วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรา 21 กฏหมายทางเลือกสู่เส้นทางสันติ




       การกล่าวเปิดเผยถึงการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ สองผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งมีหมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และคดีพยายามฆ่าผู้อื่นตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งทั้งสองยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ด้วยความสมัครใจซึ่งต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการตามมาตรา 21 ทั้ง 4 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการรับรายงานตัว คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดี และคณะกรรมการกลั่นกรองชุดสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองมาแถลงต่อศาลว่า ให้อภัยต่อผู้ต้องหาทั้งสองและต้องการให้กลับมาเป็นคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข และหากศาลพิจารณาแล้วไม่ขัดกับเงื่อนไขในการนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดำเนินการทางคดีตามปกติที่ต้องใช้เวลาพิจารณาในชั้นศาลนานหลายปีและท้ายที่สุดอาจถูกพิพากษาให้จำคุก 

         บทบัญญัติมาตรา 21 นับเป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งช่วยปูแนวทางเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาและผู้ได้รับผลกระทบ และต้องเกิดจากความยินยอมของผู้ต้องหาที่จะเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกคุมขัง ไม่มีบุคคลใดมีอำนาจบังคับใช้ได้โดยเด็ดขาด มาตรา 21 จึงเป็นกฏหมายที่มุ่งสู่ความสมานฉันท์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายสานใจสู่สันติของพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการให้ผู้เห็นต่างจากรัฐทุกคนกลับสู่สังคม อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหลบหนีคดีอีกต่อไป 

         นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ที่ค่ายพระปกเกล้า กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนครบกำหนด 6 เดือนตามคำสั่งศาลในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทั้งสองเล่าให้ฟังว่าระหว่างเข้ารับการอบรม ได้รับการดูแลเอาใจจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีแบบไม่คาดคิดมาก่อน เพราะตัวของพวกเขาเองก่อนเข้ารับการอบรม เขามีความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่รวมทั้งชาวไทยพุทธทุกคน แต่เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมาตนเข้าใจผิด เพราะระหว่างการอบรมมีโอกาสได้ศึกษาหลักศาสนาที่ถูกต้องจากผู้นำศาสนาที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งแตกต่างจากที่เขาได้รับการปลูกฝังโดยการบิดเบือนคำสอนของศาสนาจากขบวนการอย่างสิ้นเชิง      

  นอกเหนือจากความรู้ด้านศาสนาที่ถูกต้องแล้วการช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมแทนการจำขังตามมาตรา 21 สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขหลังการอบรมและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพด้วยการฝึกฝนอาชีพโดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งได้ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพด้านช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากได้รับวุฒิบัตรในการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้มอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้อีกด้วย 

      โดยผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนยังได้กล่าวก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาว่าตนเองคิดถูกที่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 เพราะหากต่อสู้คดีตามกฏหมาย ป.วิอาญาคงต้องใช้เวลานานและสุดท้ายก็ต้องติดคุกเพราะได้กระทำความผิดไว้จริง และรู้สึกดีใจที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังการอบรมเพียง 6 เดือน 

        กรณีการใช้กฏหมายทางเลือกมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ คงเป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม ในการใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความมุ่งหวังสุดท้ายคือการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา การออกมารายงานตัวของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ต้องหาที่หมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของมาตรา 21 คือการให้ผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนในวันนี้ จึงน่าจะเป็นการจุดประกายให้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้พิจารณาว่า การต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือต้องหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยทิ้งพ่อแม่ลูกเมียไว้ข้างหลังกับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ กับการเลือกที่เข้ารายงานตัวกับฝ่ายความมั่นคงแล้วใช้การเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แล้วกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่า ทางเลือกใดจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น