วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"ข่าวลือ-หวาดระแวง" 2 ปมต้องแก้ก่อนสันติภาพล่ม!

  ผมนำรูปป้ายผ้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกนำไปติดในช่วงค่ำวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดตำรวจชุด รปภ.ครูที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส (24 ก.ค.) แล้วมีครูสตรีเสียชีวิต 2 ราย ครูชายบาดเจ็บสาหัส 1 ราย มาเป็นภาพประกอบบทความนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวหาหรือเผยแพร่ข้อความกล่าวหาเจ้าหน้าที่ แต่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในพื้นที่จริงๆ


เพราะถ้ามัวแต่ช่วยกันปิด สังคมก็คงไม่ทราบว่าปัญหามันได้พัฒนาไปถึงขั้นไหน หรือการต่อสู้ในเชิงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่มันรุนแรงถึงระดับใดแล้ว...

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ "ข่าวลือ" ทำงานและสร้างความสับสนอย่างมาก เพราะผู้กระทำไม่ได้แค่ขึ้นป้าย แต่มีการให้ข้อมูลนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊คอย่างกว้างขวางด้วย

และนี่คือหนึ่งในสถานการณ์ที่น่ากังวลว่า แคมเปญ "หยุดยิงรอมฎอน" ที่คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ หมายมั่นปั้นมือกันเอาไว้ว่าจะเป็นหมุดหมายอันสำคัญในการนับหนึ่งสันติภาพชายแดนใต้นั้น อาจจะไปไม่รอดเสียแล้ว

เพราะสถานการณ์ล่าสุด ณ ขณะนี้คือ ในระดับพื้นที่เริ่มมีการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ถี่ขึ้น โดยส่วนหนึ่งมี "ข่าวลือ" เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในลักษณะ "โต้กลับ"ขณะที่ในระดับโต๊ะพูดคุยเจรจาก็ประท้วงกล่าวหากันวุ่นวายว่าอีกฝ่าย "เริ่มก่อน"

สถานการณ์ดังกล่าวกับอนาคตของสันติภาพที่ส่อเค้ามืดมน มาจากเหตุปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน

1.ปัญหาคดีคาใจ ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ที่ชาวบ้าน (โดยมากเป็นพี่น้องมุสลิม) สงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ยิงผู้นำศาสนา ครูสอนศาสนา อดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้อง หรืออดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่ทางการไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องคดี

ทั้งนี้ รวมไปถึงบางกรณีที่มีการวางแผนปล่อยข่าวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือใส่ร้ายเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว และบางกรณีที่คนของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับรัฐเป็นผู้กระทำจริงๆ ด้วย

เรื่องนี้หากไม่สร้างกลไกตรวจสอบที่ทุกฝ่ายยอมรับ ปัญหาก็จะย่ำอยู่กับที่ เหมือนที่ย่ำซ้ำๆ มาแล้ว 9 ปี และกลายเป็นประเด็นใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมาไม่รู้จักจบสิ้น ชาวบ้านและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าผู้ก่อความไม่สงบ "สร้างสถานการณ์กันเอง"

กรณีตัวอย่างเฉพาะห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ก็คือเหตุยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้รับบาดเจ็บสาหัส และยิง นายมะยาหะลี อาลี อุสตาซบ้านบันนังกูแว เสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 และ 16 ก.ค.ตามลำดับ ซึ่งบีอาร์เอ็นอ้างว่าเป็นต้นตอของความรุนแรงต่อเนื่องมา จนนำมาสู่การประท้วงผ่านมาเลเซีย ขณะเดียวกันก็มีใบปลิวกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐแพร่ไปทั่ว และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็เชื่อตามใบปลิวนั้น!

กลไกสลายความคาใจในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ จึงเป็น "วาระเร่งด่วน" ที่ต้องจัดการ และไม่มีอะไรดีไปกว่าการดึงฝ่ายบีอาร์เอ็น รวมทั้งผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาร่วมอยู่ในกลไกด้วย ซึ่งอาจต้องปรับรูปแบบให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ทั่วไปบ้าง เพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่พิเศษเช่นนี้

และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หากพบคนของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับรัฐเป็นฝ่ายกระทำเสียเอง ต้องมีการดำเนินคดีอย่างจริงจังเสมอหน้ากันกับกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้ก่อความไม่สงบ!

2.ปัญหาความเกลียดชังคนศาสนาอื่น โดยเฉพาะไทยพุทธ ซึ่งบรรดาผู้นำในขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปลูกฝัง ปลุกระดม จากต้นกล้าเล็กๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน กลายเป็นกิ่งก้านสาขาที่แผ่กว้างมากในปัจจุบัน

กลุ่มที่ได้รับการปลูกฝังจะมองคนศาสนาอื่นเหมือนไม่ใช่คนด้วยกัน และสามารถฆ่าได้หากจำเป็น!

ขณะที่ระดับชาวบ้านอาจไม่ได้รับการปลูกฝังอย่างเข้มข้น แต่ก็ถูกสร้างความรู้สึกให้หวาดระแวงคนต่างศาสนาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกว่าทำดีมาอย่างไรก็ถูกแปรเป็นติดลบหมด ที่แย่ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับที่เขาเพาะเชื้อเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านเห็นตัวอย่างจากของจริง จึงเชื่อสนิทใจ ทั้งยังมีกระบวนการข่มขู่ให้กลัวหากเข้าไปข้องแวะ เกี่ยวพันคบหาสมาคมกับเจ้าหน้าที่ด้วย

ทั้งหมดนี้กลายเป็นความห่างเหิน ไม่ไว้วางใจ เมื่อมีข่าวลือข่าวลบเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านจึงมักเชื่อทันที ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายครั้งเป็นข่าวโคมลอย

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ข้อนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงและส่งผลซึ่งกันและกัน หากปลดชนวน 2 เรื่องนี้ไม่ได้ สันติภาพก็เกิดยาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้อตกลงทางการเมืองอย่างเดียว เช่น เขตปกครองพิเศษ จะเป็นคำตอบที่ยั่งยืนเหมือนที่บางฝ่ายคิด เพราะปัญหามันซึมลึกถึงระดับรากหญ้า และมีความเกลียดชังหวาดระแวงระหว่างคนรากหญ้าด้วยกันอย่างกว้างขวาง

ทุกคนทราบดีว่าปัญหาแบบนี้ต้องแก้กันยาวและใช้เวลานาน แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ความเกลียดชังจะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน เท่าที่ทราบในการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 เมื่อ 13 มิ.ย.2556 คณะพูดคุยฝ่ายไทยได้เตรียมข้อเรียกร้องไปหลายข้อ และหนึ่งในนั้นคือการให้บีอาร์เอ็นหยุดปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ที่ยึดโยงกับหลักคำสอนทางศาสนาให้กับเยาวชนด้วย

แต่น่าเสียดายที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นไปพูดคุยกันแม้แต่คำเดียว และก็ยังไม่มีท่าทีจากทางฝั่งบีอาร์เอ็นว่าจะช่วยกันยุติปัญหานี้!

ที่มา  ปกรณ์  พึ่งเนตร  ศูนย์ข่าวอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น