วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"ข่าวลือ-หวาดระแวง" 2 ปมต้องแก้ก่อนสันติภาพล่ม!

  ผมนำรูปป้ายผ้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกนำไปติดในช่วงค่ำวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดตำรวจชุด รปภ.ครูที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส (24 ก.ค.) แล้วมีครูสตรีเสียชีวิต 2 ราย ครูชายบาดเจ็บสาหัส 1 ราย มาเป็นภาพประกอบบทความนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวหาหรือเผยแพร่ข้อความกล่าวหาเจ้าหน้าที่ แต่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในพื้นที่จริงๆ


เพราะถ้ามัวแต่ช่วยกันปิด สังคมก็คงไม่ทราบว่าปัญหามันได้พัฒนาไปถึงขั้นไหน หรือการต่อสู้ในเชิงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่มันรุนแรงถึงระดับใดแล้ว...

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ "ข่าวลือ" ทำงานและสร้างความสับสนอย่างมาก เพราะผู้กระทำไม่ได้แค่ขึ้นป้าย แต่มีการให้ข้อมูลนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊คอย่างกว้างขวางด้วย

และนี่คือหนึ่งในสถานการณ์ที่น่ากังวลว่า แคมเปญ "หยุดยิงรอมฎอน" ที่คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ หมายมั่นปั้นมือกันเอาไว้ว่าจะเป็นหมุดหมายอันสำคัญในการนับหนึ่งสันติภาพชายแดนใต้นั้น อาจจะไปไม่รอดเสียแล้ว

เพราะสถานการณ์ล่าสุด ณ ขณะนี้คือ ในระดับพื้นที่เริ่มมีการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ถี่ขึ้น โดยส่วนหนึ่งมี "ข่าวลือ" เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในลักษณะ "โต้กลับ"ขณะที่ในระดับโต๊ะพูดคุยเจรจาก็ประท้วงกล่าวหากันวุ่นวายว่าอีกฝ่าย "เริ่มก่อน"

สถานการณ์ดังกล่าวกับอนาคตของสันติภาพที่ส่อเค้ามืดมน มาจากเหตุปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน

1.ปัญหาคดีคาใจ ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ที่ชาวบ้าน (โดยมากเป็นพี่น้องมุสลิม) สงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ยิงผู้นำศาสนา ครูสอนศาสนา อดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้อง หรืออดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่ทางการไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องคดี

ทั้งนี้ รวมไปถึงบางกรณีที่มีการวางแผนปล่อยข่าวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือใส่ร้ายเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว และบางกรณีที่คนของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับรัฐเป็นผู้กระทำจริงๆ ด้วย

เรื่องนี้หากไม่สร้างกลไกตรวจสอบที่ทุกฝ่ายยอมรับ ปัญหาก็จะย่ำอยู่กับที่ เหมือนที่ย่ำซ้ำๆ มาแล้ว 9 ปี และกลายเป็นประเด็นใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมาไม่รู้จักจบสิ้น ชาวบ้านและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าผู้ก่อความไม่สงบ "สร้างสถานการณ์กันเอง"

กรณีตัวอย่างเฉพาะห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ก็คือเหตุยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้รับบาดเจ็บสาหัส และยิง นายมะยาหะลี อาลี อุสตาซบ้านบันนังกูแว เสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 และ 16 ก.ค.ตามลำดับ ซึ่งบีอาร์เอ็นอ้างว่าเป็นต้นตอของความรุนแรงต่อเนื่องมา จนนำมาสู่การประท้วงผ่านมาเลเซีย ขณะเดียวกันก็มีใบปลิวกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐแพร่ไปทั่ว และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็เชื่อตามใบปลิวนั้น!

กลไกสลายความคาใจในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ จึงเป็น "วาระเร่งด่วน" ที่ต้องจัดการ และไม่มีอะไรดีไปกว่าการดึงฝ่ายบีอาร์เอ็น รวมทั้งผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาร่วมอยู่ในกลไกด้วย ซึ่งอาจต้องปรับรูปแบบให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ทั่วไปบ้าง เพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่พิเศษเช่นนี้

และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หากพบคนของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับรัฐเป็นฝ่ายกระทำเสียเอง ต้องมีการดำเนินคดีอย่างจริงจังเสมอหน้ากันกับกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้ก่อความไม่สงบ!

2.ปัญหาความเกลียดชังคนศาสนาอื่น โดยเฉพาะไทยพุทธ ซึ่งบรรดาผู้นำในขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปลูกฝัง ปลุกระดม จากต้นกล้าเล็กๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน กลายเป็นกิ่งก้านสาขาที่แผ่กว้างมากในปัจจุบัน

กลุ่มที่ได้รับการปลูกฝังจะมองคนศาสนาอื่นเหมือนไม่ใช่คนด้วยกัน และสามารถฆ่าได้หากจำเป็น!

ขณะที่ระดับชาวบ้านอาจไม่ได้รับการปลูกฝังอย่างเข้มข้น แต่ก็ถูกสร้างความรู้สึกให้หวาดระแวงคนต่างศาสนาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกว่าทำดีมาอย่างไรก็ถูกแปรเป็นติดลบหมด ที่แย่ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับที่เขาเพาะเชื้อเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านเห็นตัวอย่างจากของจริง จึงเชื่อสนิทใจ ทั้งยังมีกระบวนการข่มขู่ให้กลัวหากเข้าไปข้องแวะ เกี่ยวพันคบหาสมาคมกับเจ้าหน้าที่ด้วย

ทั้งหมดนี้กลายเป็นความห่างเหิน ไม่ไว้วางใจ เมื่อมีข่าวลือข่าวลบเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านจึงมักเชื่อทันที ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายครั้งเป็นข่าวโคมลอย

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ข้อนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงและส่งผลซึ่งกันและกัน หากปลดชนวน 2 เรื่องนี้ไม่ได้ สันติภาพก็เกิดยาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้อตกลงทางการเมืองอย่างเดียว เช่น เขตปกครองพิเศษ จะเป็นคำตอบที่ยั่งยืนเหมือนที่บางฝ่ายคิด เพราะปัญหามันซึมลึกถึงระดับรากหญ้า และมีความเกลียดชังหวาดระแวงระหว่างคนรากหญ้าด้วยกันอย่างกว้างขวาง

ทุกคนทราบดีว่าปัญหาแบบนี้ต้องแก้กันยาวและใช้เวลานาน แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ความเกลียดชังจะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน เท่าที่ทราบในการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 เมื่อ 13 มิ.ย.2556 คณะพูดคุยฝ่ายไทยได้เตรียมข้อเรียกร้องไปหลายข้อ และหนึ่งในนั้นคือการให้บีอาร์เอ็นหยุดปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ที่ยึดโยงกับหลักคำสอนทางศาสนาให้กับเยาวชนด้วย

แต่น่าเสียดายที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นไปพูดคุยกันแม้แต่คำเดียว และก็ยังไม่มีท่าทีจากทางฝั่งบีอาร์เอ็นว่าจะช่วยกันยุติปัญหานี้!

ที่มา  ปกรณ์  พึ่งเนตร  ศูนย์ข่าวอิศรา

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สแปอิง - มะแซ หลังม่านเจรจาป่วนหนัก


     ทีมข่าวความมั่นคง รายงานในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นกับตัวแทนรัฐบาลไทยตลอด ครั้งที่ผ่านมา    ยังมีคำถามกันอยู่ว่า นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำการเจรจาของกลุ่มบีอาร์เอ็น มีอำนาจสั่งการกลุ่มขบวนการได้หรือไม่เพียงใด ที่สำคัญคือสองแกนนำตัวจริงที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง คือ นายสะแปอิง บาซอ และ นายมะแซ อุเซ็ง รับรองการเจรจาครั้งนี้หรือไม่  และแกนนำทั้งสองคนมีบทบาทแค่ไหน อย่างไร ในการเจรจา เพราะหากการเจรจาครั้งนี้ ไม่ได้รับรองจากแกนนำที่มีอำนาจสั่งการ และความน่าเชื่อถือจากแกนนำในพื้นที่จริง ปลายทางแห่งสันติภาพคงยากที่จะปรากฏให้เห็นในเร็ววัน  แหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้  การันตีว่าการเจรจาครั้งนี้ทั้ง นายสะแปอิง และนายมะแซ  เป็นผู้ที่อยู่ "เบื้องหลัง" การเจรจาจริง  รวมทั้งยังอยู่เบื้องหลังการสั่งการให้ก่อเหตุรุนแรงรายวันในพื้นที่ด้วย  อย่างไรก็ตามทั้งสองได้เก็บงำความลับเกี่ยวกับสถานที่กบดานอยู่ในชั้นลับสุดยอด โดยมีข่าวมา ทาง ทางหนึ่ง  คือ หลบหนีอยู่ภายใน ประเทศมาเลเซีย และอีกทางหนึ่งมีข่าวว่าทั้งสองพำนักอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย  สำหรับการสั่งการของแกนนำทั้งสองคน  จะกระทำผ่านมายังผู้นำกองกำลังทหารที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่  ปัจจุบันมีแกนนำคนสำคัญ คน คือ นายรุสดี ยี่งอ และ นายอิสมาแอ ระยะหลง  ซึ่งเป็นแกนนำหลักทางการทหาร โดยมีหน้าที่สั่งการต่อไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการและเตรียมกำลังเพื่อก่อเหตุรุนแรง ภารกิจหลักในปัจจุบันของกองกำลังในพื้นที่ จะเน้นหนักไปที่การโจมตีฐานปฏิบัติการของทหาร และตำรวจ  ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมและเป็นจุดอ่อน  

          ส่วนสาเหตุที่แกนนำทั้งสองรายยังคงสั่งการให้กองกำลังในพื้นที่ พุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์  แม้จะมีการเผยแพร่ข้อตกลงเรื่องการลดการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือน "รอมฎอน" ทางหน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่า เป็นปฏิบัติการตอบโต้และกดดันรัฐบาลไทยที่ไม่ยอมรับ ข้อเสนอหลัก ที่นำเสนอโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ลงในเว็บไซต์ยูทูบโดยเฉพาะข้อเสนอหลักเรื่องการถอนกำลังทหาร-ตำรวจ  ข้อเสนอเรื่องการปลดหมายจับผู้ต้องหาในกลุ่มขบวนการ และข้อเสนอเรื่องการขอ "ปกครองตนเอง" เมื่อรัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ ทั้งยังไม่ยอมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐสภาลงนามรับรองข้อเสนออย่างเป็นทางการ ดังนั้น การก่อเหตุรุนแรงเพื่อตอบโต้ และกดดันท่าทีของฝ่ายรัฐบาลไทยจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง   และเชื่อว่าในเดือนรอมฎอนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป   สถานการณ์ความรุนแรงก็จะไม่ลดลง อย่างที่รัฐบาลไทยคาดหวังอย่างแน่นอน  

                การข่าวของฝ่ายความมั่นคงแจ้งเตือนว่า ในช่วงนี้แกนนำหลักทั้งสองคนได้สั่งการให้กองกำลังในพื้นที่ เตรียมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีเป้าหมายใน จ.นราธิวาส ที่ อ.บาเจาะ และ อ.ศรีสาคร ใน จ.ยะลา ที่ อ.ยะหาและอ.บันนังสตา และใน จ.ปัตตานี ที่ อ.หนองจิก และ อ.ยะรัง  ทั้งนี้ สำหรับบทบาทการสั่งการอยู่เบื้องหลังการเจรจาครั้งที่ผ่านๆ มา ทั้ง นายสะแปอิง และนายมะแซ เป็นผู้สั่งการ และกำหนดเกมผ่านตัวเปิด คือ นายฮัสซัน ซึ่งประเด็นในการเจรจาทั้งหมด จะถูกกำหนดโดยแกนนำทั้งสองคนมาแล้วทั้งหมด  รวมทั้งการออกมาชิงการนำและกดดันรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ยูทูบ หลังตัวแทนรัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ ข้อที่นำเสนอบนโต๊ะเจรจา นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ยอมรับว่า การพูดคุยระหว่าง สมช.กับ บีอาร์เอ็น ทางนายสะแปอิง และนายมะแซ เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้ามาเจรจาทั้งหมด รวมทั้งเงื่อนไข ข้อ ที่ส่งสัญญาณมาให้รัฐบาลไทยก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดคำแปลเพื่อชี้แจงมายังรัฐบาลอีกครั้ง ขณะที่เป้าหมายของ บีอาร์เอ็น ยังวางไว้สูงและไม่ลดระดับลงจากการสถาปนา "รัฐปัตตานี" และหากสามารถเดินไปสู่บันไดขั้นที่  คือ  แบ่งแยกดินแดนหรือปกครองตนเองได้สำเร็จ ทางกลุ่ม  บีอาร์เอ็น ก็เตรียมที่จะแบ่งเค้กฟอร์มทีม "คณะผู้ปกครอง" ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความกระอักกระอ่วนใจของฝ่ายไทยที่เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ลำบากเช่นทุกวันนี้

 เปิดปูม "สะแปอิง บาซอ"
 "นายสะแปอิง บาซอ"  มีฐานะตำแหน่งเป็นถึง "ครูใหญ่" แห่ง "โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ" ซึ่งเปิดสอนถึงขั้นอนุปริญญา ภายใต้การบริหารของ "นายสะแปอิง บาซอ" ชาวตำบลเมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อดีตกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา สำหรับ "นายสะแปอิง บาซอ" จบการศึกษาด้านศาสนาจากเมืองมาดีนะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ในยุคก่อนที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย    จะปรับปรุงระบบการเรียนการสอนทางด้านศาสนา   ด้วยการหันไปยึดแนวทางของ  วาฮาบี "นายสะแปอิง บาซอ" เป็นแกนนำสำคัญของ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น โคออดิเนต" มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้หลายครั้ง นี่คือภาพลักษณ์ของ "โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ" และบทบาทของ "นายสะแปอิง บาซอ" ผู้นำพาโรงเรียนนี้สู่ความรุ่งเรือง เป็นบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่วันนี้ถูกยกระดับให้แกนนำคนสำคัญของ ขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแกนนำสำคัญระดับที่หน่วยงานของรัฐไทยเชื่อว่า ชายชื่อ "นายสะแปอิง บาซอ" ผู้นี้ คือว่าที่นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐปัตตานี


เบื้องหลังนายมะแซ อุเซ็ง
นายมะแซ อุเซ็ง  มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเลขที่ 33/1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทั้งนี้ นายมะแซ เคยรับราชการเป็นทหารเกณฑ์ในค่ายเสนาณรงค์ สังกัด ร้อย.พัน.1  ระหว่างรับราชการทหารมีส่วนร่วมในการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ในระหว่างปี 2522-2525 โดย นายมะแซ มีประวัติการฝึกการก่อวินาศกรรม และการรบแบบกองโจรจากโรงเรียนนายร้อยประเทศลิเบีย    จากนั้นในปี  2547  เกิดเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นบ้านพักของ นายมะแซ ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง   พบแผนการปฏิบัติการ ขั้นตอน   เพื่อการสถาปนารัฐปัตตานีและเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ บีอาร์เอ็น อย่างไรก็ตาม นายมะแซ สามารถหลบหนีไปได้โดยหลบหนีข้ามแดนไปยังมาเลเซีย  โดยการช่วยเหลือของ นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ประธานขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี และเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการกองกำลังกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้จนกระทั่งปัจจุบัน

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์