วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

แกะรอยเอกสาร BRN เปิดสารพัดเงื่อนไขแลกหยุดยิง

 เป็นข่าวมานานกว่า 1 สัปดาห์ว่า "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ในฐานะคู่สนทนาของรัฐบาลไทยในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ได้ส่งคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อถึงมือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าเอกสารที่ส่งมามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง
brn 33
          นอกจากการนำเสนอแบบคลุมๆ ว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการ "เขตปกครองพิเศษ" คล้ายๆ กับกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แลกกับการยุติปฏิบัติการความรุนแรงทั้่งหมดในปีหน้า
          อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเอกสารฉบับเต็มของบีอาร์เอ็นกลับไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีข้อเรียกร้องย่อยๆ ประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ อีกมากมายหลายข้อ ซึ่งบางส่วนต้องให้รัฐสภารับรองด้วย
          "ทีมข่าวอิศรา" เปิดรายละเอียดคำชี้แจงข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เพื่อให้สังคมไทยได้ช่วยกันพินิจพิจารณา...
          ข้อ 1 การพูดคุยสันติภาพนี้เป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนของนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็น กับราชอาณาจักรไทย โดยตั้งอยู่บนเหตุผลว่า
          - บีอาร์เอ็นคือองค์กรปลดปล่อย เป็นตัวแทนของประชาชาติปาตานีมาเลย์ (Patani Malay nation หรือ bangsa)
          - บีอาร์เอ็นคือผู้ปกป้องสิทธิ์และผลประโยชน์ของประชาชาติปาตานีมาเลย์
          - บีอาร์เอ็นมีฐานะเป็นผู้ดูแลภารกิจและความต้องการของประชาชาติปาตานีมาเลย์

          ข้อเรียกร้องนี้อ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 32, 33 (เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล), 45, 46 (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น), 63, 64 และ 65 (เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม)
          รายละเอียดของข้อเรียกร้อง อธิบายเรื่องการเป็น "องค์กรปลดปล่อย" ว่าอ้างอิงจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพหรือเสรีภาพในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ การใช้ภาษา ดำเนินชีวิตตามแนวทางอิสลาม, เสรีภาพในสิทธิด้านความยุติธรรมและกฎหมาย, เสรีภาพที่จะไม่ถูกกดขี่ ดูหมิ่น ฆ่า ลักพาตัว และคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือตัวแทน, เสรีภาพในการเรียน ทำธุรกิจ เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์, เสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางสังคมและกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติ และมีสิทธิต่างๆ เหมือนคนเชื้อชาติไทย พร้อมย้ำว่าไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพราะไม่ได้ต้องการแยกดินแดนจากราชอาณาจักรไทย
          นอกจากนั้นคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นทั้ง 15 คน ต้องได้รับการยกเว้นจากหมายจับ ถ้ามีอยู่แล้วให้ยกเลิก พร้อมรับรองความปลอดภัยระหว่างอยู่ในเขตแดนไทย มีเสรีในการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ของการพูดคุย
          ข้อเสนอแลกเปลี่ยน คือ 1.จะหยุดปฏิบัติการต่อเป้าหมายอ่อนแอ หมายถึงพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ถืออาวุธรวมทั้งครู 2.หยุดปฏิบัติการต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในเขตชุมชน โรงงาน ห้างร้าน โดยทั้งหมดจะมีผลทันที
          ข้อ 2 บีอาร์เอ็นเห็นชอบให้แต่งตั้งรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยมีบทบาทดังนี้
          - ควบคุมการพูดคุยสันติภาพและรับประกันความสำเร็จของการพูดคุย
          - เพื่อให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากคนมลายูปาตานีและประชาคมระหว่างประเทศ
          - เพื่อให้มีสื่อกลางระหว่าง 2 ฝ่ายในการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปาตานี

          ข้อเรียกร้องนี้อ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 (ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐด้านการต่างประเทศ)
          รายละเอียดของข้อเรียกร้อง มาเลเซียจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคนกลางในอนาคตอันใกล้ทันทีที่การพูดคุยมีความมั่นคงและยกระดับสู่การเจรจาสันติภาพ, มาเลเซียคือประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นสมาชิกอาเซียน และสมาชิกโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม), มาเลเซียจะช่วยเหลือสนับสนุนการฟื้นฟูและการสร้างใหม่ของกระบวนการในภาคใต้ของไทย
          ข้อเสนอแลกเปลี่ยน จะไม่ปฏิบัติการต่อชุดคุ้มครองครู บนเงื่อนไขที่ว่าต้องปรับเปลี่ยนชุดคุ้มครองเป็นอาสาสมัครแทนทหารและตำรวจ, กองทัพต้องสับเปลี่ยนกำลังทหารที่ดูแลความปลอดภัยพื้นที่ทางเศรษฐกิจออกไป แล้วให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของเอกชนดำเนินการแทน (ข้อเสนอนี้จะไม่ทำทันที แต่เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่เสนอแผนเอาไว้)
          ข้อ 3 กระบวนการพูดคุยต้องมีพยานจากผู้แทนประเทศในอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทั้งสองฝ่าย (บีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย) ด้วยเหตุผลดังนี้
          - ความพยายามที่จะแก้ไขความขัดแย้งในปาตานีต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาคมมุสลิมจากนานาประเทศ
          - โดยปกติการพูดคุยและข้อตกลงสันติภาพใดๆ ควรต้องมีสักขีพยาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบและเชื่อใจร่วมกันระหว่างคู่สนทนา (รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น)
          - เพื่อรับรองความมั่นคงของการพูดคุยซึ่งได้รับการรับประกันจากทั้งสองฝ่าย

          ข้อเรียกร้องนี้อ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 82
          รายละเอียดของข้อเรียกร้อง ความเกี่ยวข้องของอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอ ในอนาคตอันใกล้จะเกิดขึ้นทันทีที่การพูดคุยมีความมั่นคงและยกระดับขึ้นเป็นการเจรจาสันติภาพ, เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบต่อกระบวนการสันติภาพ และจะทำให้เกิดความช่วยเหลืออย่างมากต่อการฟื้นฟูและสร้างกระบวนการในภาคใต้ของไทย
          ข้อเสนอแลกเปลี่ยน บีอาร์เอ็นจะให้คำมั่นอย่างเต็มกำลังกับการร่วมหาฉันทามติในทุกๆ การประชุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
          ข้อ 4 รัฐบาลไทยควรยอมรับการมีอยู่และอำนาจสูงสุดทางการปกครองของประชาชาติปาตานีมาเลย์บนแผ่นดินปาตานี โดยเหตุผลดังนี้
          - รากเหง้าของความขัดแย้งในปาตานีสืบเนื่องจากการเข้าครอบครองและการยึดเอาสิทธิต่างๆ ไปจากประชาชาติปาตานีมาเลย์
          - เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดใจหรือชะตาชีวิตตนเอง (self determination)
          - เป็นประเด็นของสิทธิทางการเมือง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การศึกษา และอัตลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรม

          ข้อเรียกร้องนี้อ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 (ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์), 30 (ความเสมอภาคกันในกฎหมาย), 32, 33, 39 และ 40 (สิทธิในกระบวนการยุติธรรม) ขณะที่สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และข้อตกลงร่วมกันในปัญหาการเมือง สังคม วัฒนธรรม ได้รับการอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 (สิทธิชุมชน) และมาตรา 78 (1) (2) (3) [ว่าด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น]
          รายละเอียดของข้อเรียกร้อง
          - รัฐบาลไทยต้องยอมรับประชาคมปาตานีมาเลย์ โดยการรับรองนี้ต้องเป็นวาระของรัฐสภา
          - บีอาร์เอ็นไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากราชอาณาจักรไทย เรื่องนี้ต้องถูกบรรจุเป็นวาระของรัฐสภาเช่นกัน
          - รายละเอียดของข้อเรียกร้องนี้จะได้รับการอภิปรายต่อไปหลังจากการหยุดยิงอย่างเป็นทางการประสบความสำเร็จ หรือได้สถาปนาขึ้นแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี
          - นิยามของสิทธิของชาวปาตานีมาเลย์ คือ "รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าเคยมีอาณาจักรอิสลามปาตานีก่อนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสยามในปี ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) พื้นที่ส่วนนี้ในปัจจุบัน คือ จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีดินแดนปาตานีอยู่จริงในฐานะรัฐๆ หนึ่ง มีการปกครองโดยชาวมาเลย์มุสลิม ดังนั้นปัจจัยนี้จึงอธิบายเหตุผลของความต้องการของประชาคมปาตานีมาเลย์ในสิทธิที่คนปาตานีมาเลย์ควรจะได้รับกลับคืนมา"
          - รัฐบาลไทยต้องให้โอกาสประชาคมปาตานีมาเลย์ในการบริหารพื้นที่ โดยจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region) ในเขตอธิปไตยของไทย ดังเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
          แน่ชัดว่าการปกครองตนเองอย่างมีขอบเขตนี้อยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย และไม่ใช่การแบ่งแยกจากอาณาเขตไทย ดังนั้นข้อเรียกร้องนี้จึงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย และเป็นความหมายของสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (The right for self determination)
          - รายละเอียดของข้อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองจะมีการอภิปรายต่อไปในภายหลัง แต่จะต้องรวมประเด็นเหล่านี้ด้วย 1.การรับรองต่อประชาคมปาตานีมาเลย์ 2.รูปแบบของเขตปกครองพิเศษ 3.ผู้แทนพิเศษในรัฐสภาไทย 4.ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษจากประชาคมปาตานีมาเลย์ 5.การบริหารเรื่องการปรับกำลังหรือเคลื่อนกำลังตำรวจไทยในเขตปกครอง 6.โควต้าของตำแหน่งราชการในเขตปกครอง 7.เรื่องเยาวชน และสำนักงานเกี่ยวกับเยาวชน 8.เสรีภาพสื่อ 9.ส่วนแบ่งรายได้ของรัฐและทรัพย์สินต่างๆ ของเขตปกครอง 10.การศึกษา

          ข้อเสนอแลกเปลี่ยน   
          - หยุดปฏิบัติการทั้งหมดกับกองทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ (ต้องหารือขั้นตอนกันต่อไป) 
          - กำลังของกองทัพภาคที่ 4 และตำรวจท้องถิ่นจะสามารถตั้งฐานได้ในจังหวัด แต่จำกัดการตั้งฐานขนาดใหญ่ และห้ามตั้งฐานในหมู่บ้าน
          - บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมด (ตามขั้นตอนที่ได้เสนอแผนไว้)
          - บีอาร์เอ็นพร้อมให้ข้อผูกมัดอย่างเต็มที่กับการกำหนดกรอบเวลาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ
          - บีอาร์เอ็นจะตกลงให้มีการหยุดยิงอย่างเป็นทางการในปี 2558 (ค.ศ.2015)
          - การหยุดปฏิบัติการทั้งหมดก่อนการเจรจาหยุดยิง เป็นไปตามตารางเวลา คือ 
            จ.สงขลา เริ่ม ม.ค.2557 
            จ.ยะลา เริ่ม เม.ย.2557 
            จ.นราธิวาส เริ่ม ก.ค.2557 
            จ.ปัตตานี เริ่ม ต.ค.2557

          ข้อ 5 บีอาร์เอ็นต้องการให้รัฐบาลไทยปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังทุกคนโดยเจ้าหน้าที่ไทยเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง และลบล้างหมายจับทั้งหมดของนักสู้ปาตานี ด้วยเหตุผลดังนี้
          - นักสู้ปาตานีเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชนของเขา ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน, นักสู้ปาตานีเป็นผู้สนับสนุนความยุติธรรม ไม่ใช่ผู้กดขี่ หรือปกครองแบบเผด็จการ หรือเป็นผู้ทรยศหักหลังประชาชนชาวปาตานี, นักสู้ปาตานีเป็นผู้รักสันติภาพ ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาหรือเป็นพวกสุดโต่ง

          ข้อเรียกร้องนี้อ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 32, 33, 39, 40 และ 81 (แนวนโยบายของรัฐด้านกฎหมายและการยุติธรรม)
          รายละเอียดของข้อเรียกร้อง ปล่อยนักโทษและผู้ถูกจับกุมจากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทย, นิรโทษกรรมให้กับนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพทั้งที่ถูกพิพากษาและจำคุก, ยกเลิกหมายจับ, ป้องกันการฆ่าสังหารโดยรัฐ หรือตัวแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม
          ข้อเสนอแลกเปลี่ยน  
          - การหยุดยิงและการอภิปรายในเรื่องนี้ต่อไปจะได้รับการผูกมัดเมื่อมีการจัดการให้ปล่อยผู้ต้องขัง 10 รายและยกเลิกหมายจับ 10 หมายทุกๆ เดือน โดยบีอาร์เอ็นจะหยุดปฏิบัติการโดยเป็นฝ่ายเลือกพื้นที่หรืออำเภอ
          - บีอาร์เอ็นจะระบุชื่อหรือพิสูจน์เอกลักษณ์ผู้คุมขัง โดยรัฐบาลไทยต้องช่วยเหลือในกระบวนการนี้
          - บีอาร์เอ็นพร้อมให้ข้อผูกมัดอย่างเต็มที่กับการกำหนดกรอบเวลาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ
          - การหยุดปฏิบัติการทั้งหมดก่อนการเจรจาหยุดยิง เป็นไปตามตารางเวลาเหมือนข้อ 4

อกนิษฐ์ : ไร้หลักประกันหยุดยิง-ไม่แยกดินแดน
          พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดคุยสันติภาพ กล่าวว่า สาระสำคัญที่สุดที่บีอาร์เอ็นต้องการสื่อผ่านเอกสาร 38 หน้าก็คือ การเรียกร้อง "เขตปกครองพิเศษ" ซึ่งตรงกับที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าทั้งมาเลเซียและบุคคลที่อยู่เบื้องหลังคณะพูดคุยฝ่ายไทยล็อคคำตอบสุดท้ายเอาไว้แล้วว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบนี้จะต้องจบที่ "เขตปกครองพิเศษ"
          ส่วนที่บีอาร์เอ็นยืนยันว่าจะหยุดปฏิบัติการทางทหาร วางอาวุธ และไม่แบ่งแยกดินแดนจากไทยนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าหากรัฐบาลไทยทำตามข้อเรียกร้องและเงื่อนไขทั้งหมดแล้วบีอาร์เอ็นจะปฏิบัติตามเอกสารที่ส่งมา
          "ต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมีหลายกลุ่ม ถามว่าบีอาร์เอ็นคุมได้หมดทุกกลุ่มหรือเปล่า นายฮัสซัน ตอยิบ (แกนนำบีอาร์เอ็นที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย) สั่งการได้ทั้งหมดจริงหรือ และที่สำคัญความต้องการที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นซึ่งได้ประกาศมาตลอดคือการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษ ฉะนั้นจึงเชื่อไม่ได้ว่าจะต้องการเขตปกครองพิเศษจริงๆ"
          พล.อ.อกนิษฐ์ บอกด้วยว่า กระบวนการพูดคุยและเสนอข้อเรียกร้องที่กำลังทำกันอยู่นี้่ผิดหลักการของกระบวนการสันติภาพที่ทำกันทั่วโลก เพราะมีการเปิดเผยข้อเรียกร้องทั้งหมดต่อสาธารณะ แล้วบอกว่ายอมรับบางข้อก่อนก็ได้ ที่เหลือค่อยคุยกันต่อ ซึ่งไม่มีที่ไหนทำกัน ความจริงแล้วต้องคุยกันให้จบเสียก่อน ต่อรองกันให้เรียบร้อยว่าอะไรทำได้ ทำอะไรทำไม่ได้ กระทั่งตกผลึกเป็นประเด็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายจึงจะทำความตกลงอย่างเป็นทางการเป็นข้อตกลงสันติภาพ ที่สำคัญต้องมีโรดแมพ (แผนที่เดินทาง) ที่ชัดเจนว่าหลังจากตกลงกันแล้วจะทำอะไรต่อไปบ้าง แต่กระบวนการที่ทำกันอยู่นี้ไม่มีเลย

ที่มา..ศูนย์ข่าวอิศรา  http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/23948 

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ฝ่ายหนึ่ง “สร้างสรรค์ พัฒนา” ฝ่ายหนึ่ง “ขัดขวาง ทำลาย” หนทางไหนที่ประชาชนควรเลือก ?



        นอกเหนือจากภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวางกำลังในรูปแบบของการตั้งจุดตรวจจุดสกัด การลาดตระเวนไปตามท้องถนนทั้งโดยรถยนต์และการเดินเท้าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว  ภาพของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครที่ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการบูรณะพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ  ก็ยังเป็นภาพชินตาที่ประชาชนในพื้นที่ได้เห็นอยู่ทั่วไป

          ขณะที่การก่อเหตุรุนแรงยังดำเนินไปพร้อมๆ กับการชีวิตที่หลุดลอยไปของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทีละน้อยๆ โดยเฉพาะในห้วงที่ผ่านมาซึ่งมีความถี่มากขึ้น

          เหตุการณ์ล่าสุดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานสังกัดหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 22 จำนวน นาย ออกปฏิบัติภารกิจช่วยก่อสร้างห้องน้ำให้กับมัสยิด ในพื้นที่บ้านกอตอระนอ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยมีประชาชนในหมู่บ้านได้ช่วยทำการก่อสร้างอยู่ด้วยและหลังจากนั้นก่อนพักเที่ยง เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ยังคงทำการก่อสร้างห้องน้ำอยู่ ได้มีคนร้ายจำนวน 7-8 คน ขับรถยนต์กระบะเป็นพาหนะขับมาจอดบนถนนลูกรังหน้าห้องน้ำที่กำลังก่อสร้าง จากนั้นคนร้ายที่นั่งอยู่ท้ายกระบะใช้อาวุธปืนอาก้า และเอ็ม 16 กราดยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตบริเวณห้องน้ำ นาย  อีกนายได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้คนร้ายอย่างดุเดือด ทำให้คนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บไป ราย จนคนร้ายเห็นท่าไม่ดีจึงเร่งเครื่องหลบหนีไป  จากเหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปอีก 3 นายและได้รับบาดเจ็บอีก 1 นาย

          แม้ว่าการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในแต่ละครั้งนั้น เหล่านักวิชาการจะออกมากล่าวในทำนองว่าเจ้าหน้าที่คือคู่ขัดแย้งกันกับกำลังติดอาวุธของขบวนการ  การเสียชีวิตจึงเป็นเรื่องธรรมดาของการสู้รบ  แต่หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่งจะพบว่าการลงมาปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นมิได้ลงมาทำการรบ   แต่มาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนพร้อมๆ กับการช่วยพัฒนาพื้นที่ไปด้วย  และหากต้องใช้อาวุธก็ต้องปฏิบัติตามกฎการใช้อาวุธอย่างเคร่งครัด ซึ่งแตกต่างกับข้างฝ่ายขบวนการที่อาศัยช่องว่างจังหวะที่เจ้าหน้าที่กำลังพลั้งเผลอลอบทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เนื่องๆ

และเช่นเดียวกันจากเหตุข้างต้นเป็นการลอบทำร้ายขณะเจ้าหน้าที่กำลังช่วยพัฒนาซ่อมสร้างห้องน้ำของมัสยิดเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ชำระล้างร่างกายก่อนประกอบศาสนกิจ  ประกอบกับมัสยิดเป็นสถานที่ศักสิทธิ์ที่สมควรให้ความเคารพ  จึงถือเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อ้างตนว่าเป็นมุสลิมแล้วมาทำร้ายคนในสถานที่ของพระเจ้า  


ที่เห็นได้ชัดอีกประการเป็นความแตกต่างจากการกระทำของทั้งสองฝ่ายคือ เจ้าหน้าที่ และข้างฝ่ายขบวนการ  ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้นทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ขาดแคลน แม้รู้ว่ากำลังตกเป็นเป้าสังหาร แต่ฝ่ายขบวนการนั้นมีหน้าที่เพียงขัดขวางและทำลาย ต้องการให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการพัฒนาในทุกด้าน  ข่มขู่ให้เกรงกลัวโดยใช้กระบอกปืนโดยมิได้คำนึงถึงผลใดๆ

หากเป็นแบบนี้ต่อไปภาพของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านที่นี่คงไม่มีทางได้เห็น

          ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหารพรานซึ่งได้เสียชีวิตไปมากมายขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่  ส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องคนไทยเชื้อสายมลายู  เขาเหล่านั้นก็คือลูกหลานของมลายูมิใช่หรือ    และเพียงแค่ลูกหลานเหล่านั้นแต่งเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่เพราะต้องการใช้บทบาทในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาดูแลท้องถิ่นของตนเอง  ก็ถึงกับปล่อยให้ฆ่าแกงกัน ทั้งๆ ที่กำลังพัฒนาสถานที่ปฏิบัติกิจทางศาสนาของส่วนรวมได้เชียวหรือ

“สร้างสรรค์ กับ ทำลาย....” ชัดๆ แบบนี้พี่น้องประชาชนคงเลือกได้ไม่ยากว่าอยากมีชีวิตแบบไหนต่อไป
          ขออัลเลาะฮฺได้โปรดเมตตาชี้ทางให้บ่าวด้วยเถิด.... 
         

ซอเก๊าะ  นิรนาม