วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิถีพุทธ-มุสลิมที่บ้านเฑียรยา...เมื่อความรุนแรงมิอาจคร่าสายสัมพันธ์


      ผลร้ายประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามและกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้่นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดต่อเนื่องมานานเกือบ 9 ปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิม
 tianya


          หลายพื้นที่บานปลายถึงขั้นแตกแยก หลายพื้นที่เกิดปรากฏการณ์ "ยิงล้างแค้น" มุสลิมที พุทธที จนสายสัมพันธ์อันดีและภาพความสามัคคีกลมเกลียวที่ยืนยันความหลากหลายทางวัฒนธรรมมานานนับร้อยปีเริ่มเลือนราง ความบาดหมางร้าวลึกลงไปถึงระดับชุมชน
          ขณะที่ "ผู้ไม่หวังดี" ก็ยังพยายามก่อเหตุรุนแรงในลักษณะ "ตอกลิ่ม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...
          แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนย่อมไม่ใช่การส่งทหารไปเฝ้า หรือติดอาวุธให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อใช้ความรุนแรงตอบโต้ให้หนักขึ้นไปอีก แต่ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการทำความเข้าใจและรับรู้ปัญหาร่วมกันในระดับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนประสานมือฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน
          ดังเช่นที่หมู่บ้านเฑียรยา หมู่บ้านเล็กๆ ใน ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านสันติสุข มีทรัพยากรป่าสันทรายและนาข้าวอันอุดม มีพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมกว่าร้อยครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอื้อเฟื้อพึ่งพากันตลอดมา
          ทว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมฆหมอกแห่งความเลวร้ายได้แผ่เข้าปกคลุมหมู่บ้านแห่งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปรากฏขึ้นในชุมชน ผู้สูญเสียมีทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมรวม 4 ชีวิต ทำให้ครอบครัวไทยพุทธซึ่งมีน้อยกว่าไม่กล้าอาศัยอยู่ในชุมชนอีกต่อไป ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ในเขตเมืองเพื่อความปลอดภัย
          ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ หญิงชราวัย 80 ปี ต้องสูญเสีย นายน้อย สร้างอำไพ ลูกชายวัย 49 ปีซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัวไปเมื่อปี 2547 และต่อมาในปี 2549 นางก็ต้องสูญเสียนายเนย สร้างอำไพ สามีวัย 81 ปีไปอีกคน นับเป็นความสูญเสียซ้ำซากจนย่าเคลื่อนต้องตัดสินใจอพยพลูก หลาน และเหลนที่เหลืออยู่ออกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี
          5 ปีที่ลาจากชุมชนบ้านเฑียรยา ย่าเคลื่อนต้องหาซื้อผักซื้อข้าวรับประทานเองทั้งที่ไม่เคยซื้อมาก่อน ต้องตกอยู่ในสภาพ "บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ" ชีวิตของหญิงชราที่ควรได้อยู่อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตกลับต้องทนทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง ลูก หลาน และเหลนtianya2
          "ชีวิตมันแตกต่างกันมาก อยู่หมู่บ้านเฑียรยาหากินง่าย ผักก็ปลูกเอง เหลือจากกินก็เอาไปขาย ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงไก่เอง ได้กินไข่ในรัง อยู่ในเมืองทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่บ้านเช่า ต้องซื้อกินทุกอย่าง" ย่าเคลื่อนเล่าถึงความลำบากของการใช้ชีวิตในสังคมเมือง
          แม้ย่าเคลื่อนจะเป็นคนไทยพุทธ แต่ก็มีเชื้อสายมลายูด้วย คนในหมู่บ้านเฑียรยามักเรียกย่าเคลื่อนว่า "เมาะโน" ย่าเคลื่อนเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงสายสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมของคนในชุมชนบ้านเฑียรยาด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข
          "ตอนฉันแต่งงานลูก คนมุสลิมเขาก็ทำแกง ตำเครื่อง หุงข้าวมากินร่วมกัน เขาทำเองทุกอย่าง คนพุทธมาคอยกินอย่างเดียว ส่วนฉันคอยเก็บเงิน" นางเล่ายิ้มๆ
          ขณะที่ ดวงสุดา สร้างอำไพ หรือ "ดวง" หลานสาวของย่าเคลื่อน เล่าว่า ในอดีตเวลามีงานอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งแยกศาสนา อย่างงานแต่งของคนไทยพุทธก็จะเชิญคนมุสลิมมาทำกับข้าวเพื่อเลี้ยงคนมุสลิมด้วยกัน เพราะว่าอาหารจะต้องแยกกัน จึงต้องมีอาหารของคนทั้งสองศาสนา มุสลิมจะทำกับข้าวให้มุสลิมทาน  ส่วนงานแต่งของอิสลาม ไทยพุทธอาจจะไม่ร่วมทำกับข้าว แต่ไปร่วมงานอย่างเดียว
          ไม่ใช่แค่เรื่องการกินการอยู่ แต่เรื่องงานอย่างลงแขกเกี่ยวข้าว ดวงสุดาบอกว่าทั้งพุทธและมุสลิมก็พร้อมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยกัน 
          "สมัยฉันเด็กๆ ยังทันเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าว พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวเขาก็จะลงนากันทั้งไทยพุทธ-มุสลิม ช่วยกันเกี่ยวข้าว เก็บข้าว นาผืนเดียวหรือ 2-3 ผืนวันเดียวก็หมด เพราะว่ามาช่วยกันลงแขกทีละมากๆ"
          เจะเยาะ ดามะ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน (อสม.) ซึ่งเป็นเพื่อนกับดวงสุดามาตั้งแต่เด็กๆ เล่าเสริมว่า ที่ผ่านมาไทยพุทธกับมุสลิมมักจะทำนาด้วยกัน พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็ลงแขกกัน อย่างวันนี้ไปทำนาที่บ้านเมาะโน (ย่าเคลื่อน) พอรุ่งขึ้นก็ไปทำที่บ้านอีกคน ก็จะสลับกันไปมา
          แต่วันนี้ผืนนาของย่าเคลื่อนต้องกลายเป็นนาร้าง เพราะตั้งแต่เสียลูกชายคนโตซึ่งเป็นพ่อของดวงสุดาไป ครอบครัวของย่าเคลื่อนก็ไม่ได้ทำนาอีกเลย...
          ก่อนไฟใต้จะโหมกระหน่ำ ย่าเคลื่อนมักเก็บผักป่า เช่น ผักหวาน ไปขายที่ตลาดปัตตานี โดยมี มีแย เจ๊ะเละ เพื่อนบ้านรุ่นน้องของย่าเคลื่อนคอยช่วย ทั้งช่วยเก็บผัก และทำนาในหน้านา
          มีแย เล่าว่า เมาะโนเป็นเพื่อนที่ดี ตอนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านเฑียรยาด้วยกัน เมาะโนกลับจากตลาดนัดก็จะซื้อของมาฝากด้วยทุกครั้ง หรือตอนที่เมาะโนไปนวด เพราะเมาะโนมีความสามารถเรื่องการนวดคลายเส้น พอไปนวดแล้วมีคนให้เสื้อผ้า ปลา หรือผลไม้มา เมาะโนก็จะนำมาแบ่งปันให้เธอเสมอ
          ความสัมพันธ์ของหญิงสูงวัยทั้งสองคนดำเนินมาถึงกลางปี 2547 สามีของมีแยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถูกยิง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถือเป็นความสูญเสียคนแรกของชุมชนบ้านเฑียรยา ช่วงนั้นมีแยก็ได้กำลังใจจากเมาะโนที่คอยไปเยี่ยมเป็นประจำไม่เคยขาด
          ย่าเคลื่อน เล่าถึงมีแยในช่วงนั้นว่า "คนสูญเสียเอาแต่ผ้าคลุมหัว ซึมเศร้า งานไม่ทำ เคยเก็บผัก เผาถ่าน เฉาะยางก็เลิกทำ กลับจากตลาดนัดฉันก็จะไปคุยด้วย ถามไถ่ทุกวัน และซื้อของไปให้เพื่อให้เขาคลายทุกข์"
          ตกปลายปี 2547 พ่อของดวงสุดา ซึ่งเป็นลูกชายของเมาะโนก็ถูกยิงเสียชีวิต มีแยจึงเป็นฝ่ายปลอบใจเมาะโนบ้าง
          "ฉันก็ปลอบใจเขาว่าสามีของมีแยก็เสียชีวิต ลูกชายของเมาะโนก็เสียเหมือนกัน ลูกชายเมาะโนเป็นคนดี  พ่อของน้องดวงเป็นคนดี มีคนโกรธแค้นอะไรนักหนา แต่ต้องทำใจให้ได้" มีแยเล่าย้อนความหลัง
          ในห้วงของสถานการณ์อันเลวร้าย คนในชุมชนบ้านเฑียรยาช่วยกันเยียวยาจิตใจและพูดจาปลอบประโลมผู้สูญเสีย คนต่างศาสนิกก็ออกไปเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องทำใจ ทว่าความสูญเสียยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะเวลาล่วงเลยมาอีกไม่นาน สามีของเมาะโนซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของดวงสุดาก็มาจากไปอีกคน
          "ปู่ถูกฆ่าแบบทารุณ ฆ่าตัดคอแล้วเผาบ้าน ทุกคนในชุมชนรู้สึกสลด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากตั้งแต่ที่ทุกคนเคยอยู่กันมา เราไม่เคยมีเรื่องบาดหมาง จึงไม่คิดว่าจะมีเหตุรุนแรงขนาดนี้เกิดขึ้น ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก แต่ไม่ได้รู้สึกแย่กับคนในชุมชน มีบ้างที่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เกิดความหวาดระแวงต่อเพื่อนต่างศาสนาที่ไม่รู้จัก แต่ไม่ใช่คนที่อยู่ในชุมชนของเรา เพราะความสัมพันธ์ของเรานั้นเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาคือเพื่อน ลุง ป้า น้า อาที่เรารู้จักมาตลอดชีวิต ภูมิคุ้มกันตรงนั้นปิดกั้นไม่ให้เราคิดในด้านลบ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งและรู้สึกว่าถ้าเรามองด้านบวก มันจะทำให้จิตใจไม่หม่นหมอง ทุกคนคนในชุมชนก็รู้สึกร่วมกับเราเหมือนกัน" ดวงสุดา บอก
tianya1          ทว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว ย่าเคลื่อนจึงพาหลานๆ รวมทั้งดวงสุดา และเหลน ย้ายออกจากบ้านเฑียรยาไปอยู่ในเมืองปัตตานี
          "ความรู้สึกตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าคนในชุมชนจะทำเรา และไม่คิดด้วยว่าเขาจะทำกับเรา แต่ที่เราต้องอพยพออกมาก็เพื่อความสบายใจส่วนหนึ่ง และความปลอดภัยด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมันเกิดจากอะไร การอยู่ในเมืองเดินทางสะดวกกว่าและลดความเสี่ยงจากเหตุรุนแรง เนื่องจากส่วนใหญ่ในชุมชนจะไม่มีเหตุร้ายอะไร ส่วนใหญ่เกิดเหตุบนถนนสายหลักเข้าสู่เมือง รู้สึกว่าการสูญเสียเป็นเครื่องเตือนสติว่าเราต้องอยู่อย่างระมัดระวัง จะให้เกิดซ้ำซากอีกไม่ได้" ดวงสุดา ย้ำ
          เมื่อย่าเคลื่อนหอบลูกจูงหลานย้ายไป มีแยบอกว่านางรู้สึกเหงา คิดถึงเมาะโน ถ้าเป็นไปได้อยากให้เมาะโนกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม เวลาไปเยี่ยมบ้านเมาะโนที่เมืองปัตตานีก็จะชวนกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านตลอด 
          เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่ดวงสุดากลับไปในหมู่บ้าน ก็จะไปเยี่ยมมีแย ถ้าวันไหนมีแยมีธุระอะไรก็จะไปด้วยกัน  หรือหากย่าเคลื่อนเข้าไปทำธุระในชุมชน ก็จะแวะไปเยี่ยมมีแย ถามสารทุกข์สุกดิบ ซื้อของไปฝาก นอกจากนั้นดวงสุดายังร่วมกับชุมชนทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าสันทราย เวลามีงานแต่งงานของคนในหมู่บ้านเธอก็จะเข้าไปช่วย เพราะสายสัมพันธ์ยังมีอยู่
          สิ่งที่ทำให้ดวงสุดาเข้มแข็งคือการทำงาน ได้พบเจอผู้คนต่างศาสนิกและหลากหลายวัฒนธรรมมากขึ้น เธอบอกว่าวิถีเมืองผลักดันให้เธอต้องแกร่ง และนั่นก็เป็นการเยียวยาจิตใจของเธอไปในตัว ส่วนย่าเคลื่อนหาเลี้ยงตัวเองกับหลานและเหลนด้วยอาชีพนวด การทำงานทำให้นางมีเพื่อนคุยและคลายเครียดไปได้เหมือนกัน
          ปัจจุบันสถานการณ์ที่หมู่บ้านเฑียรยาเริ่มดีขึ้น บางครอบครัวที่เคยย้ายออกไปเริ่มทยอยกลับบ้าน ขณะที่ในหมู่บ้านเริ่มมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย มี ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ของฝ่ายปกครองและทหารร่วมกันเฝ้าเวรยาม ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้าไปในหมู่บ้านจะต้องโทรศัพท์บอกผู้ใหญ่บ้านทันที
          ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่นับวันยิ่งบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คน มีแต่ความรัก ความเข้าใจ และการเปิดใจให้อีกฝ่ายได้สัมผัสถึงความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันความแตกแยกแตกร้าวของชุมชนได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปัดเป่าความรุนแรงให้พ้นไปจากหมู่บ้านเพื่อสถาปนาสันติสุขอย่างยั่งยืน
          วันนี้...ดวงสุดากับย่าเคลื่อนกำลังถวิลหาที่จะกลับไปสู้อ้อมกอดของบ้านเกิดอีกครั้งอย่างมีความสุข
------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา  เลขา  เกลี้ยงเกลา  ศูนย์ข่าวอิศรา

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไฟใต้จักมอดดับได้ด้วยประชาชน




สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2547  โดยทวีความรุนแรง จากเหตุการณ์การบุกโจมตีที่ตั้งหน่วยกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้าปล้นอาวุธปืนสงครามไปจำนวนมาก พร้อมสังหารเจ้าหน้าที่อย่างโหดเหี้ยม 4 ศพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเกือบ 9 ปี  

ในช่วงแรกของสถานการณ์นั้นเป้าหมายในการลอบทำร้ายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยเฉพาะทหารและ ตำรวจ ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า  ต้องการตอบโต้รัฐไทยที่ไม่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นคนมลายูและที่สำคัญ คือ การแบ่งแยกดินแดนตอนใต้ของไทยใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่ออิสระในการปกครองตนเอง  พร้อมๆ กับการปลุกระดมสร้างความหวาดกลัว และหวาดระแวงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนไทยต่างศาสนามาเป็นเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้ใช้ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา  วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และขยายแนวร่วม จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่โดยการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องชาติพันธุ์การเป็นคนมลายูปัตตานี  และบีบบังคับให้คนต่างศาสนาออกนอกพื้นที่โดยวิธีการข่มขู่ต่างๆนานา เข่น ก่อเหตุรุนแรงใช้อาวุธสงครามฆ่าคนไทยพุทธอย่างโหดเหี้ยม และระเบิดในสถานที่ขุมชนสร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนไทยพุทธในพื้นที่จนต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่  โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด   จึงกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นและขยายขีดความรุนแรงขึ้นตามลำดับ 

ถึงวันนี้รูปแบบของสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงได้มีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในลักษณะการบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรมด้วยการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเขตชุมชนเมือง  การลอบสังหาร และลอบวางเพลิง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมจนถึงปัจจุบันมีจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมจิตวิทยา  ระบบเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และของประเทศโดยรวมอย่างมาก 

และแน่นอนว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยกำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายทั้งภายในและนอกประเทศว่าบทสรุปของความรุนแรงนี้จะจบลงได้หรือไม่  เมื่อไหร่และอย่างไร

          สำหรับคำถามนี้เชื่อว่าผู้ที่อยากรู้คำตอบมากที่สุดคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่ต้องทนอยู่กับการก่อเหตุรุนแรงสารพัดชนิด  เห็นภาพของความสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ซ้ำร้ายหลายคนต้องประสบพบเจอกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  ในขณะที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้เพราะที่นี่เป็นเสมือนบ้านที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ยาตายาย  การอพยพออกนอกพื้นที่จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่สมควรกระทำในขณะที่สามารถทำให้ปัญหาความรุนแรงนี้ลดน้อยลงหรือหมดไปได้ด้วยวิถีทางอื่น

          จากความยืดเยื้อยาวนานของปัญหาความรุนแรง  ความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน  การอยู่ร่วมกันแบบหวาดระแวงทำให้กระแสความเบื่อหน่ายและไม่สนับสนุนการก่อเหตุเริ่มปรากฏทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นแม้แต่พี่น้องมุสลิมที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างกับเขาเหล่านั้นว่าทำเพื่อปกป้องศาสนา  แต่สุดท้ายก็ยังไม่วายที่ต้องถูกเข่นฆ่าไปด้วยเมื่อไม่ให้ความร่วมมือ  เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สร้างผลกระทบด้านลบต่อพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นส่วนรวมในทุกด้าน

และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างออกมานำเสนอข่าวสารความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยการสะท้อนภาพที่แท้จริงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน  รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาหนทางช่วยกันทำให้เหตุการณ์ยุติลงโดยเร็วซึ่งดูจะเป็นเค้าลางที่ดีหากได้รับความร่วมมือในลักษณะนี้ต่อไปในฐานะสื่อที่เปี่ยมล้นด้วยจรรยาบรรณ 

          ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ที่รู้เห็นปัญหานี้มาโดยตลอดจึงอยากใช้เวทีนี้ขอบคุณไปยังท่านสื่อมวลชนเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
          เพราะการปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้จบลงได้  เพราะปัญหาที่เป็นรากเหง้าฝังลึกนั้นมิได้มีเพียงกลุ่มขบวนการเท่านั้น  หากยังมีตัวแปรส่งเสริมอื่นๆ อีกที่เป็นปัจจัยสนับสนุน

การยุติความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ยังดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดลงนี้ ได้ปรากฏ เสียงเรียกร้องต้องการความสงบสุขจากพี่น้องประชาชนมาโดยต่อเนื่อง  ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ด้วยการลุกขึ้นร่วมกันต่อต้านโดยไม่แบ่งแยก  ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ด้วยความสามัคคีร่วมกันสอดส่องดูแลและแสดงพลังของประชาชนออกมา  ภายใต้การใช้บทบาทนำของผู้นำท้องถิ่นเท่านั้นที่จะช่วยให้ฝันร้ายนี้จบสิ้นลง   เพราะวันนี้ในต่างประเทศยังเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปของภาคใต้ของไทย หลายฝ่ายทั้งองค์กรระดับชาติรวมถึงสื่อมวลชนในต่างประเทศยังพร้อมใจกันประณามการก่อเหตุด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ลองนึกดูว่าหากไฟกำลังไหม้บ้านเรา  แล้วพวกเราซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันไม่ช่วยกันตักน้ำมาดับไฟแล้วจะรอให้ใครมาช่วย  เราคงไม่อยากให้บ้านของเรามอดไหม้ไปกับตาทั้งๆ ที่ยังสามารถช่วยกันได้มิใช่หรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องร่วมมือกัน   ตอบได้เลยตอนนี้ว่าพลังของพวกเราประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะยุติไฟที่กำลังเผาไหม้บ้านของเราลงได้  คำถามต่อไปคือ  เราจะรออะไรอยู่ 

ซอเก๊าะ   นิรนาม

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้



กรุงเทพมหานคร – 12 ธันวาคม 2555วันนี้เจ้าหน้าที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ไทยในทันที หลังทารกหญิงวัย 11 เดือนเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตห้ารายจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ร้านขายน้ำชาแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

พิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ประนามการสังหารครั้งนี้ว่าเป็น การกระทำที่น่าเศร้าสลดใจ ไร้เหตุผล และไม่สามารถยอมรับได้ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการกระทำรุนแรงและทำให้แน่ใจว่าเด็กทุกคน ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งหลายเหล่านั้น

ทารกเพศหญิง อินฟานี สาเมาะ ถูกสังหารขณะกลุ่มชายใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงเข้าใส่ร้านน้ำชาในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อตอนสายของวันอังคารที่ผ่านมา เด็กกว่า 50 คนถูกสังหาร และกว่า 340 คนได้รับบาดเจ็บนับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ของประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงรวมทั้งหมดแล้วกว่า 5,000 คน

เมื่อปลายเดือนตุลาคมของปีนี้ เด็กชายวัย 11 ขวบคนหนึ่งถูกสังหารพร้อมพ่อในรถกระบะระหว่างถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มชายติด อาวุธที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา  

ทุกครั้งที่มีเด็กถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ ทุกครั้งที่เด็กสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง และทุกครั้งที่โรงเรียนและครูของพวกเขาถูกโจมตี เด็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้นราชภัณฑารีกล่าวการยุติความรุนแรงทั้งหมดเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าสิทธิของเด็ก ทุกคนที่อยู่ในภาคใต้ได้รับความคุ้มครองและเอาใจใส่อย่างสมบูรณ์เต็มที่


วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำร้ายครู เขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่


การเสียชีวิตของนางสาวฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านยาโงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส  นับเป็นเหตุคร่าชีวิตครูผู้หญิงรายที่ ในรอบ 12 วัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสังหาร นางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ    อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถยนต์ออกจากโรงเรียนเพื่อเดินทางกลับบ้าน จนทำให้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียนกว่า 300 แห่งใน จ.ปัตตานี อย่างไม่มีกำหนด เพื่อกดดันให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงปรับแผนรักษาความปลอดภัยครูให้รัดกุมกว่าที่เป็นอยู่  จนเมื่อมีการประชุมหารือกับฝ่ายความมั่นคงจนเป็นที่พอใจจึงได้ประกาศเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา  แต่แล้วผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นฝ่ายจ้องกระทำก็ก่อเหตุยิงครูซ้ำขึ้นอีกครั้ง  การก่อเหตุซ้ำซ้อนในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังตั้งตัวไม่ติดอีกครั้งนี้  แน่นอนว่าย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงบรรดาครูน้อยใหญ่ผู้ที่ยังมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนให้เด็กนักเรียนที่นี่ให้มีความรู้ต่อไป 

จากการก่อเหตุร้ายที่ไม่สามารถคาดเดาจิตใจที่ไร้มนุษยธรรมของผู้ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้ว่า พวกเขาคิดทำเรื่องเลวทรามนี้ได้อย่างไร  ได้สร้างความสลดใจให้กับผู้ที่ได้รับรู้ข่าวทั้งในและต่างประเทศ จนหลายฝ่ายต่างออกมาประณามการกระทำที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมนี้โดยถ้วนหน้า   เพราะไม่มีสนามรบใดเลยในโลกนี้ที่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐฯ จะกระทำต่อครูผู้ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวช 
นอกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กล้าเรียกตัวเองว่านักรบ   ที่สร้างความเดือนร้อนอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในเวลานี้....เท่านั้น 

และเช่นเคยเสมอมาที่ยังไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมใดออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครูที่เสียชีวิตไปเลย  แม้แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มักออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกระบวนการมุ่งสู่สันติภาพของฝ่ายความมั่นคงและ ศอ.บต. ในทุกกรณีก็ยังคงวางตัวนิ่งเฉย  ซึ่งกรณีนี้อยากฝากไว้ให้คิดว่าเหตุผลที่นิ่งเงียบคืออะไร

ด้านฝ่ายผู้นำศาสนา ท่านฮัญยีแวดือราแม  มะมิงจิ  ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานียังได้ออกมากล่าวถึงการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงเหล่านี้ว่าเป็นพวกที่บิดเบือนศาสนาและไม่ใช่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นอิสลาม โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิดนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์

เพราะความสำคัญของครูในทัศนะอิสลามจากท่านอะบีอุมาอะมะฮ์ ท่านนบีกล่าวว่า“แท้จริงอัลลอฮฺ บรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์และชาวฟ้าและแผ่นดิน  จนแม้กระทั่งมดในรูของมันและแม้กระทั่งปลา  ต่างก็ปราสาทพรแก่ครูผู้ที่สอนมนุษย์ทั้งหลายให้ประสบความดี”  และเพราะครูคือผู้ให้  ครูคือผู้เติมเต็ม  ครูคือผู้มีเมตตา  ดังนั้นอาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ  ท่านนบี (ซ.ล.) นั้นให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่ครู  แม้ว่าจะเป็นคนต่างศาสนานิกหรือศัตรู  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  ท่านได้ไถ่ตัวเชลยศึกในสงครามบะดัร  ซึ่งเป็นมุชริกีนชาวมักกะฮฺ  โดยให้เป็นครูสอนเด็กมุสลิมชาวนครมะดีนะฮฺจำนวนสิบคน  แบบอย่างของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นี้เป็นแบบอย่างที่งดงามที่มุสลิมทุกคนควรตระหนัก  หากมุสลิมได้ตระหนักแล้ว  กรณีการฆ่าครูหรือทำร้ายครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

แต่แม้ว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครูนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในปี 47 เป็นต้นมาจะทำให้ครูต้องสังเวยชีวิตไปเป็นรายที่ 155 แล้วก็ตาม  ยังไม่ปรากฏว่าครูในพื้นที่จะมีการขอย้ายออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามครูกับยังคงอดทนทำหน้าที่อย่างเสียสละ  ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุดมการณ์ที่แน่วแน่ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ  และส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ  ครูก็คือผู้ที่เกิดและเติบโตมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  พื้นที่ที่เหล่านักรบขี้ขลาดที่ทำร้ายได้แม้คนไม่มีทางสู้เรียกว่า  “แผ่นดินมลายู”  เพราะครูก็คือลูกหลานคนไทยเชื้อสายมลายูที่เกิดและโตในแผ่นดินนี้ที่ต่างกันเพียงความเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น

คำถามคือสิ่งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงทำกับครู ซึ่งก็คือลูกหลานมลายูนั้นมันถูกต้องและยุติธรรมแล้วหรือ  พี่น้องมลายูเห็นด้วยหรืออย่างไรว่า  การกระทำที่ชั่วช้าของผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งขัดต่อคำสอนอันดีงามของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนมาโดยตลอดขอเป็นกำลังใจให้ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านได้รักษาความเสียสละ  มุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติและเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และของแผ่นดินไทยไว้ให้ได้อย่างมั่นคง  ซึ่งนั้นคงเป็นความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองและความใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนในพื้นที่นี้ทุกคนด้วย

เพราะในส่วนของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว  จากการกระทำที่ขัดกับหลักศาสนาราวฟ้ากับเหวโดยไม่สนใจคุณธรรมความถูกต้องของเขาเหล่านั้น  ตามหลักศาสนาแล้วพี่น้องมุสลิมทุกคนทราบดีว่าพวกเขาคือผู้ที่ “ตกศาสนา” ไปแล้ว  และพวกเขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่

                                            ---------------------------------------------
 ซอเก๊าะ   นิรนาม