มากมายหลายคำถามที่พรั่งพรูปนความสงสัยทั้งจากองค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ในพื้นที่และประชาชนทั่วไปว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมเสวนาทางการเมืองที่หมิ่นแหม่ไปถึงความมั่นคงของชาติ พร้อมกับคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเจตนาในการจัดกิจกรรมว่า เพื่อเปิดพื้นที่กลางในการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนทุกภาคส่วนต่อรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจที่สอดคล้อง และสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแล้ว พิจารณาอย่างไรก็ยังไม่เห็นว่าผลผลิตที่ได้จากการเสวนาจะเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะจากพฤติกรรมและรูปแบบ รวมถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบจำกัดวงของกลุ่มบุคคลนี้น่าจะชวนให้คิดว่าแท้จริงแล้วมีอะไรแอบแฝงอยู่ลึกๆ เหมือนคลื่นใต้น้ำที่กำลังก่อตัวรอเวลาถาโถมใส่ฝั่งให้พังทลายมากกว่า
ด้วยรูปแบบการเสวนาที่ยังใช้บุคคลที่มีแผลในสังคม เกี่ยวพันกับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มค้ายาเสพติดในพื้นที่หรือผู้ร่วมเสวนาที่มีบทบาทใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายด้วยการบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งบุคคลที่เป็นผู้รู้ทางกฎหมายที่เรียกว่า “ทนายความ” ที่เป็นตัวแทนของมูลนิธิทางกฎหมายในพื้นที่ที่มักอ้างว่าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน จนเรื่องแดงโดยถูกร้องเรียนจากชาวบ้านกรณีเรียกรับเงินจากผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่ จชต. หากช่วยเหลือว่าความให้แล้วชนะคดี แต่ถ้าแพ้ก็ตัดหางทิ้งไปจนเป็นที่รู้กัน จึงทำให้เวทีนี้ไม่เป็นที่วางใจและไม่อยู่ในสายตาของคนทั่วไป
ความพยายามมุ่งหามวลชนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งยังเป็นความพยายามหลักในการจัดเวทีเสวนา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ปรากฎช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การจำกัดกลุ่มผู้ฟังที่จำกัดวงอยู่เฉพาะพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นกลยุทธที่ใช้เพื่อจำกัดการแสดงออกด้วยความเห็นที่แตกต่าง แล้วในท้ายที่สุด คือการป่าวร้องให้ทุกฝ่ายไม่เว้นแม้ในต่างประเทศได้รับรู้ข้อมูลที่เหมาเอาเองว่า “เป็นความต้องการ เป็นเสียงเรียกร้องของประชาชน”
ข้อมูลสำคัญจากการสอบถามกลุ่มผู้รับฟังการเสวนาคือ ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้เรื่องการจัดการตนเองตามวัตถุประสงค์ที่สวยหรูมากไปกว่าการบิดเบือนสถานการณ์โดยการให้ข่าวสารด้านเดียวที่ได้รับจากผู้เสวนา ซึ่งนี่เป็นเจตนาที่บ่งชัดว่าการใช้กระบวนการวิจารณญานสาธารณะเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดจากการไตร่ตรองโดยใช้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาของผู้ให้ข้อมูล แต่มันเป็นข้อมูลที่ซ่อนเร้นถึงการปลุกปั่นชี้นำประชาชนให้เชื่อในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ถึงวันนี้แม้ว่าวิถีการยอมรับและเชื่อฟังผู้นำของประชาชนในพื้นที่ที่ยึดถือมาอย่างยาวนานจะยังคงอยู่ แต่สำหรับประชาชนที่อยู่ภายใต้การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารแล้วคงต้องใช้คำว่า “ชาวบ้านไม่ได้โง่จนสามารถจูงจมูกได้เหมือนสัตว์ที่ใช้ไถนาบางชนิด” อย่างน้อยก็ชาวบ้านส่วนใหญ่ล่ะ
แล้วก็อย่าคิดว่าเศษเงินน้อยนิดที่ใช้เป็นค่าตอบแทนให้ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังการบิดเบือน จะทำให้เขาเหล่านั้นคล้อยตามการยัดเยียดแนวความคิดสร้างความแตกแยกได้
นั้นเป็นสาเหตุให้จากเป้าหมาย 200 เวทีเมื่อเริ่มแรกจนถึงวันนี้ที่ผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งร้อยเวที ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าประชาชน “ไม่เอาด้วย” จำนวนคนฟังแต่ละครั้งเพียง 50 คนแล้วสรุปเอาว่าเป็นเสียงคนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องลวงโลกที่น่าขำ
อีกมุมมองหนึ่งคือคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธที่นักพูดฝีปากกล้าเหล่านั้นเรียกว่า “คนนอกศาสนา” ซึ่งอยู่อาศัยมาบนแผ่นดินนี้มาตั้งแต่พวกเก่งแต่ปากยังไม่เกิด ไม่เคยได้ถูกสอบถามหรือรับรู้ในเรื่องสิทธิในการจัดการตนเองแม้แต่น้อย หรือถึงรู้ก็ไม่อยากฟังเพราะมันริดรอนสิทธิของคนนอกศาสนาอย่างพวกเขามากมาย เหมือนกับว่าคนไทยพุทธเหล่านั้นไม่ใช่เจ้าของแผ่นดิน
สิทธิความเป็นเจ้าของจำกัดอยู่เพียงคนนับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นหรือ? การแอบอ้างด้วยการบิดเบือนโดยใช้ชาวบ้านที่ไม่รู้สึกหรือรับรู้ได้มากไปกว่าความเป็นพวกเดียวกัน แล้วก็เหมาเอาว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านอีกเช่นเคย นี่จึงเป็นการเอาความศรัทธาที่แตกต่างมาสร้างความแตกแยกอย่างน่ารังเกียจ
ที่สำคัญคือ เป็นวิธีการเดียวกันกับกลุ่มโจรติดอาวุธ BRN ใช้ในการปลุกเร้าลูกสมุนให้ฆ่าคนต่างศาสนาโดยอ้างว่าไม่บาป แตกต่างกันตรงที่การจัดเสวนานี้ทำในที่แจ้ง ไม่เหมือนอีแอบ BRN ที่แอบไปเสี้ยมสอนกันตามป่าเขา ตามโรงเรียนปอเนาะหรือแม้แต่ในมัสยิด มันช่างเป็นความเหมือนที่ชวนให้คิดว่าเป็นพวกเดียวกัน
การกระทำใดๆ ที่แสดงเจตนาให้เห็นว่าต้องการทำเพื่อบ้านเมือง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นรวมทั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในฐานะพลเมืองของประเทศ โดยการขับเคลื่อนของหลายๆ องค์กรในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้แห่งนี้นับเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ด้วยว่าได้กระทำในบทบาทฐานะขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง แต่สำหรับเวที Bicara Patani แล้ว ความเคลือบแฝงใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว การมุ่งหวังในสิ่งอื่นโดยเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือ ไม่สามารถหลุดรอดสายตาของพี่น้องประชาชนไปได้แน่นอน
เพียง 47 เวทีที่ผ่านมาได้ทำให้หลายฝ่ายเห็นธาตุแท้ของบุคคลกลุ่มนี้ และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อสมาชิกกลุ่ม มีพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ร่ำรวยขึ้นทั้งที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ความฝันที่จะไปให้ถึง 200 เวทีไม่เพียงแต่จะหริบหรี่ หากแต่ได้ดับมืดลงแล้วด้วยเหตุผลเดียวคือความเชื่อมั่นในตัวผู้จัดการเสวนาที่นับวันมีแต่จะหดหาย
แล้วอย่างนี้จะมาอ้างว่าเป็นเสียงของประชาชนได้อย่างไร เพราะที่ได้ยินชัดๆ มันเป็นเสียงขู่กรรโชกของสัตว์ชนิดนึงที่มักจะขัดแย้งแย่งกันกินอาหารอย่างตระกรุมตระกรามมากกว่า ต่างกันตรงที่อาหารซึ่งในที่นี้หมายถึงงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เขาเหล่านั้นแอบอ้างประชาชนเพื่อเรียกรับจากผู้ให้การสนับสนุนในต่างประเทศ.....ก็เท่านั้น
ไม่เชื่อลองสังเกตดูการเสวนาครั้งต่อไปในวันที่ 4 พ.ย.56 ซิ...บรรยากาศคงวังเวงพิลึก
ซอเก๊าะ นิรนาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น