วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฉันผิดด้วยหรือที่ตั้งใจสั่งสอนศิษฐ์ให้เป็นคนดี ใยต้องมาเข่นฆ่า


            การเสียชีวิตของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรายที่ 162 คือ นายอธิคม ติวงศ์ ครูโรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นอีกเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ภายใต้กระแสความพยายามในการสร้างสันติภาพที่มองเห็นลิบๆ ที่ปลายอุโมงค์ โดยผู้แทนทั้งสองฝ่ายจากรัฐบาลไทยและฟากฝั่งขบวนการที่ถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติลงได้โดยเร็ว ในทางกลับกันที่ขบวนการยังมีการลอบสังหารผู้บริสุทธิ์อย่างไม่เว้นวันพร้อมกับยุทธวิธีสร้างมวลชนด้วยการโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รู้ๆ กันว่าฝ่ายขบวนการต้องการคุมมวลชนให้ได้ภายใต้กระบอกปืน

          ในภาวะแห่งการบิดเบือนที่ไร้เหตุผล การเข่นฆ่าผู้คนด้วยข้อกล่าวอ้างที่ฟังอย่างไรก็ไม่สามารถยอมรับได้ของกลุ่มคนที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชนไทยมุสลิมในพื้นที่ด้วยการใช้ความรู้สึกของตนเองโดยนำหลักศาสนามากล่าวอ้างแล้วนั้น ย่อมไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากประชาชนในพื้นที่หรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศที่มีความเป็นกลาง

          ก็จะมีใครจะยอมรับได้เล่า...ในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นกำลังเข่นฆ่าผู้ที่มุ่งมั่นตั้งใจสั่งสอนลูกหลานให้มีความรู้ หรือบางครั้งเด็กๆ เหล่านั้นก็เป็นลูกหลานของพวกเขาเอง  แล้วเขาต้องการอะไร อุดมการณ์? ผลตอบแทน? หรืออื่นๆ ที่ยากจะคาดเดา  แต่อย่างหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนและปฏิเสธไม่ได้คือ
          ไม่มีกลุ่มก่อการร้ายใดในโลกที่ทำร้ายบุคลากรทางการศึกษา....แบบนี้

          ข้ออ้างของการฆ่าครูอธิคม หรือแม้แต่ครูท่านอื่นๆ ที่ผ่านมา เพื่อต้องการชดเชยชีวิตของอุซตาสท่านหนึ่งคือ นายอับดุลรอฟา ปูแทน จากแผนความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกโดยใช้ชีวิตของผู้ที่ได้รับการยอมรับทางสังคม  จึงเป็นเพียงความพยายามเบี่ยงเบนเจตนาที่แท้จริงของการกระทำเลวทรามหวังเพียงมุ่งไปสู่การสร้างความแตกแยกในสังคมตามความนิยมความรุนแรง....ก็เท่านั้น 

          น่าแปลกที่กรณีท่านยะโก๊บ  หร่ายมณี อิหม่ามนักพัฒนาผู้ยึดมั่นแนวทางสันติกลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการสังหารคนเป็นผักปลาโดยขบวนการเหมือนที่เคยซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดว่า..ทำไม? 
          เพราะท่านอิหม่ามยะโก๊บไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้ายฆ่าคนไม่เลือก?
          เพราะจุดยืนในการสร้างสันติภาพซึ่งขัดกับความต้องการหลักของขบวนการ

          หรือเพราะการขัดขวางไม่ให้กลุ่มองค์กรนักศึกษาและองค์กรอิสระที่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์บางองค์กรเข้ามาจัดกิจกรรมปลุกระดมประชาชนให้เกิดความแตกแยกโดยแอบอ้างความอยุติธรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในมัสยิดกลางปัตตานีก่อนการถูกลอบสังหารเพียงหนึ่งสัปดาห์  


          คำถามคือ....ทำไมกรณีอิหม่ามยะโก๊บไม่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้าง  แต่กรณีนายอับดุลรอฟา ต้องถึงกับนำมาเป็นเหตุผลในการฆ่าคนเพื่อตอบโต้  เพราะอิหม่ามยะโก๊บเป็นผู้ขัดขวางขบวนการต้องถูกกำจัดทิ้ง และนายอับดุลรอฟาคือผู้อยู่ในขบวนการที่ต้องเชิดชูและล้างแค้นเพื่อควบคุมมวลชนให้อยู่ในอาณัติด้วยความหวาดกลัว  อย่างนี้...ใช่หรือไม่

          ครูอธิคมคงเป็นอีกท่านหนึ่งที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความขัดแย้งอย่างสิ้นคิดของกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งแม้ว่าวันนี้คุณครูเหล่านี้กำลังเสียสละตั้งใจด้วยอุดมการณ์ของความเป็นครูในอันที่สอนสั่งลูกศิษฐ์ให้เป็นคนดี  มีอนาคตที่ดีตามบริบทของการดำรงชีวิต  ซึ่งไม่แตกต่างจากแนวทางของอุสตาซที่พร่ำสอนให้ลูกหลานใช้หลักศาสนาที่ดีมาเป็นแนวทางดำรงชีวิต  ผิดด้วยหรือที่ครูจากถิ่นฐานบ้านเกิดเดินทางไกลเพื่อมาสั่งสอนเด็กๆ ด้วยมุ่งหวังในสิ่งดีๆ  เพราะเหตุใดความปรารถนาดีของครูต้องได้รับผลตอบแทนด้วยกระสุนปืน  ใครตอบได้ช่วยบอกที

          ขอเป็นกำลังให้คุณครูทุกท่าน ...ด้วยจิตคารวะ
         

ซอเก๊าะ  นิรนาม

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'นิมุ' ตำหนิ 'ฮัสซัน' พูดโยนความผิดให้ฝ่ายไทย




ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ตำหนิ "ฮัสซัน" พูดโยนความผิดให้ฝ่ายไทย ชี้ สูญเสีย "ยะโก๊บ" ทำให้ผู้มีความรู้เกิดความหวาดระแวง ส่งผลกระทบการพูดคุยสันติภาพ

นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวการปลด นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ออกจากหัวหน้าการพูดคุยสันติภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสับสนและไม่สบายใจ โดยคนในพื้นที่ต้องการบุคคลที่มีความพร้อมเพื่อการพูดคุยสันติภาพ ทั้งของฝ่ายไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น

ทั้งนี้ นายนิมุ กล่าวตำหนิ นายฮัสซัน หลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากฝ่ายไทย ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นเอง เป็นฝ่ายที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

สำหรับการสูญเสีย นายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานีนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ระบุว่า ทำให้ผู้มีความรู้เกิดความหวาดระแวง และจะกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพอย่างแน่นอน

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อีหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี วีรบุรุษที่กำลังถูกลืม


            แล้วการเสียชีวิตของ นายยะโก๊บ  หร่ายมณี  อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกลอบสังหารโดยกลุ่มขบวนการอย่างอุกอาจกลางตลาดนัด จะบังติกอ ก็กำลังถูกลบเลือนไปจากความทรงจำ ตามที่หลายฝ่ายคาดคิด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกับการเสียชีวิตของ แกนนำขบวนการซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างมากมาย คำถามคือ “ทำไมถึงเป็นเช่นนี้”

          การให้การเยียวยาของส่วนราชการในช่วงที่ผ่านมาภายหลังการเสียชีวิตของอิหม่ามยะโก๊บ ดูจะเป็นเหมือนสูตรสำเร็จและเป็นรูปแบบที่หน่วยงานภาครัฐได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แต่ในความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียแล้วนั้น เงินคงไม่สามารถมาชดเชยความรู้สึกและทดแทนเติมเต็มชีวิตครอบครัวในอนาคตได้ ที่สำคัญใครจะกล้ารับประกันได้ว่าครอบครัวของอิหม่ามยะโก๊บจะไม่ถูกคุกคาม โดยผู้ก่อเหตุรุนแรงอีกต่อไป นี่สมควรแล้วหรือกับผู้ที่อุทิศตัวเพื่อสังคม กับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้พื้นที่นี้มีความสงบลงด้วยหลักศาสนาที่ถูกต้อง

          ย้อนหลังกลับไปดูการถูกวิสามัญฆาตกรรมของนายมะรอโซ  จันทรวดี กับพวก เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในคราวนั้นเกิดกระแสการสร้างวีรบุรุษ โดยผู้ก่อเหตุรุนแรงและแนวร่วม ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่คนที่ได้ก่อเหตุร้ายฆ่าคนมามากมายมีประวัติการก่ออาชญากรรมรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ การฝังศพโดยไม่อาบน้ำศพที่พี่น้องมุสลิมเรียกว่า “ชะอีด” ได้ถูกสร้างภาพขึ้นเพื่อให้มะรอโซเป็นวีรบุรุษของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่แห่งความขัดแย้งนี้อย่างสมบูรณ์  ในทางกลับกันอิหม่ามยะโก๊บ ซึ่งก็เป็นวีรบุรุษในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่รักสันติกับกำลังถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เหตุการณ์พึ่งผ่านมาเพียงไม่นาน

          กระแสการสร้างข่าวของฝ่ายขบวนการกรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะโก๊บครั้งนี้แน่นอนว่าไม่พ้นการป้ายสีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดีการป้ายสีครั้งนี้ไม่สามารถจุดชนวนขึ้นได้ ด้วยการคัดค้านทางสังคมอย่างรุนแรง ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทางราชการด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ของอิหม่ามทำให้ความพยายามของฝ่ายขบวนการไม่เกิดผล

          แต่ไม่ว่าอย่างไรประเด็นสำคัญคือ การหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ น่าจะเป็นการตอบคำถามของสังคมได้ดีที่สุด ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายรัฐ หรือขบวนการ หากมองว่านี่เป็นการสูญเสียของสังคมพี่น้องมุสลิมแล้ว นี่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในการขาดผู้นำที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ต้องการสร้างความสงบ ตามแนวทางสันติ และหากมองว่าการสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียของบ้านเมืองที่กำลังต้องการบุคลากรที่เข้าใจและมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาแล้ว นี่จะเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

          ถ้าการเสียชีวิตของอิหม่ามยะโก๊บในครั้งนี้ จะช่วยให้หลายๆคนตาสว่าง หรือช่วยให้พี่น้องในพื้นที่ได้ครุ่นคิดว่าแนวทางของสันติภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร ท่านยะโก๊บคงยินดีที่ความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านภายใต้การสละชีวิตตนเองจะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและมั่นใจได้ว่าจะมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของท่านอีกต่อไป แต่หากการเสียชีวิตของท่านเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมแล้ว นี่จะเป็นการสูญเสียชีวิตบุคลากรที่ทรงคุณค่าทางสังคมอย่างสูญเปล่า

          ใครฆ่าท่านยะโก๊บ ขบวนการ หรือฝ่ายรัฐ  ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยต้องหาผู้ที่ลงมือสังหารท่านมาลงโทษให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นก็ยังคงค้างคาใจกันอยู่อย่างนี้ พร้อมด้วยคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้

ซอเก๊าะ  นิรนาม

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“รอมฎอนมืด” สังหารอีหม่ามยะโก๊บ หรือหลักศาสนาจะใช้ไม่ได้กับโจรใต้


         พลันที่สิ้นเสียงปืนดังลั่นกลางตลาดนัดจะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี พร้อมๆ กับการเสียชีวิตของนายยะโก๊บ  หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี  ความรู้สึกของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งที่เป็นไทยพุทธและมุสลิมต่างรับรู้ถึงความสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าทางศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชนทั่วไป  พร้อมด้วยคำถามที่ตามมามากมายในทำนอง ใครเป็นคนทำ ทำทำไมและหนทางสันติภาพที่ทุกคนโหยหาจะมาถึงได้อย่างไรในเมื่อแม้แต่อิหม่ามซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของพี่น้องมุสลิมต้องมาถูกกระทำเช่นนี้

          ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ช่วงค่ำวันที่ 11 ต.ค.2553  อิหม่ามยะโก๊บเคยถูกคนร้ายลอบยิงที่หน้าบ้าน แต่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด เพราะกระสุนโดนเพียงหมวกกะปิเยาะห์  แต่การถูกลอบยิงจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดในครั้งนั้น  ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจปฏิบัติตนในฐานะผู้นำศาสนาที่ดีลดน้อยถอยลงไปแต่อย่างใด  บทบาทในการเป็นอิหม่ามที่ต่อต้านการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาและการใช้ความรุนแรง  รวมทั้งการแสดงความเห็นผ่านสื่อในเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอย่างต่อเนื่อง  จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตกเป็นเป้าหมาย  

อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความเป็นได้มากที่สุดคือ  หลังถูกลอบยิงครั้งก่อน  ในชั้นสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอิหม่ามยะโก๊บได้เคยชี้รูปของนายอดินัน  มะสาอิ (เสียชีวิต) และ นายนัชรุดดิน แวบือราเฮง ว่าเป็นคนร้ายที่ลอบยิงตนเอง  แต่ขอร้องไม่ให้บันทึกคำให้การเพื่อออกหมายจับ  เนื่องจากตนเป็นอิหม่ามเกรงจะเกิดข้อครหาว่าปลักปรำผู้อื่น    
จึงเป็นเสมือนการปล่อยเสือเข้าป่าด้วยเจตนาดีของท่าน

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 2 ส.ค.56 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายนัชรุดดิน แวบือราเฮง สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ซึ่งมีหมายจับ ป.วิอาญา ถึง  8 หมาย หนึ่งในนั้นคือคดีสะเทือนขวัญ เหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 6 ศพ ในพื้นที่ บ.ตะลุโบ๊ะ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานีเมื่อ 1 พ.ค.56 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลการสอบสวนถึงคดีลอบยิงอิหม่ามยะโก๊บในครั้งนั้นด้วย  แต่ยังไม่ทันได้ผลคืบหน้าอิหม่ามก็มาถูกลอบสังหารเสียก่อน

จากกรณีข้างต้นประเด็นเดียวที่ฟันธงได้คือ “ฆ่าก่อนความจริงปรากฏ” เพราะนายนัชรุดดินนั้นได้รับความไว้วางใจจากขบวนการให้รับหน้าที่มือระเบิดต่อจาก นายมะซอเร ดือรามะ เนื่องจากนายมะซอเรฯ ได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปลายปี 54 ที่ผ่านมา โดยนายนัซรุดดินฯ รับหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ซึ่งความเกี่ยวพันนี้ขบวนการไม่อาจปฏิเสธได้  แต่นายนัชรุดดินกลับเป็นผู้ต้องหาที่ลอบยิงอิหม่ามยะโก๊บ  ซึ่งหากอิหม่ามยะโก๊บชี้ตัวยืนยันภายหลังจากจับกุมครั้งนี้  นอกจากนายนุชรุดดินจะต้องตกเป็นผู้ต้องหาอย่างแน่นอนโดยมีผู้เสียหายชี้ตัวอย่างชัดเจนแล้ว  ขบวนการจะต้องเสียมวลชนครั้งยิ่งใหญ่  เพราะคงตอบคำถามพี่น้องมุสลิมไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องการสังหารอิหม่ามยะโก๊บ
นี่น่าจะเป็นขนวนเหตุหนึ่งของการถูกลอบสังหารครั้งนี้

          อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่อิหม่ามเป็นผู้นำศาสนาที่ต่อต้านการบิดเบือนหลักศาสนาอันดีงาม  ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับข้างฝ่ายขบวนการที่นำศาสนามาบิดเบือนเพื่อให้แนวร่วมหลงผิดเข้าร่วมขบวนการ  การปล่อยไว้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการต่อสู้โดยใช้ศาสนาที่ถูกบิดเบือนมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว 


และหากจะมีใครซักคนที่ต้องถูกสังหารเพื่อสร้างกระแสความหวาดกลัวและยอมเชื่อฟังในคราวเดียวกันให้เกิดขึ้นกับแนวร่วมที่ถูกข่มขู่ใช้งานแล้ว  อิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี คือเหยื่อที่คุ้มค่าและได้ผลมากที่สุด 

          เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ซึ่งจะสร้างความหวาดกลัวและให้ความร่วมมือของผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้อีกนาน

          แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด “อิหม่ามยะโก๊บ” ผู้นำศาสนาที่ยึดมั่นในแนวทางตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในมุมของศาสนาและการแสดงจุดยืนในการสร้างสันติในเมฆหมอกแห่งความขัดแย้งได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลเลาะฮฺแล้ว  ในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเห็นถึงความตั้งใจจริงของอิหม่ามยะโก๊บมาโดยตลอดขอให้ความดีของท่านได้เกื้อหนุนให้ท่านไปสู่โลกอาคีเราะห์อย่างที่ท่านตั้งใจด้วยเถิด..... ด้วยจิตคารวะ  อามีน      


ซอเก๊าะ  นิรนาม

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จากสงครามป้ายสี ถึงวลี “ทหารออกไป” แผนร้าย BRN บนเส้นทางสันติภาพจอมปลอม

   

    แล้วการคาดการณ์ของนักวิชาการและฝ่ายความมั่นคงถึงแนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยภายหลังการระงับการลงนามในข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่ม BRN และรัฐบาลไทยอย่างกระทันหันด้วยข้ออ้างในความไม่พร้อมของกลุ่ม BRN ก็เป็นจริง

          ไม่ว่าการ “เบี้ยว” การลงนามร่วมกันในครั้งนี้จะเกิดจากความไม่พร้อมจริงๆ ตามที่กล่าวอ้างหรือมีเหตุผลอื่นใดแอบแฝงซึ่งอาจคาดเดาไปถึงการ “ล้มโต๊ะพูดคุยสันติภาพ” ของกลุ่ม BRN ก็ตาม  อย่างไรก็ดีอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซียกลับเป็นฝ่ายแถลงซะเองว่ารัฐบาลไทยและกลุ่ม BRN มีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงระหว่างเดือนรอมฎอนร่วมกันทั้งๆ ที่ไม่มีผู้แทนของทั้งสองฝ่าย  ซึ่งยังคงเป็นที่กังขาอยู่ว่าเจตนาที่แท้จริงของมาเลเซียต่อเหตุการณ์ในประเทศไทยจะเป็นไปในทางใดแน่ 

แต่ที่แน่ๆ ถึงวันนี้เจตนาที่เริ่มปรากฏชัดว่าเป็นแผนของ BRN ที่ได้ถูกวางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อยกระดับเหตุรุนแรงในประเทศไทยไปสู่สังคมโลกอีกครั้ง  ภายหลังจากที่ได้ทำสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่งคือ การทำให้ BRN เป็นที่รู้จักและยอมรับว่าเป็นคู่ขัดแย้งที่มีตัวตนของรัฐบาลไทย

          การก่อเหตุอย่างมีเงื่อนงำหวังสร้างผลกระทบเพื่อเดินเกมส์รุกด้านการเมืองต่อไปอย่างถี่ยิบ  โดยการสังหารเป้าหมายประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ประกันความสำเร็จได้ว่าเมื่อก่อเหตุแล้วจะสามารถสร้างกระแสปลุกปั่นมวลชนได้อย่างแน่นอนได้แก่ กลุ่มผู้นำศาสนาที่เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในพื้นที่  ครูตาดีกา  ประชาชนไทยมุสลิมและพุทธ

ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เคยร่วมอุดมการณ์เดียวกันที่มีแนวโน้มว่าได้ให้ข้อมูลของขบวนการกับฝ่ายรัฐ  ที่ถูกจับกุมตามหมาย ป.วิอาญาซึ่งอยู่ระหว่างการประกันตัว และผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตามหมายป.วิอาญาเช่นกันแต่ศาลพิพากษายกฟ้องก็ถูกสังหารไปหลายคน นัยว่าเป็นกลุ่มที่ขบวนการไม่สามารถไว้วางใจได้อีกต่อไป 
5 กลุ่มเป้าหมายนี้ถูกแกนนำระดับปฏิบัติการสั่งการสังหารเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง

พร้อมกับการโฆษณาชวนเชื่อโหมประโคมข่าวลือทั้งแบบปากต่อปาก ใช้ป้ายผ้าติดทั่วพื้นที่กว่า 100 จุด ใช้สีสเปยร์พ่นบนพื้นถนน และใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดียทั้งสื่อสังคมออนไลน์  เว็บไซต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศบิดเบือนข่าวสารอย่างที่ทุกฝ่ายทราบกันดี  มุ่งประเด็นฟันธงว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยจนนำไปสู่วลีบนท้องถนน “ทหารออกไป”  


การยื่นหนังสือในทำนอง “ประท้วง” มาเลเซียโดย 4 เครือข่ายภาคประชาสังคมดูจะเป็นการรับลูกต่อภายหลังจากการก่อเหตุต่อเป้าหมาย 5 กลุ่มข้างต้นได้อย่างสอดคล้อง โดยการเรียกร้องให้มาเลเซียร่วมออกมาตรการคุ้มครองประชาชนมุสลิมในประเทศไทยให้ได้รับความปลอดภัย  แต่ด้วยเหตุผลที่ทุกฝ่ายต่างทราบดีถึง “มารยาท” ในการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างประเทศซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นสากล  จึงแน่ใจได้ว่า  งานนี้มาเลเซียคงไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายบูรณภาพเหนือดินแดนของไทยได้  หรือถึงได้ก็คงไม่อยากเข้ามายุ่ง

 เพราะในสภาพปัจจุบันมาเลเซียเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก   ความพยายามผลักดันให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงจึงไม่ใช่ความต้องการที่จะให้เหตุรุนแรงยุติ  แท้จริงแล้วเป็นความพยายามของกลุ่มปีกการเมืองขบวนการในคราบกลุ่ม NGO จอมปลอม รวมทั้งเครือข่ายต่าง ๆ ที่พยายามเสนอหน้ายกเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อหวังผลทางการเมือง  โดยไม่แคร์สายตาชาวโลกที่กำลังมองเกมส์บ้องตื้นนี้อย่างขบขัน เพราะไม่มีที่ไหนทำกัน

          ที่สำคัญเป็นการ “ละเมิดพิธีการระหว่างประเทศ” อย่างชัดเจน  การกระทำของเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้” จำเป็นสิ่งที่สมควรตำหนิ  เข้าทำนองเผาบ้านตัวเองยังไม่พอยังเรียกร้องให้คนอื่นเอาน้ำมันมาราดซ้ำ  อย่างนี้จะเรียกว่าทำเพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรมได้อย่างไร 

          แต่ที่แน่ๆ กลุ่มนักศึกษาภายใต้การสนับสนุนของกลุ่ม NGO เหล่านี้ไม่เคยออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เป็นความเดือดร้อนส่วนรวมที่เกิดจากการกระทำของขบวนการ  นอกจากคนของขบวนการถูกจับกุมหรือสังหาร  และมีความเคลื่อนไหวที่เอนเอียงชัดเจนจนเป็นที่รู้กันว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นปีกหนึ่งของขบวนการ ที่กำลังอยู่ในอาการกำเหริบ แข็งกร้าวจนแม้ภาครัฐยังแตะต้องไม่ได้  ขณะที่องค์กรที่มีบทบาทโดยตรงอื่นๆ ก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ด้วยต่างได้รับประโยชน์ร่วมในทางเดียวกัน

การก่อเหตุร้ายต่อเนื่องภายหลังจากเดินเกมส์การเมืองแล้ว ที่กำลังเกิดขึ้นโดยมุ่งเป้าหมายทำลายเศรษฐกิจด้วยการลอบเผาโรงงานยางปักษ์ใต้และอีกหลายจุดเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา เป็นอีกเกมส์หนึ่งที่ขบวนการได้ดำเนินต่อไปโดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้ทำสวนยางที่เป็นผู้รับกรรม โดยข้ออ้างเพื่อตอบโต้ที่ฝ่ายรัฐละเมิดข้อตกลงสันติภาพ  เป็นเหมือนความพยายามทิ้งไพ่ใบสุดท้ายของขบวนการในช่วงเดือนรอมฎอนเพื่อบีบให้รัฐบาลถอนทหารออกจากพื้นที่  ซึ่งกรณีนี้หลายฝ่ายประเมินแล้วยังไม่มีทางเป็นไปได้ในขณะที่ยังมีการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายขบวนการอยู่ในขณะนี้

เหตุรุนแรงในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกับความเดือดร้อน การสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนและฝ่ายเจ้าหน้าที่  คงต้องคอยดูกันต่อไปว่าสันติภาพที่ทุกฝ่ายโหยหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทยได้หรือไม่  แต่ขอตอบตรงนี้ในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ในเมื่อกลุ่ม BRN ยังคงหลับหูหลับตาเข่นฆ่าประชาชนแบบไม่เลือกเป้าหมาย ฆ่าได้แม้แต่พวกเดียวกันเพียงเพื่อต้องการป้ายสีอีกฝ่าย  ทำลายเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ซึ่งหาเลี้ยงปากท้องของประชาชนไปวันๆ อย่างนี้  หาก BRN บอกว่านี่คือหนทางสู่สันติภาพ มันคงเป็นได้เพียงสันติภาพจอมปลอมที่กลับกลอกโดยขบวนการและองค์กรภาคประชาสังคมฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเดียว  นี่จึงเป็นหนทางที่เห็นได้ชัดที่สุดในเวลานี้

ซอเก๊าะ  นิรนาม
การยื่นหนังสือในทำนอง “ประท้วง” มาเลเซียโดย 4 เครือ