็นที่จะพูดคุยเรื่องการตั้งกลไกการตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยหรือไม่ ว่า ประเด็นหลักๆ ของการพูดคุยในวันนี้ คือต้องให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องของการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่

ส่วนผลสำรวจของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ออกมาว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติดสูงมากด้วยนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ก็จะต้องนำไปพูดคุยด้วย เนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่

ส่วนผู้ที่จะร่วมคณะพูดคุยในครั้งนี้ พล.ท.ภารดร กล่าวว่า ยังอยู่ในกระอบเดิมคือ ไม่เกินฝ่ายละ 15 คน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ มีทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รอง ผอ.ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ดร.มะรอนิง สาลามิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น เส้นทางสู่สันติภาพหรืออหังการโจรใต้


      พลันที่การเริ่มใช้แนวทางสันติวิธีโดยการพูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช. และผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ.56 กระแสวิพากษ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำความสงบสุขกลับมาสู่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะความหวังในการใช้ชีวิตแบบปกติสุขของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุรุนแรงที่ยื้ดเยื้อมาถึง 9 ปี พร้อมด้วยหลายพันชีวิตที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตไปก็เริ่มต้นขึ้น แต่ถึงวันนี้การพูดคุยสันติภาพผ่านไปแล้วถึง 3 ครั้ง  เค้าลางแห่งสันติภาพที่หลายฝ่ายคาดหวังยังคงไม่ปรากฏแต่อย่างใด  ตรงกันข้ามการเรียกร้องซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้คำว่า “ข้อเสนอ” กลับเป็นเหมือนสิ่งฉุดรั้งไม่ให้กระบวนการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายได้

          ด้วยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่ฝ่ายขบวนการเสนอต่อรัฐบาลไทยนั้น หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการในและนอกพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนหรือแม้แต่การพูดคุยในร้านน้ำชายังคงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปไม่ได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อเสนอข้อ 4 ให้ปล่อยตัวแนวร่วมที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไข  เพราะนอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนแล้วยังขัดต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งเป็นผู้สูญเสียด้วย

          ลองจินตนาการดูซิว่า คนที่ฆ่าพ่อแม่พี่น้องของประชาชนในพื้นที่ สร้างความสูญเสียให้กับบ้านเมืองอย่างสุดประมาณ แทนที่จะต้องชดใช้กรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำอย่างเลวทรามไว้  แต่สามารถรอดพ้นอาญาบ้านเมืองเหมือนไม่ได้เคยกระทำผิด  ประชาชนผู้สูญเสียเหล่านั้นจะมีความรู้สึกอย่างไร สภาพจิตวิทยาสังคมจะย่ำแย่ขนาดไหน  สำคัญที่สุดไม่ว่าอาชญากรเหล่านี้จะกระทำด้วยอุดมการณ์ตามที่กล่าวอ้างหรือด้วยเหตุผลใดๆ แต่สิ่งที่กลุ่มขบวนการนี้ได้กระทำคือผู้สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์

          ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องคงรับรู้จากการแสดงทัศนะของส่วนต่างๆ ได้จากการนำเสนอของทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกว่าไม่มีใครเห็นด้วย เพราะแม้แต่สื่อที่มีพฤติกรรมสนับสนุนฝ่ายขบวนการเองก็ยังแสดงความเห็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้

          การชิงความได้เปรียบอย่างน่ารังเกียจของขบวนการก่อนการพูดคุยในวันที่ 13 มิ.ย.56 โดยผู้แทนขบวนการได้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านเว็ปไซต์ยูทูปติดต่อกันหลายตอน ดูจะยืนยันความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันของขบวนการได้เป็นอย่างดี  สิ่งที่ชี้ชัดคือการพูดคุยที่เกิดขึ้นนี้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องใช้การพูดคุยบนโต๊ะตามกระบวนการที่จัดวางไว้เท่านั้น  แต่ขบวนการกลับใช้วิธีเปิดเผยผ่านสื่อด้วยข้อมูลหลักคือ ย้ำความต้องการในข้อเสนอ 5 ข้อ และกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่โดยเฉพาะการยิง 6 ศพที่ปัตตานี สิ่งนี้ชี้ชัดถึงความไม่จริงใจใน 2 ประเด็น

          ประเด็นแรกข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของขบวนการไม่มีข้อใดเลยที่กล่าวถึงแนวทางในการลดการใช้ความรุนแรงการหยุดก่อเหตุร้ายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน  ทั้งๆ ที่ขบวนการเองเป็นฝ่ายกระทำมาอย่างต่อเนื่อง  ตรงกันข้ามกลับเร่งเพิ่มความถี่ในการก่อเหตุมากขึ้น เพื่อกดดันฝ่ายรัฐบาลให้ยอมรับข้อเสนอที่นอกจากไม่มีใครเห็นด้วยแล้วยังเอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการและแนวร่วมเพียงฝ่ายเดียว และที่น่าจะเข้าตัวผู้แถลงคือนายฮาซัน ตอยิบ กรณีกล่าวว่ากระบวนการสันติภาพควรเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อล้างบาปหรือความโลภของคนใดคนหนึ่ง  แล้วข้อเสนอข้อที่ 4 มิใช่เครื่องมือล้างบาปให้กับกลุ่มขบวนการหรือ นี่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง

          ประเด็นที่สอง ความพยายามในการบิดเบือนข้อมูลการก่อเหตุผ่านโซเซียลมีเดียเพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาคมโลก เช่น กรณียิง 6 ศพ ก็ปรากฏชัดเจนแล้วว่าอาวุธที่คนร้ายใช้นั้นมีหลักฐานการเชื่อมโยงคดีโดยเฉพาะกระสุนและปลอกกระสุน พบว่าปืนที่ใช้จำนวน 1 กระบอก  มีหลักฐานปรากฎเคยใช้ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงการใช้ยิงนายยะโก๊ป  หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีและบุตรสาว เมื่อ 11 ต.ค.53  รวมทั้ง 6 ศพล่าสุดซึ่งมีเด็กอายุเพียง 2 ขวบเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม  ดังนั้นการกล่าวในลักษณะข่มขู่ตอบโต้ กล่าวหารัฐไทยว่าใช้ความรุนแรงกับประชาชนปาตานี จึงเป็นเพียงต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อยกระดับกลุ่มของตนให้ได้รับการยอมรับเท่านั้น  ซึ่งในความเป็นจริงขบวนการบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความแตกแยกภายในขบวนการนั้นเองที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงโดยไม่เลือกเป้าหมายมาโดยตลอด


          จากบทเรียนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในโลกนั้นบางแห่งต้องใช้เวลายาวนาน และด้วยความจริงที่ว่าการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร  ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ทั้งสองฝ่ายหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้วิธีเยี่ยงผู้มากด้วยเล่ห์กลของผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็น

  ด้วยข้อเสนอที่เห็นแก่ตัวและการกล่าวหาโดยให้ข้อมูลด้านเดียวย่อมมิใช่วิถีของผู้ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีของผู้ที่เจริญแล้ว  หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความแข็งกร้าวไม่ใช้กระบวนการพูดคุยอย่างถูกต้อง  บทบาทและการกระทำของบีอาร์เอ็นวันนี้จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความพยายามในการสร้างสันติภาพ แต่เป็นความอหังการชอบใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายมากกว่า