วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิถีพุทธ-มุสลิมที่บ้านเฑียรยา...เมื่อความรุนแรงมิอาจคร่าสายสัมพันธ์


      ผลร้ายประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามและกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้่นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดต่อเนื่องมานานเกือบ 9 ปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิม
 tianya


          หลายพื้นที่บานปลายถึงขั้นแตกแยก หลายพื้นที่เกิดปรากฏการณ์ "ยิงล้างแค้น" มุสลิมที พุทธที จนสายสัมพันธ์อันดีและภาพความสามัคคีกลมเกลียวที่ยืนยันความหลากหลายทางวัฒนธรรมมานานนับร้อยปีเริ่มเลือนราง ความบาดหมางร้าวลึกลงไปถึงระดับชุมชน
          ขณะที่ "ผู้ไม่หวังดี" ก็ยังพยายามก่อเหตุรุนแรงในลักษณะ "ตอกลิ่ม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...
          แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนย่อมไม่ใช่การส่งทหารไปเฝ้า หรือติดอาวุธให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อใช้ความรุนแรงตอบโต้ให้หนักขึ้นไปอีก แต่ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการทำความเข้าใจและรับรู้ปัญหาร่วมกันในระดับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนประสานมือฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน
          ดังเช่นที่หมู่บ้านเฑียรยา หมู่บ้านเล็กๆ ใน ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านสันติสุข มีทรัพยากรป่าสันทรายและนาข้าวอันอุดม มีพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมกว่าร้อยครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอื้อเฟื้อพึ่งพากันตลอดมา
          ทว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมฆหมอกแห่งความเลวร้ายได้แผ่เข้าปกคลุมหมู่บ้านแห่งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปรากฏขึ้นในชุมชน ผู้สูญเสียมีทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมรวม 4 ชีวิต ทำให้ครอบครัวไทยพุทธซึ่งมีน้อยกว่าไม่กล้าอาศัยอยู่ในชุมชนอีกต่อไป ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ในเขตเมืองเพื่อความปลอดภัย
          ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ หญิงชราวัย 80 ปี ต้องสูญเสีย นายน้อย สร้างอำไพ ลูกชายวัย 49 ปีซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัวไปเมื่อปี 2547 และต่อมาในปี 2549 นางก็ต้องสูญเสียนายเนย สร้างอำไพ สามีวัย 81 ปีไปอีกคน นับเป็นความสูญเสียซ้ำซากจนย่าเคลื่อนต้องตัดสินใจอพยพลูก หลาน และเหลนที่เหลืออยู่ออกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี
          5 ปีที่ลาจากชุมชนบ้านเฑียรยา ย่าเคลื่อนต้องหาซื้อผักซื้อข้าวรับประทานเองทั้งที่ไม่เคยซื้อมาก่อน ต้องตกอยู่ในสภาพ "บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ" ชีวิตของหญิงชราที่ควรได้อยู่อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตกลับต้องทนทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง ลูก หลาน และเหลนtianya2
          "ชีวิตมันแตกต่างกันมาก อยู่หมู่บ้านเฑียรยาหากินง่าย ผักก็ปลูกเอง เหลือจากกินก็เอาไปขาย ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงไก่เอง ได้กินไข่ในรัง อยู่ในเมืองทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่บ้านเช่า ต้องซื้อกินทุกอย่าง" ย่าเคลื่อนเล่าถึงความลำบากของการใช้ชีวิตในสังคมเมือง
          แม้ย่าเคลื่อนจะเป็นคนไทยพุทธ แต่ก็มีเชื้อสายมลายูด้วย คนในหมู่บ้านเฑียรยามักเรียกย่าเคลื่อนว่า "เมาะโน" ย่าเคลื่อนเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงสายสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมของคนในชุมชนบ้านเฑียรยาด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข
          "ตอนฉันแต่งงานลูก คนมุสลิมเขาก็ทำแกง ตำเครื่อง หุงข้าวมากินร่วมกัน เขาทำเองทุกอย่าง คนพุทธมาคอยกินอย่างเดียว ส่วนฉันคอยเก็บเงิน" นางเล่ายิ้มๆ
          ขณะที่ ดวงสุดา สร้างอำไพ หรือ "ดวง" หลานสาวของย่าเคลื่อน เล่าว่า ในอดีตเวลามีงานอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งแยกศาสนา อย่างงานแต่งของคนไทยพุทธก็จะเชิญคนมุสลิมมาทำกับข้าวเพื่อเลี้ยงคนมุสลิมด้วยกัน เพราะว่าอาหารจะต้องแยกกัน จึงต้องมีอาหารของคนทั้งสองศาสนา มุสลิมจะทำกับข้าวให้มุสลิมทาน  ส่วนงานแต่งของอิสลาม ไทยพุทธอาจจะไม่ร่วมทำกับข้าว แต่ไปร่วมงานอย่างเดียว
          ไม่ใช่แค่เรื่องการกินการอยู่ แต่เรื่องงานอย่างลงแขกเกี่ยวข้าว ดวงสุดาบอกว่าทั้งพุทธและมุสลิมก็พร้อมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยกัน 
          "สมัยฉันเด็กๆ ยังทันเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าว พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวเขาก็จะลงนากันทั้งไทยพุทธ-มุสลิม ช่วยกันเกี่ยวข้าว เก็บข้าว นาผืนเดียวหรือ 2-3 ผืนวันเดียวก็หมด เพราะว่ามาช่วยกันลงแขกทีละมากๆ"
          เจะเยาะ ดามะ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน (อสม.) ซึ่งเป็นเพื่อนกับดวงสุดามาตั้งแต่เด็กๆ เล่าเสริมว่า ที่ผ่านมาไทยพุทธกับมุสลิมมักจะทำนาด้วยกัน พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็ลงแขกกัน อย่างวันนี้ไปทำนาที่บ้านเมาะโน (ย่าเคลื่อน) พอรุ่งขึ้นก็ไปทำที่บ้านอีกคน ก็จะสลับกันไปมา
          แต่วันนี้ผืนนาของย่าเคลื่อนต้องกลายเป็นนาร้าง เพราะตั้งแต่เสียลูกชายคนโตซึ่งเป็นพ่อของดวงสุดาไป ครอบครัวของย่าเคลื่อนก็ไม่ได้ทำนาอีกเลย...
          ก่อนไฟใต้จะโหมกระหน่ำ ย่าเคลื่อนมักเก็บผักป่า เช่น ผักหวาน ไปขายที่ตลาดปัตตานี โดยมี มีแย เจ๊ะเละ เพื่อนบ้านรุ่นน้องของย่าเคลื่อนคอยช่วย ทั้งช่วยเก็บผัก และทำนาในหน้านา
          มีแย เล่าว่า เมาะโนเป็นเพื่อนที่ดี ตอนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านเฑียรยาด้วยกัน เมาะโนกลับจากตลาดนัดก็จะซื้อของมาฝากด้วยทุกครั้ง หรือตอนที่เมาะโนไปนวด เพราะเมาะโนมีความสามารถเรื่องการนวดคลายเส้น พอไปนวดแล้วมีคนให้เสื้อผ้า ปลา หรือผลไม้มา เมาะโนก็จะนำมาแบ่งปันให้เธอเสมอ
          ความสัมพันธ์ของหญิงสูงวัยทั้งสองคนดำเนินมาถึงกลางปี 2547 สามีของมีแยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถูกยิง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถือเป็นความสูญเสียคนแรกของชุมชนบ้านเฑียรยา ช่วงนั้นมีแยก็ได้กำลังใจจากเมาะโนที่คอยไปเยี่ยมเป็นประจำไม่เคยขาด
          ย่าเคลื่อน เล่าถึงมีแยในช่วงนั้นว่า "คนสูญเสียเอาแต่ผ้าคลุมหัว ซึมเศร้า งานไม่ทำ เคยเก็บผัก เผาถ่าน เฉาะยางก็เลิกทำ กลับจากตลาดนัดฉันก็จะไปคุยด้วย ถามไถ่ทุกวัน และซื้อของไปให้เพื่อให้เขาคลายทุกข์"
          ตกปลายปี 2547 พ่อของดวงสุดา ซึ่งเป็นลูกชายของเมาะโนก็ถูกยิงเสียชีวิต มีแยจึงเป็นฝ่ายปลอบใจเมาะโนบ้าง
          "ฉันก็ปลอบใจเขาว่าสามีของมีแยก็เสียชีวิต ลูกชายของเมาะโนก็เสียเหมือนกัน ลูกชายเมาะโนเป็นคนดี  พ่อของน้องดวงเป็นคนดี มีคนโกรธแค้นอะไรนักหนา แต่ต้องทำใจให้ได้" มีแยเล่าย้อนความหลัง
          ในห้วงของสถานการณ์อันเลวร้าย คนในชุมชนบ้านเฑียรยาช่วยกันเยียวยาจิตใจและพูดจาปลอบประโลมผู้สูญเสีย คนต่างศาสนิกก็ออกไปเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องทำใจ ทว่าความสูญเสียยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะเวลาล่วงเลยมาอีกไม่นาน สามีของเมาะโนซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของดวงสุดาก็มาจากไปอีกคน
          "ปู่ถูกฆ่าแบบทารุณ ฆ่าตัดคอแล้วเผาบ้าน ทุกคนในชุมชนรู้สึกสลด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากตั้งแต่ที่ทุกคนเคยอยู่กันมา เราไม่เคยมีเรื่องบาดหมาง จึงไม่คิดว่าจะมีเหตุรุนแรงขนาดนี้เกิดขึ้น ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก แต่ไม่ได้รู้สึกแย่กับคนในชุมชน มีบ้างที่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เกิดความหวาดระแวงต่อเพื่อนต่างศาสนาที่ไม่รู้จัก แต่ไม่ใช่คนที่อยู่ในชุมชนของเรา เพราะความสัมพันธ์ของเรานั้นเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาคือเพื่อน ลุง ป้า น้า อาที่เรารู้จักมาตลอดชีวิต ภูมิคุ้มกันตรงนั้นปิดกั้นไม่ให้เราคิดในด้านลบ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งและรู้สึกว่าถ้าเรามองด้านบวก มันจะทำให้จิตใจไม่หม่นหมอง ทุกคนคนในชุมชนก็รู้สึกร่วมกับเราเหมือนกัน" ดวงสุดา บอก
tianya1          ทว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว ย่าเคลื่อนจึงพาหลานๆ รวมทั้งดวงสุดา และเหลน ย้ายออกจากบ้านเฑียรยาไปอยู่ในเมืองปัตตานี
          "ความรู้สึกตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าคนในชุมชนจะทำเรา และไม่คิดด้วยว่าเขาจะทำกับเรา แต่ที่เราต้องอพยพออกมาก็เพื่อความสบายใจส่วนหนึ่ง และความปลอดภัยด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมันเกิดจากอะไร การอยู่ในเมืองเดินทางสะดวกกว่าและลดความเสี่ยงจากเหตุรุนแรง เนื่องจากส่วนใหญ่ในชุมชนจะไม่มีเหตุร้ายอะไร ส่วนใหญ่เกิดเหตุบนถนนสายหลักเข้าสู่เมือง รู้สึกว่าการสูญเสียเป็นเครื่องเตือนสติว่าเราต้องอยู่อย่างระมัดระวัง จะให้เกิดซ้ำซากอีกไม่ได้" ดวงสุดา ย้ำ
          เมื่อย่าเคลื่อนหอบลูกจูงหลานย้ายไป มีแยบอกว่านางรู้สึกเหงา คิดถึงเมาะโน ถ้าเป็นไปได้อยากให้เมาะโนกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม เวลาไปเยี่ยมบ้านเมาะโนที่เมืองปัตตานีก็จะชวนกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านตลอด 
          เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่ดวงสุดากลับไปในหมู่บ้าน ก็จะไปเยี่ยมมีแย ถ้าวันไหนมีแยมีธุระอะไรก็จะไปด้วยกัน  หรือหากย่าเคลื่อนเข้าไปทำธุระในชุมชน ก็จะแวะไปเยี่ยมมีแย ถามสารทุกข์สุกดิบ ซื้อของไปฝาก นอกจากนั้นดวงสุดายังร่วมกับชุมชนทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าสันทราย เวลามีงานแต่งงานของคนในหมู่บ้านเธอก็จะเข้าไปช่วย เพราะสายสัมพันธ์ยังมีอยู่
          สิ่งที่ทำให้ดวงสุดาเข้มแข็งคือการทำงาน ได้พบเจอผู้คนต่างศาสนิกและหลากหลายวัฒนธรรมมากขึ้น เธอบอกว่าวิถีเมืองผลักดันให้เธอต้องแกร่ง และนั่นก็เป็นการเยียวยาจิตใจของเธอไปในตัว ส่วนย่าเคลื่อนหาเลี้ยงตัวเองกับหลานและเหลนด้วยอาชีพนวด การทำงานทำให้นางมีเพื่อนคุยและคลายเครียดไปได้เหมือนกัน
          ปัจจุบันสถานการณ์ที่หมู่บ้านเฑียรยาเริ่มดีขึ้น บางครอบครัวที่เคยย้ายออกไปเริ่มทยอยกลับบ้าน ขณะที่ในหมู่บ้านเริ่มมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย มี ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ของฝ่ายปกครองและทหารร่วมกันเฝ้าเวรยาม ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้าไปในหมู่บ้านจะต้องโทรศัพท์บอกผู้ใหญ่บ้านทันที
          ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่นับวันยิ่งบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คน มีแต่ความรัก ความเข้าใจ และการเปิดใจให้อีกฝ่ายได้สัมผัสถึงความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันความแตกแยกแตกร้าวของชุมชนได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปัดเป่าความรุนแรงให้พ้นไปจากหมู่บ้านเพื่อสถาปนาสันติสุขอย่างยั่งยืน
          วันนี้...ดวงสุดากับย่าเคลื่อนกำลังถวิลหาที่จะกลับไปสู้อ้อมกอดของบ้านเกิดอีกครั้งอย่างมีความสุข
------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา  เลขา  เกลี้ยงเกลา  ศูนย์ข่าวอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น