วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิถีพุทธ-มุสลิมที่บ้านเฑียรยา...เมื่อความรุนแรงมิอาจคร่าสายสัมพันธ์


      ผลร้ายประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามและกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้่นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดต่อเนื่องมานานเกือบ 9 ปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิม
 tianya


          หลายพื้นที่บานปลายถึงขั้นแตกแยก หลายพื้นที่เกิดปรากฏการณ์ "ยิงล้างแค้น" มุสลิมที พุทธที จนสายสัมพันธ์อันดีและภาพความสามัคคีกลมเกลียวที่ยืนยันความหลากหลายทางวัฒนธรรมมานานนับร้อยปีเริ่มเลือนราง ความบาดหมางร้าวลึกลงไปถึงระดับชุมชน
          ขณะที่ "ผู้ไม่หวังดี" ก็ยังพยายามก่อเหตุรุนแรงในลักษณะ "ตอกลิ่ม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...
          แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนย่อมไม่ใช่การส่งทหารไปเฝ้า หรือติดอาวุธให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อใช้ความรุนแรงตอบโต้ให้หนักขึ้นไปอีก แต่ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการทำความเข้าใจและรับรู้ปัญหาร่วมกันในระดับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนประสานมือฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน
          ดังเช่นที่หมู่บ้านเฑียรยา หมู่บ้านเล็กๆ ใน ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านสันติสุข มีทรัพยากรป่าสันทรายและนาข้าวอันอุดม มีพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมกว่าร้อยครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอื้อเฟื้อพึ่งพากันตลอดมา
          ทว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมฆหมอกแห่งความเลวร้ายได้แผ่เข้าปกคลุมหมู่บ้านแห่งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปรากฏขึ้นในชุมชน ผู้สูญเสียมีทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมรวม 4 ชีวิต ทำให้ครอบครัวไทยพุทธซึ่งมีน้อยกว่าไม่กล้าอาศัยอยู่ในชุมชนอีกต่อไป ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ในเขตเมืองเพื่อความปลอดภัย
          ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ หญิงชราวัย 80 ปี ต้องสูญเสีย นายน้อย สร้างอำไพ ลูกชายวัย 49 ปีซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัวไปเมื่อปี 2547 และต่อมาในปี 2549 นางก็ต้องสูญเสียนายเนย สร้างอำไพ สามีวัย 81 ปีไปอีกคน นับเป็นความสูญเสียซ้ำซากจนย่าเคลื่อนต้องตัดสินใจอพยพลูก หลาน และเหลนที่เหลืออยู่ออกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี
          5 ปีที่ลาจากชุมชนบ้านเฑียรยา ย่าเคลื่อนต้องหาซื้อผักซื้อข้าวรับประทานเองทั้งที่ไม่เคยซื้อมาก่อน ต้องตกอยู่ในสภาพ "บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ" ชีวิตของหญิงชราที่ควรได้อยู่อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตกลับต้องทนทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง ลูก หลาน และเหลนtianya2
          "ชีวิตมันแตกต่างกันมาก อยู่หมู่บ้านเฑียรยาหากินง่าย ผักก็ปลูกเอง เหลือจากกินก็เอาไปขาย ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงไก่เอง ได้กินไข่ในรัง อยู่ในเมืองทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่บ้านเช่า ต้องซื้อกินทุกอย่าง" ย่าเคลื่อนเล่าถึงความลำบากของการใช้ชีวิตในสังคมเมือง
          แม้ย่าเคลื่อนจะเป็นคนไทยพุทธ แต่ก็มีเชื้อสายมลายูด้วย คนในหมู่บ้านเฑียรยามักเรียกย่าเคลื่อนว่า "เมาะโน" ย่าเคลื่อนเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงสายสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมของคนในชุมชนบ้านเฑียรยาด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข
          "ตอนฉันแต่งงานลูก คนมุสลิมเขาก็ทำแกง ตำเครื่อง หุงข้าวมากินร่วมกัน เขาทำเองทุกอย่าง คนพุทธมาคอยกินอย่างเดียว ส่วนฉันคอยเก็บเงิน" นางเล่ายิ้มๆ
          ขณะที่ ดวงสุดา สร้างอำไพ หรือ "ดวง" หลานสาวของย่าเคลื่อน เล่าว่า ในอดีตเวลามีงานอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งแยกศาสนา อย่างงานแต่งของคนไทยพุทธก็จะเชิญคนมุสลิมมาทำกับข้าวเพื่อเลี้ยงคนมุสลิมด้วยกัน เพราะว่าอาหารจะต้องแยกกัน จึงต้องมีอาหารของคนทั้งสองศาสนา มุสลิมจะทำกับข้าวให้มุสลิมทาน  ส่วนงานแต่งของอิสลาม ไทยพุทธอาจจะไม่ร่วมทำกับข้าว แต่ไปร่วมงานอย่างเดียว
          ไม่ใช่แค่เรื่องการกินการอยู่ แต่เรื่องงานอย่างลงแขกเกี่ยวข้าว ดวงสุดาบอกว่าทั้งพุทธและมุสลิมก็พร้อมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยกัน 
          "สมัยฉันเด็กๆ ยังทันเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าว พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวเขาก็จะลงนากันทั้งไทยพุทธ-มุสลิม ช่วยกันเกี่ยวข้าว เก็บข้าว นาผืนเดียวหรือ 2-3 ผืนวันเดียวก็หมด เพราะว่ามาช่วยกันลงแขกทีละมากๆ"
          เจะเยาะ ดามะ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน (อสม.) ซึ่งเป็นเพื่อนกับดวงสุดามาตั้งแต่เด็กๆ เล่าเสริมว่า ที่ผ่านมาไทยพุทธกับมุสลิมมักจะทำนาด้วยกัน พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็ลงแขกกัน อย่างวันนี้ไปทำนาที่บ้านเมาะโน (ย่าเคลื่อน) พอรุ่งขึ้นก็ไปทำที่บ้านอีกคน ก็จะสลับกันไปมา
          แต่วันนี้ผืนนาของย่าเคลื่อนต้องกลายเป็นนาร้าง เพราะตั้งแต่เสียลูกชายคนโตซึ่งเป็นพ่อของดวงสุดาไป ครอบครัวของย่าเคลื่อนก็ไม่ได้ทำนาอีกเลย...
          ก่อนไฟใต้จะโหมกระหน่ำ ย่าเคลื่อนมักเก็บผักป่า เช่น ผักหวาน ไปขายที่ตลาดปัตตานี โดยมี มีแย เจ๊ะเละ เพื่อนบ้านรุ่นน้องของย่าเคลื่อนคอยช่วย ทั้งช่วยเก็บผัก และทำนาในหน้านา
          มีแย เล่าว่า เมาะโนเป็นเพื่อนที่ดี ตอนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านเฑียรยาด้วยกัน เมาะโนกลับจากตลาดนัดก็จะซื้อของมาฝากด้วยทุกครั้ง หรือตอนที่เมาะโนไปนวด เพราะเมาะโนมีความสามารถเรื่องการนวดคลายเส้น พอไปนวดแล้วมีคนให้เสื้อผ้า ปลา หรือผลไม้มา เมาะโนก็จะนำมาแบ่งปันให้เธอเสมอ
          ความสัมพันธ์ของหญิงสูงวัยทั้งสองคนดำเนินมาถึงกลางปี 2547 สามีของมีแยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถูกยิง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถือเป็นความสูญเสียคนแรกของชุมชนบ้านเฑียรยา ช่วงนั้นมีแยก็ได้กำลังใจจากเมาะโนที่คอยไปเยี่ยมเป็นประจำไม่เคยขาด
          ย่าเคลื่อน เล่าถึงมีแยในช่วงนั้นว่า "คนสูญเสียเอาแต่ผ้าคลุมหัว ซึมเศร้า งานไม่ทำ เคยเก็บผัก เผาถ่าน เฉาะยางก็เลิกทำ กลับจากตลาดนัดฉันก็จะไปคุยด้วย ถามไถ่ทุกวัน และซื้อของไปให้เพื่อให้เขาคลายทุกข์"
          ตกปลายปี 2547 พ่อของดวงสุดา ซึ่งเป็นลูกชายของเมาะโนก็ถูกยิงเสียชีวิต มีแยจึงเป็นฝ่ายปลอบใจเมาะโนบ้าง
          "ฉันก็ปลอบใจเขาว่าสามีของมีแยก็เสียชีวิต ลูกชายของเมาะโนก็เสียเหมือนกัน ลูกชายเมาะโนเป็นคนดี  พ่อของน้องดวงเป็นคนดี มีคนโกรธแค้นอะไรนักหนา แต่ต้องทำใจให้ได้" มีแยเล่าย้อนความหลัง
          ในห้วงของสถานการณ์อันเลวร้าย คนในชุมชนบ้านเฑียรยาช่วยกันเยียวยาจิตใจและพูดจาปลอบประโลมผู้สูญเสีย คนต่างศาสนิกก็ออกไปเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องทำใจ ทว่าความสูญเสียยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะเวลาล่วงเลยมาอีกไม่นาน สามีของเมาะโนซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของดวงสุดาก็มาจากไปอีกคน
          "ปู่ถูกฆ่าแบบทารุณ ฆ่าตัดคอแล้วเผาบ้าน ทุกคนในชุมชนรู้สึกสลด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากตั้งแต่ที่ทุกคนเคยอยู่กันมา เราไม่เคยมีเรื่องบาดหมาง จึงไม่คิดว่าจะมีเหตุรุนแรงขนาดนี้เกิดขึ้น ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก แต่ไม่ได้รู้สึกแย่กับคนในชุมชน มีบ้างที่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เกิดความหวาดระแวงต่อเพื่อนต่างศาสนาที่ไม่รู้จัก แต่ไม่ใช่คนที่อยู่ในชุมชนของเรา เพราะความสัมพันธ์ของเรานั้นเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาคือเพื่อน ลุง ป้า น้า อาที่เรารู้จักมาตลอดชีวิต ภูมิคุ้มกันตรงนั้นปิดกั้นไม่ให้เราคิดในด้านลบ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งและรู้สึกว่าถ้าเรามองด้านบวก มันจะทำให้จิตใจไม่หม่นหมอง ทุกคนคนในชุมชนก็รู้สึกร่วมกับเราเหมือนกัน" ดวงสุดา บอก
tianya1          ทว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว ย่าเคลื่อนจึงพาหลานๆ รวมทั้งดวงสุดา และเหลน ย้ายออกจากบ้านเฑียรยาไปอยู่ในเมืองปัตตานี
          "ความรู้สึกตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าคนในชุมชนจะทำเรา และไม่คิดด้วยว่าเขาจะทำกับเรา แต่ที่เราต้องอพยพออกมาก็เพื่อความสบายใจส่วนหนึ่ง และความปลอดภัยด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมันเกิดจากอะไร การอยู่ในเมืองเดินทางสะดวกกว่าและลดความเสี่ยงจากเหตุรุนแรง เนื่องจากส่วนใหญ่ในชุมชนจะไม่มีเหตุร้ายอะไร ส่วนใหญ่เกิดเหตุบนถนนสายหลักเข้าสู่เมือง รู้สึกว่าการสูญเสียเป็นเครื่องเตือนสติว่าเราต้องอยู่อย่างระมัดระวัง จะให้เกิดซ้ำซากอีกไม่ได้" ดวงสุดา ย้ำ
          เมื่อย่าเคลื่อนหอบลูกจูงหลานย้ายไป มีแยบอกว่านางรู้สึกเหงา คิดถึงเมาะโน ถ้าเป็นไปได้อยากให้เมาะโนกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม เวลาไปเยี่ยมบ้านเมาะโนที่เมืองปัตตานีก็จะชวนกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านตลอด 
          เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่ดวงสุดากลับไปในหมู่บ้าน ก็จะไปเยี่ยมมีแย ถ้าวันไหนมีแยมีธุระอะไรก็จะไปด้วยกัน  หรือหากย่าเคลื่อนเข้าไปทำธุระในชุมชน ก็จะแวะไปเยี่ยมมีแย ถามสารทุกข์สุกดิบ ซื้อของไปฝาก นอกจากนั้นดวงสุดายังร่วมกับชุมชนทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าสันทราย เวลามีงานแต่งงานของคนในหมู่บ้านเธอก็จะเข้าไปช่วย เพราะสายสัมพันธ์ยังมีอยู่
          สิ่งที่ทำให้ดวงสุดาเข้มแข็งคือการทำงาน ได้พบเจอผู้คนต่างศาสนิกและหลากหลายวัฒนธรรมมากขึ้น เธอบอกว่าวิถีเมืองผลักดันให้เธอต้องแกร่ง และนั่นก็เป็นการเยียวยาจิตใจของเธอไปในตัว ส่วนย่าเคลื่อนหาเลี้ยงตัวเองกับหลานและเหลนด้วยอาชีพนวด การทำงานทำให้นางมีเพื่อนคุยและคลายเครียดไปได้เหมือนกัน
          ปัจจุบันสถานการณ์ที่หมู่บ้านเฑียรยาเริ่มดีขึ้น บางครอบครัวที่เคยย้ายออกไปเริ่มทยอยกลับบ้าน ขณะที่ในหมู่บ้านเริ่มมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย มี ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ของฝ่ายปกครองและทหารร่วมกันเฝ้าเวรยาม ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้าไปในหมู่บ้านจะต้องโทรศัพท์บอกผู้ใหญ่บ้านทันที
          ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่นับวันยิ่งบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คน มีแต่ความรัก ความเข้าใจ และการเปิดใจให้อีกฝ่ายได้สัมผัสถึงความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันความแตกแยกแตกร้าวของชุมชนได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปัดเป่าความรุนแรงให้พ้นไปจากหมู่บ้านเพื่อสถาปนาสันติสุขอย่างยั่งยืน
          วันนี้...ดวงสุดากับย่าเคลื่อนกำลังถวิลหาที่จะกลับไปสู้อ้อมกอดของบ้านเกิดอีกครั้งอย่างมีความสุข
------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา  เลขา  เกลี้ยงเกลา  ศูนย์ข่าวอิศรา

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไฟใต้จักมอดดับได้ด้วยประชาชน




สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2547  โดยทวีความรุนแรง จากเหตุการณ์การบุกโจมตีที่ตั้งหน่วยกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้าปล้นอาวุธปืนสงครามไปจำนวนมาก พร้อมสังหารเจ้าหน้าที่อย่างโหดเหี้ยม 4 ศพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเกือบ 9 ปี  

ในช่วงแรกของสถานการณ์นั้นเป้าหมายในการลอบทำร้ายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยเฉพาะทหารและ ตำรวจ ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า  ต้องการตอบโต้รัฐไทยที่ไม่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นคนมลายูและที่สำคัญ คือ การแบ่งแยกดินแดนตอนใต้ของไทยใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่ออิสระในการปกครองตนเอง  พร้อมๆ กับการปลุกระดมสร้างความหวาดกลัว และหวาดระแวงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนไทยต่างศาสนามาเป็นเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้ใช้ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา  วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และขยายแนวร่วม จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่โดยการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องชาติพันธุ์การเป็นคนมลายูปัตตานี  และบีบบังคับให้คนต่างศาสนาออกนอกพื้นที่โดยวิธีการข่มขู่ต่างๆนานา เข่น ก่อเหตุรุนแรงใช้อาวุธสงครามฆ่าคนไทยพุทธอย่างโหดเหี้ยม และระเบิดในสถานที่ขุมชนสร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนไทยพุทธในพื้นที่จนต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่  โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด   จึงกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นและขยายขีดความรุนแรงขึ้นตามลำดับ 

ถึงวันนี้รูปแบบของสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงได้มีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในลักษณะการบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรมด้วยการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเขตชุมชนเมือง  การลอบสังหาร และลอบวางเพลิง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมจนถึงปัจจุบันมีจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมจิตวิทยา  ระบบเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และของประเทศโดยรวมอย่างมาก 

และแน่นอนว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยกำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายทั้งภายในและนอกประเทศว่าบทสรุปของความรุนแรงนี้จะจบลงได้หรือไม่  เมื่อไหร่และอย่างไร

          สำหรับคำถามนี้เชื่อว่าผู้ที่อยากรู้คำตอบมากที่สุดคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่ต้องทนอยู่กับการก่อเหตุรุนแรงสารพัดชนิด  เห็นภาพของความสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ซ้ำร้ายหลายคนต้องประสบพบเจอกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  ในขณะที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้เพราะที่นี่เป็นเสมือนบ้านที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ยาตายาย  การอพยพออกนอกพื้นที่จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่สมควรกระทำในขณะที่สามารถทำให้ปัญหาความรุนแรงนี้ลดน้อยลงหรือหมดไปได้ด้วยวิถีทางอื่น

          จากความยืดเยื้อยาวนานของปัญหาความรุนแรง  ความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน  การอยู่ร่วมกันแบบหวาดระแวงทำให้กระแสความเบื่อหน่ายและไม่สนับสนุนการก่อเหตุเริ่มปรากฏทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นแม้แต่พี่น้องมุสลิมที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างกับเขาเหล่านั้นว่าทำเพื่อปกป้องศาสนา  แต่สุดท้ายก็ยังไม่วายที่ต้องถูกเข่นฆ่าไปด้วยเมื่อไม่ให้ความร่วมมือ  เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สร้างผลกระทบด้านลบต่อพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นส่วนรวมในทุกด้าน

และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างออกมานำเสนอข่าวสารความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยการสะท้อนภาพที่แท้จริงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน  รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาหนทางช่วยกันทำให้เหตุการณ์ยุติลงโดยเร็วซึ่งดูจะเป็นเค้าลางที่ดีหากได้รับความร่วมมือในลักษณะนี้ต่อไปในฐานะสื่อที่เปี่ยมล้นด้วยจรรยาบรรณ 

          ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ที่รู้เห็นปัญหานี้มาโดยตลอดจึงอยากใช้เวทีนี้ขอบคุณไปยังท่านสื่อมวลชนเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
          เพราะการปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้จบลงได้  เพราะปัญหาที่เป็นรากเหง้าฝังลึกนั้นมิได้มีเพียงกลุ่มขบวนการเท่านั้น  หากยังมีตัวแปรส่งเสริมอื่นๆ อีกที่เป็นปัจจัยสนับสนุน

การยุติความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ยังดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดลงนี้ ได้ปรากฏ เสียงเรียกร้องต้องการความสงบสุขจากพี่น้องประชาชนมาโดยต่อเนื่อง  ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ด้วยการลุกขึ้นร่วมกันต่อต้านโดยไม่แบ่งแยก  ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ด้วยความสามัคคีร่วมกันสอดส่องดูแลและแสดงพลังของประชาชนออกมา  ภายใต้การใช้บทบาทนำของผู้นำท้องถิ่นเท่านั้นที่จะช่วยให้ฝันร้ายนี้จบสิ้นลง   เพราะวันนี้ในต่างประเทศยังเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปของภาคใต้ของไทย หลายฝ่ายทั้งองค์กรระดับชาติรวมถึงสื่อมวลชนในต่างประเทศยังพร้อมใจกันประณามการก่อเหตุด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ลองนึกดูว่าหากไฟกำลังไหม้บ้านเรา  แล้วพวกเราซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันไม่ช่วยกันตักน้ำมาดับไฟแล้วจะรอให้ใครมาช่วย  เราคงไม่อยากให้บ้านของเรามอดไหม้ไปกับตาทั้งๆ ที่ยังสามารถช่วยกันได้มิใช่หรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องร่วมมือกัน   ตอบได้เลยตอนนี้ว่าพลังของพวกเราประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะยุติไฟที่กำลังเผาไหม้บ้านของเราลงได้  คำถามต่อไปคือ  เราจะรออะไรอยู่ 

ซอเก๊าะ   นิรนาม

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้



กรุงเทพมหานคร – 12 ธันวาคม 2555วันนี้เจ้าหน้าที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ไทยในทันที หลังทารกหญิงวัย 11 เดือนเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตห้ารายจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ร้านขายน้ำชาแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

พิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ประนามการสังหารครั้งนี้ว่าเป็น การกระทำที่น่าเศร้าสลดใจ ไร้เหตุผล และไม่สามารถยอมรับได้ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการกระทำรุนแรงและทำให้แน่ใจว่าเด็กทุกคน ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งหลายเหล่านั้น

ทารกเพศหญิง อินฟานี สาเมาะ ถูกสังหารขณะกลุ่มชายใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงเข้าใส่ร้านน้ำชาในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อตอนสายของวันอังคารที่ผ่านมา เด็กกว่า 50 คนถูกสังหาร และกว่า 340 คนได้รับบาดเจ็บนับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ของประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงรวมทั้งหมดแล้วกว่า 5,000 คน

เมื่อปลายเดือนตุลาคมของปีนี้ เด็กชายวัย 11 ขวบคนหนึ่งถูกสังหารพร้อมพ่อในรถกระบะระหว่างถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มชายติด อาวุธที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา  

ทุกครั้งที่มีเด็กถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ ทุกครั้งที่เด็กสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง และทุกครั้งที่โรงเรียนและครูของพวกเขาถูกโจมตี เด็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้นราชภัณฑารีกล่าวการยุติความรุนแรงทั้งหมดเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าสิทธิของเด็ก ทุกคนที่อยู่ในภาคใต้ได้รับความคุ้มครองและเอาใจใส่อย่างสมบูรณ์เต็มที่


วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำร้ายครู เขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่


การเสียชีวิตของนางสาวฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านยาโงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส  นับเป็นเหตุคร่าชีวิตครูผู้หญิงรายที่ ในรอบ 12 วัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสังหาร นางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ    อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถยนต์ออกจากโรงเรียนเพื่อเดินทางกลับบ้าน จนทำให้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียนกว่า 300 แห่งใน จ.ปัตตานี อย่างไม่มีกำหนด เพื่อกดดันให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงปรับแผนรักษาความปลอดภัยครูให้รัดกุมกว่าที่เป็นอยู่  จนเมื่อมีการประชุมหารือกับฝ่ายความมั่นคงจนเป็นที่พอใจจึงได้ประกาศเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา  แต่แล้วผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นฝ่ายจ้องกระทำก็ก่อเหตุยิงครูซ้ำขึ้นอีกครั้ง  การก่อเหตุซ้ำซ้อนในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังตั้งตัวไม่ติดอีกครั้งนี้  แน่นอนว่าย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงบรรดาครูน้อยใหญ่ผู้ที่ยังมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนให้เด็กนักเรียนที่นี่ให้มีความรู้ต่อไป 

จากการก่อเหตุร้ายที่ไม่สามารถคาดเดาจิตใจที่ไร้มนุษยธรรมของผู้ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้ว่า พวกเขาคิดทำเรื่องเลวทรามนี้ได้อย่างไร  ได้สร้างความสลดใจให้กับผู้ที่ได้รับรู้ข่าวทั้งในและต่างประเทศ จนหลายฝ่ายต่างออกมาประณามการกระทำที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมนี้โดยถ้วนหน้า   เพราะไม่มีสนามรบใดเลยในโลกนี้ที่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐฯ จะกระทำต่อครูผู้ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวช 
นอกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กล้าเรียกตัวเองว่านักรบ   ที่สร้างความเดือนร้อนอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในเวลานี้....เท่านั้น 

และเช่นเคยเสมอมาที่ยังไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมใดออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครูที่เสียชีวิตไปเลย  แม้แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มักออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกระบวนการมุ่งสู่สันติภาพของฝ่ายความมั่นคงและ ศอ.บต. ในทุกกรณีก็ยังคงวางตัวนิ่งเฉย  ซึ่งกรณีนี้อยากฝากไว้ให้คิดว่าเหตุผลที่นิ่งเงียบคืออะไร

ด้านฝ่ายผู้นำศาสนา ท่านฮัญยีแวดือราแม  มะมิงจิ  ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานียังได้ออกมากล่าวถึงการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงเหล่านี้ว่าเป็นพวกที่บิดเบือนศาสนาและไม่ใช่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นอิสลาม โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิดนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์

เพราะความสำคัญของครูในทัศนะอิสลามจากท่านอะบีอุมาอะมะฮ์ ท่านนบีกล่าวว่า“แท้จริงอัลลอฮฺ บรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์และชาวฟ้าและแผ่นดิน  จนแม้กระทั่งมดในรูของมันและแม้กระทั่งปลา  ต่างก็ปราสาทพรแก่ครูผู้ที่สอนมนุษย์ทั้งหลายให้ประสบความดี”  และเพราะครูคือผู้ให้  ครูคือผู้เติมเต็ม  ครูคือผู้มีเมตตา  ดังนั้นอาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ  ท่านนบี (ซ.ล.) นั้นให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่ครู  แม้ว่าจะเป็นคนต่างศาสนานิกหรือศัตรู  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  ท่านได้ไถ่ตัวเชลยศึกในสงครามบะดัร  ซึ่งเป็นมุชริกีนชาวมักกะฮฺ  โดยให้เป็นครูสอนเด็กมุสลิมชาวนครมะดีนะฮฺจำนวนสิบคน  แบบอย่างของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นี้เป็นแบบอย่างที่งดงามที่มุสลิมทุกคนควรตระหนัก  หากมุสลิมได้ตระหนักแล้ว  กรณีการฆ่าครูหรือทำร้ายครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

แต่แม้ว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครูนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในปี 47 เป็นต้นมาจะทำให้ครูต้องสังเวยชีวิตไปเป็นรายที่ 155 แล้วก็ตาม  ยังไม่ปรากฏว่าครูในพื้นที่จะมีการขอย้ายออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามครูกับยังคงอดทนทำหน้าที่อย่างเสียสละ  ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุดมการณ์ที่แน่วแน่ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ  และส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ  ครูก็คือผู้ที่เกิดและเติบโตมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  พื้นที่ที่เหล่านักรบขี้ขลาดที่ทำร้ายได้แม้คนไม่มีทางสู้เรียกว่า  “แผ่นดินมลายู”  เพราะครูก็คือลูกหลานคนไทยเชื้อสายมลายูที่เกิดและโตในแผ่นดินนี้ที่ต่างกันเพียงความเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น

คำถามคือสิ่งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงทำกับครู ซึ่งก็คือลูกหลานมลายูนั้นมันถูกต้องและยุติธรรมแล้วหรือ  พี่น้องมลายูเห็นด้วยหรืออย่างไรว่า  การกระทำที่ชั่วช้าของผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งขัดต่อคำสอนอันดีงามของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนมาโดยตลอดขอเป็นกำลังใจให้ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านได้รักษาความเสียสละ  มุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติและเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และของแผ่นดินไทยไว้ให้ได้อย่างมั่นคง  ซึ่งนั้นคงเป็นความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองและความใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนในพื้นที่นี้ทุกคนด้วย

เพราะในส่วนของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว  จากการกระทำที่ขัดกับหลักศาสนาราวฟ้ากับเหวโดยไม่สนใจคุณธรรมความถูกต้องของเขาเหล่านั้น  ตามหลักศาสนาแล้วพี่น้องมุสลิมทุกคนทราบดีว่าพวกเขาคือผู้ที่ “ตกศาสนา” ไปแล้ว  และพวกเขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่

                                            ---------------------------------------------
 ซอเก๊าะ   นิรนาม   

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ถึงครู จชต. "คุณครูขา.... อย่าทิ้งหนู"


        
         ย้อนหลังกลับไป 8 ปี ตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลาบางส่วน การจากไปด้วยการถูกยิงของครูนันทนา  แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 คือรายที่ 154 ชีวิตของครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียไป เป็นเครื่องมือที่กลุ่มผู้ไม่หวังดี หรือที่เราเรียกทั่วไปว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง ใช้ได้ผลในระดับยุทธศาสตร์ ที่ใช้ต่อสู้กับรัฐ นับตั้งแต่การสูญเสียครูจูหลิน  ปงกันมูล ครูช่วยสอนบ้านกูจิงรือปะ เมื่อปี 2549 ทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัว และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลชีวิตครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเสียงเรียกร้องออกมามากมาย ทั้งฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรครู และนักการเมือง ซึ่งรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย ก็ต้องรีบเร่งสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าปฏิบัติทันที นั่นเองที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรู้จุดกระทบของฝ่ายรัฐว่า “ครูคือยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐ” และ “ครูคือเหยื่อที่ดีที่สุด” ด้วยเพราะสังคมไทยผูกพันกับครูอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อดีต ฉะนั้นเองเมื่อมีการสูญเสียครูไม่ว่าเหตุใด จะนำมาซึ่งความเสียใจกับคนไทยที่ใกล้ชิดครู ซึ่ง 3 จังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน

         การปรับเปลี่ยนกลยุทธ ตั้งแต่ฝ่ายทหารเข้าไปดูแลในโรงเรียน และครู โดยใช้โรงเรียนบางแห่งที่เป็นพื้นที่สีแดงเป็นฐานที่ตั้ง ก็ถูกฝ่ายสิทธิมนุษยชนมองว่าเกิดความเสี่ยงต่อครูและนักเรียน ในการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ฝ่ายทหารจึงจำเป็นต้องย้ายฐานออกห่างโรงเรียนโดยไม่มีองค์กรครู หรือครูคนไหนออกมาคัดค้านสักคนเดียว ทุกครั้งที่มีครูเสียชีวิตจำเลยคนแรกคือฝ่ายความมั่นคง และ ทหาร แม้จะเพิ่มหรือมีวิธีการใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ครู แต่ฝ่ายความมั่นคงรู้ว่านั่นคือการตั้งรับไม่ใช่การรุก ซึ่งผู้ตั้งรับย่อมมีวันเสียเปรียบไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทุกครั้งที่มีครูสูญเสีย สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือ “ปิดโรงเรียน” เป็นวิธีบั่นทอนอำนาจรัฐที่ใช้มาโดยตลอดของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งภาพข่าว และสถานการณ์ ภาครัฐทุกฝ่ายต่างมีความเห็นใจครู และตั้งใจจริงที่จะร่วมปกป้องครู แต่ทุกครั้งเมื่อครูถูกกระทำจากฝ่ายที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และศาสนา ครูจะสั่งปิดโรงเรียนทุกพื้นที่ทันที และการกระทำเช่นนี้ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือนักเรียน ลูกหลานของพวกเรา และยิ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ต่อเจ้าหน้าที่และโรงเรียนที่ปิด เสริมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุต้องการอยู่แล้วก็เท่ากับว่า เมื่อปิดโรงเรียนทุกครั้งที่ครูถูกกระทำ ก็เท่ากับว่า “ขุนหลุมไว้ฝังศพตัวเองหรือไม่”

         คงไม่มีฝ่ายไหนกล้าบอกให้ครูลุกขึ้นมาสู้กับโจร เพราะครูนั้นมีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี แต่ก็ยังมีครูใจเด็ดจังหวัดปัตตานีที่กล้าขับรถชนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มาลอบยิง โจรต้องหลบหนีทิ้งรถมอเตอร์ไซต์เมื่อ 9 พฤศจิกายน  2555 ที่ผ่านมา แต่ถ้าวันนี้เมื่อครูถูกคนร้ายกระทำแล้วปิดโรงเรียน ต้องถามว่านี่คือหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ แล้วสุดท้ายก็ต้องมาเปิดเรียนอีกใช่ไหม เพื่ออะไร 

      หากต้องการให้กำลังฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มส่วนตั้งรับในการดูแลครู แต่เมื่อองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรนักศึกษาบางองค์กรออกมาต่อต้านการเพิ่มเติมกำลังทหารในพื้นที่ การเพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่ ทำไมไม่เห็นครูสักคนเดียวมาคัดค้านหรือให้กำลังใจทหารแม้แต่คนเดียวหรือแม้แต่แสดงการสนับสนุนให้เพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่ก็ยังไม่เคยมีสักครั้งเดียว ทุกครั้งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายรุกไล่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้ เช่น วางระเบิด เผาโรงเรียน ตรวจยึดอุปกรณ์เตรียมก่อเหตุระเบิดได้ จับกุมผู้ก่อเหตุได้หลายราย  สิ่งที่ฝ่ายขบวนการจะแก้ยุทธศาสตร์จากการตั้งรับมาเป็นฝ่ายรุก นั่นก็คือ ยิงครูไทยพุทธ 1 คน ซึ่งก่อนจะยิงครู 1 คน ต้องยิงอุซตาส หรือ โต๊ะอิหม่าม ก่อน 1 คน เพื่อเป็นข้ออ้างในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมในการแก้แค้นให้ฟาฎอนี ด้วยการยิงครูไทยพุทธ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แล้วเมื่อครูหยุดโรงเรียน ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องกลับมาเป็นฝ่ายเพิ่มมาตรการทุกครั้ง นี่เองจึงเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้ได้ผลดีทุกครั้ง “เมื่อครูปิดโรงเรียน ครู จึงเป็นเหยื่อที่มุ่งหมายที่สุด ในสงครามนี้” 
        และไม่เคยเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชนประเทศไทย องค์กรนักศึกษาทุกระดับออกมาประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กระทำต่อครูแม้แต่สักครั้งเดียว แต่จะโจมตีว่าฝ่ายความมั่นคงมีกำลังทหารตั้งมาก แต่คุ้มครองครูไม่ได้ ใช่ไหม??

         สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีครูรายที่ 155 หรืออีกกี่รายต่อไป ผลที่ปิดโรงเรียน และส่งผลกระทบโดยตรงที่สุด คือ เด็กนักเรียน เยาวชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งด้อยในเรื่องการศึกษาที่สุดขณะนี้ในประเทศไทย เพราะไม่มีครูไทยพุทธคนไหนจะต้องการอยู่ในพื้นที่ แล้วจะหาความตั้งใจในการสอนมาจากไหน ความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียนจะเกิดได้อย่างไร ครูไทยพุทธจำนวนลดน้อยลง ครูที่เก่งไม่ต้องการมาสอนในพื้นที่ ล้วนเป็นเหตุเป็นผลที่องค์กรทางการศึกษา และครูทุกคนต้องลองไปตรึกตรองดู ล้วนเป็นสิ่งที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องการใช่หรือไม่ แล้วเราต้องยอมไปตามทางที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกำหนดเช่นนั้นหรือ ฉะนั้นจึงต้องขอวิงวอนครูโปรดอย่าหยุดโรงเรียน เด็กนักเรียน เยาวชน ลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างรอคอยคุณครู ผู้ที่นำทางสันติสุขให้กับพวกเขาทุกคน นักเรียนเปรียบเสมือนลูก หลานของครูที่เฝ้ารอคอย ศึกษาหาวิชาความรู้จากครู ผู้เปรียบประดุจแม่คนที่สองของเด็กนักเรียนทุกคน ความใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียนดั่งครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นครูคือความหวังของเด็กนักเรียนชาวใต้ทุกคนที่กำลังรอคอย และร่วมสู้ฝ่าฟันไปด้วยกัน

         ขอวิงวอนกรุณาอย่าปิดโรงเรียน ที่ใดมีโรงเรียน ที่นั้นย่อมมีนักเรียน และมีครู หากโรงเรียนปราศจากครู ก็ย่อมขาดชีวิต จิตวิญญาณของโรงเรียน ประดุจต้นไม้ที่ขาดแสงสว่างเพื่อเจริญเติบโต และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่มีครูอยู่กับโรงเรียน ย่อมแสดงถึงการสูญเสียจิตวิญญาณที่จะหล่อเลี้ยง กำลังสำคัญในการสร้างสันติสุขในอนาคต และความว่างเปล่าของโรงเรียนที่ไร้ครู จะเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างโอกาสในการก่อเหตุ ปลุกระดม ทำลาย เผาผลาญ ทั้งตัวโรงเรียน และจิตวิญญาณความรู้สึกของโรงเรียนให้สูญหายไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครูทุกคนยอมได้หรือ พวกเราทุกคนคงยอมไม่ได้ที่จะให้โรงเรียนไร้ซึ่งบุคลากรครู โรงเรียนถูกทำลาย เผาผลาญไปสิ้น หากวันนี้โรงเรียนปิด นักเรียนจะไปพึ่งพาใคร สุดท้ายโรงเรียนก็ต้องกลับมาเปิดเพื่อลูกหลานของเราทุกคน แต่หากเกิดกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้กระทำการอันชั่วร้ายต่อครูอีก โรงเรียนก็ต้องปิดอีกอย่างนั้นหรือ นั่นเองเท่ากับทุกคนเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ครูเป็นเครื่องมือ เพื่อให้โรงเรียนหยุดตามที่ฝ่ายขบวนการต้องการคือ “ก่อเหตุต่อครูแล้วจะมีการปิดโรงเรียน” 

        วันนี้ทุกคนต้องไม่ยอมให้โรงเรียนปิด ขอส่งพลังใจให้ครูทุกคนต้องมาร่วมกันฝ่าฟันสถานการณ์ร่วมกันเพื่อลูกหลาน เพื่อจิตวิญญาณของแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ ที่ช่วยพายเรือส่งเด็กเยาวชนชายแดนใต้ไปให้ถึงฝั่ง เราต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือตามที่ฝ่ายผู้ไม่หวังดีต้องการ หากเมื่อไหร่ที่ครูถูกทำร้าย แล้วโรงเรียนต้องปิดการศึกษา นั่นเองที่เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือกระทำต่อครูผู้บริสุทธิ์อีกไม่มีวันจบสิ้น เท่ากับว่าเข้าทางกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพราะเขารู้ว่าถ้ายิงครูเมื่อไหร่ โรงเรียนปิดเมื่อนั้น รัฐเองก็ถูกครูร้องเรียน รัฐก็เอากำลังมาป้องกันครู พวกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็เคลื่อนไหววางระเบิดได้สบาย และเหตุนี้ใช่ไหมที่ครูถึงเป็นเหยื่อของสงครามแย่งชิงมวลชน และเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว “ครูกรุณาอย่าทอดทิ้งนักเรียน”
                                         ----------------------------------------
        
บุหงา  ตานี

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กลุ่มก่อการร้ายใน จชต.บิดเบือนหลักการญิฮาดในอิสลาม




      เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน จชต.เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายเชื้อสายมลายูที่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนปัตตานีเป็นเอกราชจากสยาม โดยถือว่าดินแดนแห่งนี้เป็น ดินแดนปัตตานีดารุสซาราม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบอิสลามนั้นเอง ดังนั้น จึงเห็นความพยายามการนำหลักความเชื่อของศาสนามากล่าวอ้างว่าเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการต่อสู้กับสยาม โดยทำให้ชาวโลกเห็นว่าชาวมาลายู ปาตานี ถูกสยามกดขี่ จึงจำเป็นต้องต่อสู้กับผู้กดขี่ ซึ่งหากดูอย่างผิวเผินจะเห็นว่า กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ได้กระทำตามหลักศาสนาอิสลาม ตามหลักการญิฮาด ที่ให้สิทธิอันชอบธรรมแก่ผู้เป็นมุสลิมในการตอบโต้ผู้รุกรานจากสยามได้

        หากแต่เมื่อพิจาณาอย่างถี่ถ้วน เราจะเห็นว่าการก่อเหตุร้ายใน จชต ผิดหลักการของญิฮาดของศาสนาอิสลามมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่เริ่มแรกนั้น หลักของการญิฮาด ต้องมีผู้นำประกาศเสียก่อน ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราไม่เห็นผู้นำคนใดประกาศการจีฮาดแต่อย่างใด ต่อมาการญิฮาดต้องเกิดจากการละเมิดศาสนา ซึ่งเราจะเห็นว่าทางการสยามไม่ได้ละเมิดในศาสนาอิสลาม ทุกวันนี้ชาวมุสลิมสามารถ ดำรงชีวิตตามความเชื่อของอิสลามได้อย่างเสรี มีมัสยิด คลุมญิฮาบ และมีกิจกรรมทางศาสนาอย่างมากมายที่เราจะสามารถเห็นได้ ในทุกแห่งทุกหนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 

        ขณะที่การญิฮาดนั้น ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้ทางกำลังเพียงอย่างเดียว แต่อย่างแรกหมายถึงการต่อสู้กับกิเลส จิตใจของตนเอง เสียก่อน จึงจะต่อสู้ทางกำลังกับศัตรู แต่ดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่มีแนวคิดรุนแรง สุดโต่ง มักจะอ้างว่าถูกกดขี่จากสยามเพียงประการเดียว เพื่อความชอบธรรมในการใช้อาวุธเพื่อทำลายล้างชีวิต และทรัพย์สิน อย่างไม่อาจประเมินความเสียหายได้ ขณะที่หลักการญิฮาดอีกข้อกล่าวห้าม ไม่ให้กระทำต่อ คนชรา เด็กตัวเล็ก ผู้หญิง คนเป็นเจ้าของกุฎิอาศรม แต่จากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งพิสูจน์ว่ากลุ่มก่อการร้ายเชื้อสายมลายูกระทำสวนทางกับหลักการ ญิฮาดโดยสิ้นเชิง

ที่มา   มุดิน        อ้างอิงแหล่งที่มาของการญิฮาด http://www.youtube.com/watch?v=_RPgA6SwE0A&feature=related

------------------------------

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หุ่นยนต์สังหาร (คนเหล็ก 2029) คืนชีพ กับ แนวร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้


             
         เห็นข้อความบางตอนของการบรรยายปลุกระดมโดยกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่ถอดบันทึกจากคลิปมือถือ อดไม่ได้ที่จะนึกถึงการหลอมตัวฟื้นคืนชีพของหุ่นยนต์สังหารที่มีหน้าที่ไล่ล่า จอน คอนเนอร์ เด็กชายอายุ 9 ขวบใน ภาพยนตร์เรื่องคนเหล็ก 2029 หลังจากถูกหุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า

          เช่นเดียวกับการปลุกระดมของ ขบวนการโดยอาศัยการบิดเบือนเรื่องต่างๆ ที่มีผู้นำข้อเท็จจริงมาหักล้างจนหมดสิ้นแล้ว แต่ก็ยังอุตสาห์ที่จะนำมา ใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุดผู้บรรยายใช้การสื่อสารออนไลน์สมัยใหม่เป็นคลิปใส่ในโทรศัพมือถือส่งต่อ ๆ กัน ดังที่พบจากผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื้อหาการบรรยายยังคงใช้ประเด็นเก่า ๆ เช่นด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา และรัฐปัตตานีในอดีต และนำความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่สร้างภาพเป็นเจตนาร้ายต่อคนมลายูและศาสนาอิสลามเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขการญีฮาดอันเป็นความจำเป็นและบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน (ฟัรดูอีน) ซึ่งครั้งนี้ผู้บรรยายได้เน้นความเป็นฟัรดูอีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การนำการญีฮาดมาเชื่อมโยงกับฟัรดูอีน เป็นการนำหลักตรรกมาอธิบายว่า เมื่อคนมลายูถูกรังแก ศาสนาอิสลามถูกทำลาย แผ่นดินถูกยึดครอง การญีฮาดก็เป็นฟัรดูอีนของคนมุสลิมทั้งหลาย แต่ในเมื่อเงื่อนไข ทั้งสามประการดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฟัรดูอีนในการญีฮาดก็ไม่เกิดขึ้น จึงเป็นตรรกที่นำมาซึ่งบทสรุปว่า การญีฮาดที่ผู้บรรยายพยายามเชิญชวนนั้นไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง

หากเปรียบเทียบการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์ทั้งสองตัวที่ใช้อาวุธประหัตประหารโดยมุ่งไปที่ชีวิตเด็กชายจอนฯ เพียงคนเดียว ซึ่งเปรียบได้กับการต่อสู้เพื่อแย่งมวลชนในสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงที่อาศัยข้อเท็จจริง ด้านประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นอาวุธเพื่อทำลายสติปัญญาเยาวชนจำนวนมาก

การปลุกระดมด้วยการบรรยายในคลิปดังกล่าวนี้ ผู้บรรยายอาศัยจิตวิทยาขั้นสูงด้วยการหว่านล้อมให้คล้อยตาม ร้องขอเชิงบังคับแถมข่มขู่ให้หวาดกลัว เรียกได้ว่าทั้งวิชามารและวาทศิลป์อย่างครบเครื่อง แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตสองประการจากเนื้อหาการบรรยายครั้งนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้บรรยายได้ยอมรับเรื่องประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกลถึงยุคลังกาสุกะว่าดินแดนแห่งนี้ในอดีตไม่ใช่ดินแดนอิสลามอย่างที่เคยกล่าวอ้าง แต่ผู้บรรยายยังคงหาเหตุผลโยงใยถึงความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นหลังอิสลามถูกเผยแผ่ในสมัยพระยาอินทิรา ซึ่งเข้ารับอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ จนกระทั่ง ถูกสยามยึดครองในเวลาต่อมา

ประการที่สอง ผู้บรรยายยอมรับว่าการฆ่านั้นคนผิดหลักศาสนาดังบทบัญญัติที่ว่าถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกซึ่งการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้เป็นผลสืบเนื่อง จากการนำข้อเท็จจริง ทั้งทางด้านศาสนาและประวัติศาสตร์มาหักล้างจนประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจยิ่ง และที่สำคัญที่สุดการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าในห้วงที่ผ่านมานั้น ทั้งการบรรยายในเรื่องศาสนาและเรื่องประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ผู้บรรยายมีเจตนาที่จะบิดเบือนและหลอกลวงให้คนหลงผิดอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้จะจำนนด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวแล้วก็ตาม แต่ผู้บรรยายยังไม่ยอมยุติอย่างง่าย ๆ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์สังหารที่มุ่งมั่นไล่ล่าเด็กน้อยอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการสรรหาสำนวนโวหารมาเสริมเพื่อให้ได้ความหมายว่า แม้ว่าการฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนฆ่าคนทั้งโลกก็ตาม แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใดเหมือนจะบอกว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่เขาสามารถเลือกฆ่าได้อย่างชอบธรรมและไม่ผิดศาสนา เท่านั้นยังไม่พอ ยังฝืนหลักศาสนาเรื่องการปฏิบัติต่อศพ ซึ่งตามหลักศาสนาไม่ว่าจะเป็นศพของผู้ใดก็ตามต้องปฏิบัติอย่างให้เกียรติเสมอกัน แต่พวกเขาได้กระทำการอย่างโหดเหี้ยม เชือด เผา ผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง และหากจะเปรียบเทียบบัญญัตในการสงครามญีฮาด ซึ่งศาสดาได้เคยประกาศใช้ในอดีต กลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะในสมัยศาสดานั้นเมื่อมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสงคราม ศาสดาได้ประกาศเป็นกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนว่า ห้ามทำร้ายคนชรา เด็ก และสตรี รวมทั้งห้ามทำลายต้นไม้ แม่น้ำลำธาร รวมทั้งสิ่งสาธารณ ประโยชน์ทั้งหลาย

มีผู้กล่าวไว้ว่าแท้จริงคำว่าญีฮาดเป็นคำที่สูงส่งในอิสลาม  น่าเสียดายวันนี้ คำ ๆ นี้ได้ถูกคนบางคนได้สร้างภาพแห่งความน่ากลัว สยดสยอง มาละเลงสี ให้กับความบริสุทธ์ของญีฮาดสูญเสียความงดงามไปอย่างไม่น่าให้อภัย พฤติกรรมของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติในทางตรงข้ามกับบัญญัติทั้งหลาย รวมทั้งการบรรยายที่บิดเบือนบทบัญญัติต่าง ๆ อย่างเช่น การนำประโยคคำว่า ถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกแล้วนำมาต่อด้วยประโยคที่ว่า แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใด เท่ากับเป็นการปฏิเสธบทบัญญัติดังกล่าวอย่างชัดเจน การปฏิเสธบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งในกุรอ่าน ก็มีค่าเท่ากับการปฏิเสธกุรอ่านทั้งเล่ม และการปฏิเสธกุรอ่าน เท่ากับการปฏิเสธหลักการอิสลามอย่างไม่มีเงื่อนไข ในทางศาสนาเรียกบุคคลดังกล่าวว่า ตกศาสนาซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างวิงวอนขอพรจากพระเจ้าให้ห่างไกลจากสิ่งนี้ 

ก่อนถึงวาระสุดท้ายหากหุ่นสังหารไม่ยอมวางอาวุธ เฉกเช่นเดียวกันผู้บรรยายคนเดิมไม่ยอมยุติการกระทำดังกล่าวและเดินออกมาเพื่อขออภัยโทษต่อพระเจ้า ในวันอาคีเราะห์หลังการพิพากษา จุดจบคงไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์สังหารในภาพยนตร์คนเหล็ก 2029 ที่ร้องโหยหวนก่อนร่างจะแหลกสลายในกองไฟอันแดงเดือดจากเตาหลอมรุ่นพิเศษ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับเขาโดยเฉพาะ  

เด็กหญิงปากีสถานถูกยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน


     
     บทสารคดีนี้ได้คัดสำเนามาจากวารสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ ๗๗๒ ประจำวันศุกร์ที่๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งมีเนื้อหาสาระกล่าวถึง บทบาทของเยาวชนชาวปากีสถาน ผู้หนึ่ง ชื่อ เด็กหญิงมาลาลา ยูซาพไซ อายุ ๑๔ ปี เป็นชาวเมืองมิงโกรา อำเภอสวัต จังหวัดไคเบอร์พัคทุงหวา ประเทศปากีสถานโดยเป็นเยาวชนที่รักใฝ่หาความรู้ ชื่นชอบในเรื่องการศึกษาและมีอุดมการณ์ในการพัฒนาบทบาทของสิทธิสตรีมุสลิม ถึงแม้จะเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง ๑๔ ปี แต่ได้รับการยกย่องมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากการได้รับรางวัล”สันติภาพแห่งชาติ” ของรัฐบาลปากีสถาน และ “รางวัลสันติภาพเด็กนานาชาติ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกจากอาร์คบิชอบ เดสมอนด์ ตูตู แห่งประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่แล้วเพราะความใฝ่หาความรู้ เป็นผู้ใฝ่สันติภาพ และมีอุดมการณ์ในการส่งเสริมสิทธิของสตรีได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจ แก่กลุ่ม “นักรบตอลีบัน” จึงถูกทำร้ายร่างกายด้วยการจ่อยิงบนรถรับ-ส่งนักเรียนเมื่อ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ผลการจ่อยิง เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศรีษะและคอ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้นำเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ ส่งโรงพยาบาล ช่วยชีวิตเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ มีอาการดีขึ้น และอยู่ในการดูแลของรัฐบาลปากีสถาน และรัฐบาลอังกฤษ ที่โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ


         ข้าพเจ้าได้นำเรื่องมาเผยแพร่ด้วยมีเหตุผลสำคัญคือ ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในทุกภาคส่วนได้ใช้ดุลยพินิจต่อการที่ จะยินยอมให้สังคมมุสลิมของเรามีแนวความคิดของความเป็น “สุดขั้ว” ปิดกั้นการพัฒนาทั้งวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิทธิเสรีภาพภายในกรอบของศาสนารวมทั้งสถานะที่ควรจะเป็นดังบทสารคดีที่นำเสนอต่อไปนี้

มาลาลา  ยูซาฟไซ
เด็กหญิงปากีฯถูยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน
         ในขณะที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้”เด็กนักเรียนไทย”ทั้งหญิงชายได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่เท่าเทียมกัน และมีอิสระในการเลือกเรียนตามความต้องการกลับมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ละเลย ไม่สนใจเรียน วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่มั่วสุมอยู่ในสถานเริงรมย์ ติดยา ติดเกม ติดการพนัน 
แต่ในทางตรงกันข้ามได้มี “เด็กหญิง”ผู้รักเรียนคนหนึ่ง
ในประเทศ”ปากีสถาน”พยายามต่อสู้เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธ “ตอลีบัน” ยกเลิกกฎข้อบังคับ “ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ” เพื่อตัวเองและเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือเช่นเด็กผู้ชายดังเดิม และเด็กหญิงชาวปากีฯผู้กล้าหาญที่พูดถึงคนนี้คือเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ

         เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ กลุ่มตอลีบันได้จ่อและกราดยิง ด.ญ.มาลาลา อายุ ๑๔ ปี ขณะเดินทางกลับบ้าน เมื่อสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวนี้ไปทั่วโลก ก็ได้สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่สาธารณชนทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายได้โบกให้รถนักเรียนหยุดแล้วขึ้นไปถามเด็กนักเรียนที่โดยสารมาในรถว่า “คนไหนคือ...มาลาลา ?” เมื่อผู้ก่อการร้ายรู้ว่ามาลาลานั่งอยู่ตรงไหนจึงจ่อยิงตรงที่ “ศรีษะ” และ “คอ” ของเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายอย่างโหดเหี้ยมทันที นอกจากจะเป็นเป้าหมายหลักแล้วเพื่อนอีก ๒ คนของเธอก็ได้รับบาดเจ็บด้วย

           หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้นำร่างของมาลาลาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่โรงพยาบาล ทหารในเมืองเปชวาร์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดด่วน ซึ่งแพทย์บอกกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า “โชคดีที่วิถีกระสุนไม่ได้ผ่านสมอง” “สมองของเธอปลอดภัย” แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เมื่อประธานาธิบดี อาซีฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานทราบข่าว ก็ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้มาก ขณะนั้นท่านได้เตรียมการไว้ว่าหากเธออยู่ในขั้นโคม่า ต้องได้รับการผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อน ท่านก็จำเป็นต้องส่งตัวเธอไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ และจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชีวิตเธอให้ได้ หลังเกิดเหตุ โฆษกของกลุ่มตอลีบันได้ออกมายอมรับในเรื่องที่เกิดขึ้นทันที แถมขู่สำทับด้วยว่า...จะโจมตีเธออีก หากเธอรอดชีวิต

            กลุ่มตอลีบันโกรธแค้นมาลาลามากที่ไปสนับสนุนประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา มีความนิยมชมชอบในตัวประธานาธิบดีบารัก โอบามา ส่งเสริมวัฒนธรรมทางตะวันตกในบริเวณพื้นที่ พัชทุน (Pashtun areas) และยังชอบพูดต่อต้านกลุ่มตอลีบัน เด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองมิงโกรา (Mingora) ในเขตอำเภอสวัต (Sawat District) จังหวัดไคเบอร์ พัคทูงหวา (Khyber Paktoonkhwa) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนในหุบเขาสวัต (Sawat Valley) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน พ่อของเธอ ไซอุดดิน ยูซาฟไซ เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษามาตลอดจนเคยถูกกลุ่มตอลีบันขู่ฆ่ามาแล้ว พ่อกับแม่ต่างสนับสนุนให้ลูกสาวเขียนบล็อกรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย มาลาลาในวัยเพียง ๑๑ ขวบ เริ่มพูดอังกฤษได้บ้างแล้วได้ใช้วิธี “รณรงค์เพื่อสิทธิสตรี” ด้วยการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเธอได้เขียน “บันทึกประจำวัน” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภายใต้การถูกกดขี่ของกลุ่มตอลีบันทางตะวันตกเฉียงเหนือที่มักเผาและสั่งปิดโรงเรียนในแถบนั้นทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ของบรรษัทการกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (บีบีซี)ภาคภาษาอูรดู โดยใช้นามแฝงว่า “กัลป์ มาไค (GUL MAKAI)” ด้วย ในช่วงเดือนมกราคม ปี๕๒ เด็กหญิงนักต่อสู้ผู้นี้ได้ส่งข้อความในไดอารีไปยังสื่อติดต่อกันหลายครั้ง เช่น บันทึกไดอารี่ของ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ และวันที่ ๑๕ ม.๕.๕๒ ปรากฏรายละเอียดของข้อความดังนี้


ฉันกลัว
(๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
           เมื่อคืนที่แล้วหนูหลับไปและฝันด้วยความหวาดกลัวเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ของทหารและนักรบตอลีบัน หนูเคยฝันเช่นนี้ตั้งแต่มีการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่หุบเขาสวัต หนูกลัวเรื่องการเดินทางไปโรงเรียน เพราะพวกตอลีบันเคยประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียน ปัจจุบันที่โรงเรียนของหนูมีนักเรียนหญิง ๑๑ คน (จากทั้งหมด ๒๗ คน) ที่เข้าเรียนอยู่ และจำนวนนักเรียนก็ลดลงเรื่อย ๆ จากประกาศ (คำสั่ง) ห้ามดังกล่าวของตอลีบัน
           เมื่อหนูเดินทางกลับบ้าน หนูได้ยินชายคนหนึ่งพูดว่า “ฉันจะฆ่าแก” ทำให้หนูต้องวิ่งหนีโดยเร็วด้วยความกลัว และได้ยินทหารพูดทางโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างความตระหนกตกใจแก่นักเรียนคนอื่นอย่างมาก
           ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๒ทหารตอลีบันเข้าควบคุมหมู่บ้านในหุบเขาสวัตได้ทั้งหมดและเข้มงวดกวดขันในเรื่องการแปลหรืออธิบายกฎหมายอิสลาม (SHARIA LAW) ตลอดจนห้ามผู้หญิงไปตลาดหรือซื้อสิ่งของในตลาดด้วย                                
                                                                                                
อย่าแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด
(๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูเตรียมตัวจะไปโรงเรียน และกำลังแต่ตัวด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่หนูจำได้ว่าอาจารย์ได้บอกนักเรียนว่าอย่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่ให้แต่งเสื้อผ้าธรรมดาแทน ดังนั้นหนูจึงตัดสินใจแต่งชุดสีชมพูที่หนูชอบไปแทน นักเรียนคนอื่นๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสี แต่พอไปถึงโรงเรียน คุณครูก็สั่งพวกเราไม่ให้ใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด เพราะจะเป็นเป้าให้พวกตอลีบันโจมตีได้

ฉันอาจไม่ได้ไปโรงเรียนอีก
(๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูอารมณ์ไม่ดีเลยขณะเดินทางไปโรงเรียน เพราะวันหยุดเรียนในฤดูหนาวจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ อาจารย์ใหญ่ประกาศให้หยุดเรียน แต่ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเรียนอีกเมื่อใด
          เด็กนักเรียนส่วนมากไม่ได้ตื่นเต้นที่จะได้หยุดเรียน เพราะรู้ดีว่าถ้าพวกตอลีบันมีประกาศห้ามไม่ให้นักเรียนหญิงเรียนหนังสือ พวกเราก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้อีก หนูมีความเห็นว่าโรงเรียนควรเปิดเรียนได้ใหม่ภายในวันเดียว แต่ขณะที่หนูเดินออกจากโรงเรียน (กลับบ้าน) หนูหันมองไปที่อาคารเรียนแล้วเหมือนมีลางสังหรณ์คล้ายกับว่าหนูจะไม่มีโอกาสกลับมาเรียนที่นี่อีก

            มาลาลาได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีให้ได้รับการศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่งนิตยสารไทมส์ (TIMES) ได้นำเรื่องราวของเธอและครอบครัวไปพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ บรรยายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ บุคลิกของเธอ (ใบหน้ามนนัยน์ตาสีเหลืองอ่อน ชอบสะพายกระเป๋าหนังสือที่มีรูปแฮรี่ พอตเตอร์ติดอยู่) จึงทำให้เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

          เรื่องที่ทำให้มาลาลามีชื่อเสียงก้องโลกคือ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อาร์คบิชอป เดสมอนต์ ตูตู แห่งแอฟริกาใต้และมูลนิธิสิทธิเด็กได้เสนอชื่อเธอเข้ารับรางวัล “สันติภาพเด็กนานาชาติ” และก่อนนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓  รัฐบาลปากีสถานได้มอบรางวัล “สันติภาพแห่งชาติ” ให้แก่มาลาลา แล้วได้นำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อรางวัล รางวัลสันติภาพแห่งชาติมาลาลา (THE  NATIONAL  MALALA  PEACE  PRIZE) เพื่อมอบให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีด้วย

            สิ่งที่มาลาลาทำและได้ผลตอบรับทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้กลุ่มตอลีบันไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งจึงหาทางกำจัดเธอ และในที่สุดก็ได้ก่อความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น หลังเกิดเหตุการณ์ ประธานนาธิบดีปากีสถาน องค์กรสิทธิมนุษย์ชน และผู้นำต่างประเทศต่างๆ ได่ร่วมกันประณามกลุ่มติดอาวุธตอลีบันว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม และทางรัฐบาลปากีสถานประกาศให้รางวัล ๑๐๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๓.๒๕ ล้านบาท) แก่ผู้ที่สามารถจับกุมมือปืนที่ยิงมาลาลา ยูซาฟไซได้ และต่างภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพรให้เธอปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้.

“สิ่งที่หนูเบื่อที่สุดคือ.....การที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน”
          นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของมาลาลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า เด็กหญิงคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลกจริงๆ เพราะเธอสนใจการเรียนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ นอกจานี้เธอยังเคยบอกด้วยว่าจะต่อสู้เพื่อการศึกษาและการทำงานให้แก่เด็กหญิงชาวปากีฯ ไปเรื่อยๆ รวมถึงเธอยังฝันอยากเป็น “นักการเมือง”อีกด้วย  โชคดีที่ขณะนี้อาการของมาลาลาดีวันดีคืนขึ้นแล้ว เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกคงได้เห็นเด็กหญิงผู้กล้าหาญคนนี้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การศึกษา” ของเด็กผู้หญิงปากีสถานอีกครั้ง

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรา 21 กฏหมายทางเลือกสู่เส้นทางสันติ




       การกล่าวเปิดเผยถึงการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ สองผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งมีหมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และคดีพยายามฆ่าผู้อื่นตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งทั้งสองยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ด้วยความสมัครใจซึ่งต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการตามมาตรา 21 ทั้ง 4 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการรับรายงานตัว คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดี และคณะกรรมการกลั่นกรองชุดสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองมาแถลงต่อศาลว่า ให้อภัยต่อผู้ต้องหาทั้งสองและต้องการให้กลับมาเป็นคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข และหากศาลพิจารณาแล้วไม่ขัดกับเงื่อนไขในการนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดำเนินการทางคดีตามปกติที่ต้องใช้เวลาพิจารณาในชั้นศาลนานหลายปีและท้ายที่สุดอาจถูกพิพากษาให้จำคุก 

         บทบัญญัติมาตรา 21 นับเป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งช่วยปูแนวทางเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาและผู้ได้รับผลกระทบ และต้องเกิดจากความยินยอมของผู้ต้องหาที่จะเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกคุมขัง ไม่มีบุคคลใดมีอำนาจบังคับใช้ได้โดยเด็ดขาด มาตรา 21 จึงเป็นกฏหมายที่มุ่งสู่ความสมานฉันท์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายสานใจสู่สันติของพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการให้ผู้เห็นต่างจากรัฐทุกคนกลับสู่สังคม อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหลบหนีคดีอีกต่อไป 

         นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ที่ค่ายพระปกเกล้า กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนครบกำหนด 6 เดือนตามคำสั่งศาลในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทั้งสองเล่าให้ฟังว่าระหว่างเข้ารับการอบรม ได้รับการดูแลเอาใจจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีแบบไม่คาดคิดมาก่อน เพราะตัวของพวกเขาเองก่อนเข้ารับการอบรม เขามีความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่รวมทั้งชาวไทยพุทธทุกคน แต่เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมาตนเข้าใจผิด เพราะระหว่างการอบรมมีโอกาสได้ศึกษาหลักศาสนาที่ถูกต้องจากผู้นำศาสนาที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งแตกต่างจากที่เขาได้รับการปลูกฝังโดยการบิดเบือนคำสอนของศาสนาจากขบวนการอย่างสิ้นเชิง      

  นอกเหนือจากความรู้ด้านศาสนาที่ถูกต้องแล้วการช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมแทนการจำขังตามมาตรา 21 สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขหลังการอบรมและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพด้วยการฝึกฝนอาชีพโดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งได้ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพด้านช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากได้รับวุฒิบัตรในการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้มอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้อีกด้วย 

      โดยผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนยังได้กล่าวก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาว่าตนเองคิดถูกที่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 เพราะหากต่อสู้คดีตามกฏหมาย ป.วิอาญาคงต้องใช้เวลานานและสุดท้ายก็ต้องติดคุกเพราะได้กระทำความผิดไว้จริง และรู้สึกดีใจที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังการอบรมเพียง 6 เดือน 

        กรณีการใช้กฏหมายทางเลือกมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ คงเป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม ในการใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความมุ่งหวังสุดท้ายคือการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา การออกมารายงานตัวของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ต้องหาที่หมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของมาตรา 21 คือการให้ผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนในวันนี้ จึงน่าจะเป็นการจุดประกายให้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้พิจารณาว่า การต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือต้องหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยทิ้งพ่อแม่ลูกเมียไว้ข้างหลังกับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ กับการเลือกที่เข้ารายงานตัวกับฝ่ายความมั่นคงแล้วใช้การเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แล้วกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่า ทางเลือกใดจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด